ADS


Breaking News

การดูแลสัตว์เลี้ยงในช่วงฤดูฝน

นายสัตวแพทย์ อลงกรณ์ มหรรณพ
กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
     ในฤดูฝนเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิค่อนข้างที่จะอยู่ในช่วงที่กว้างมาก เช่น บางวันอุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของประเทศไทย โดยเฉพาะป่าไม้ถูกทำลายไปมากและมนุษย์ก็สร้างมลภาวะหรือมลพิษเพิ่มสูงมาก จนเกิดภาวะเรือนกระจก ดังนั้น บางวันร้อนอยู่ดีๆ ไม่กี่ชั่วโมงฝนก็เทลงมา ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอากาศ  ปริมาณของฝนที่ตกลงมาดังกล่าว อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นกับสัตว์เลี้ยงที่เราเลี้ยงอยู่ตามบ้านเรือนได้ดังต่อไปนี้
     - สัตว์มีพิษ หรือสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ ที่อาจก่ออันตรายให้แก่สัตว์เลี้ยง เช่น งูเห่า งูเขียวหางไหม้ งูเหลือม งูหลาม ตะขาบ แมงป่อง คางคก สัตว์เหล่านี้จะหนีน้ำขึ้นไปบนที่สูง หรือบริเวณที่แห้ง สัตว์เลี้ยงของเราอาจเดินไปเหยียบ หรือไปกัดโดยไม่รู้ว่ามีอันตราย ผลที่ตามมาก็คือ สุนัขหรือแมวอาจเสียชีวิตได้ ตัวอย่างเช่น สุนัขถูกงูเขียวหางไหม้กัดบริเวณปาก สุนัขจะส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวด บาดแผลที่ถูกกัดจะบวมและมีเลือดไหลซึมออกมา เจ้าของควรตรวจดูว่าเป็นงูชนิดใด ถ้าไปตีมันตายก็ควรเก็บซากไปให้สัตวแพทย์ดูด้วย จากนั้นรีบนำสุนัขที่ถูกงูกัดไปโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกรักษาสัตว์เพื่อที่จะให้สัตวแพทย์ช่วยเหลือและเจ้าของควรแจ้งประวัติของสุนัขโดยละเอียด ต้องคิดไว้ในใจก่อนเลยว่าส่งถึงมือหมอเร็วเท่าไรโอกาสรอดชีวิตของสุนัขก็มีมากขึ้นเท่านั้น ในกรณีของสัตว์ที่ไม่มีพิษ เช่น งูเหลือม พวกนี้ก็จะหนีขึ้นมาอยู่บนบ้านมาเจอแมว ซึ่งโดยธรรมชาติก็เป็นเหยื่อของงูเหลือม งูก็จะฉกกัดแมว แล้วใช้ลำตัวรัดแมวจนขาดอากาศหายใจ จากนั้นก็จะค่อยๆ กลืนกินแมวจนหมด กรณีอย่างนี้ต้องใช้วิธีป้องกันคือไม่ให้งูเหลือมหรือสัตว์ไม่พึงประสงค์เลื้อยเข้ามาในบ้าน เช่น บริเวณโดยรอบบ้านต้องตัดหญ้า ตัดต้นไม้ให้เตียนโล่ง อุดช่องรูต่างๆ ที่อาจจะเป็นทางเข้าของสัตว์เลื้อยคลาน อาจใช้ผ้าชุบน้ำมันก๊าดผสมน้ำวางไว้ตรงขอบ ประตู หรือบริเวณที่สงสัยว่างูอาจจะเลื้อยเข้ามา การซักผ้าด้วยมือ เมื่อซักผ้าน้ำแรกเสร็จแล้วจะเหลือฟองของผงซักฟอกให้เทลงไปบริเวณรอบๆ บ้าน สัตว์มีพิษขนาดเล็ก เช่น ตะขาบ แมงป่อง มดตะนอย คางคก ก็จะหนีไปเอง
     - อาการที่ไม่พึงประสงค์ ในฤดูฝนมักมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขอาจประสบอุบัติเหตุถูกเศษแก้วบาด เศษโลหะบาด หรือถูกตะปูตำ ก็มีโอกาสเป็นบาดทะยักได้ ดังนั้นเจ้าของควรหมั่นดูแลสัตว์หลังจากลุยน้ำท่วมขึ้นมาอยู่บนบ้านแล้ว ต้องสังเกตดูว่าสัตว์มีบาดแผลหรือไม่ มีเลือดออกตามฝ่าเท้าหรือขาไหม ถ้ามีบาดแผลให้ทำความสะอาดบาดแผลด้วยแอลกอฮอล์และใส่ยาใส่แผลพวกโพวิโดน (Povidone iodine) เพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่ถ้าเป็นบาดแผลขนาดใหญ่ ควรพาสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อผ่าตัดเย็บแผล หรือให้ยาป้องกันบาดทะยัก (Tetanus toxoid/Tetanus antitoxin) ยาป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งยารักษาอาการอักเสบ การลุยน้ำนานๆ หรือน้ำสกปรกอาจทำให้นิ้วเท้าหรือฝ่าเท้ารวมทั้งขาโดยเฉพาะช่วงล่างเกิดอาการเน่าหรือเปื่อย วิธีการป้องกันก็คือ เมื่อสัตว์ลุยน้ำมาถึงบ้านก็ควรทำความสะอาดตัว โดยเฉพาะขาทั้งสี่ด้วยน้ำสะอาด ซึ่งอาจผสมยาฆ่าเชื้อโรคเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคทำลายผิวหนังบริเวณดังกล่าว และควรหมั่นสังเกตอาการของสัตว์ทุกวัน
     โรคต่างๆ ที่จะมาพร้อมกับน้ำท่วม มีหลายโรคที่พบได้บ่อยๆ คือ
     1. โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถติดต่อได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ที่ชอบลุยน้ำสกปรก การป้องกันที่ดีที่สุดคือ เมื่อลุยน้ำมาถึงบ้านแล้วควรทำความสะอาดขาให้สะอาด และเช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อโรคหรือแอลกอฮอล์ 70% ถ้ามีบาดแผลควรใส่ยาทิงเจอร์โพวิโดน (Povidone) และควรพาสัตว์เลี้ยงไปให้สัตวแพทย์ตรวจเป็นระยะๆ เพื่อความปลอดภัยของตัวสัตว์เอง
     2. ท้องเสีย เกิดจากการที่สัตว์กินอาหารปนเปื้อนน้ำสกปรก หรือกินน้ำสกปรกโดยตรง ซึ่งอาจจะได้รับเชื้อแบคทีเรีย ( E.coli , Salmonella) สัตว์จะมีอาการซึม เบื่ออาหาร ท้องเสีย สัตว์จะถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำกลิ่นเหม็นคาวจัด ถ้าปล่อยไว้นานเกินไปสัตว์เลี้ยงจะเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ อาจถึงขึ้นเสียชีวิต ดังนั้นการเลี้ยงดูสุนัขในช่วงหน้าฝนเจ้าของควรจะเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อมีอาการท้องเสียต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจรักษาได้ทันท่วงที
     3. หวัด มักเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเจ้าของดูแลสุนัขอย่างดีและใกล้ชิด สัตว์ได้รับเชื้อหวัดอาจแสดงอาการ 2-3 วัน ก็หายเอง โดยความแข็งแรงของร่างกายที่ต่อสู้ฆ่าเชื้อไวรัสให้หมดไปจากร่างกายได้ แต่ถ้าร่างกายของสัตว์เลี้ยงสู้เชื้อหวัดไม่ไหว ก็จะแสดงอาการของโรคมากกว่า 3 วันขึ้นไป จำเป็นที่เจ้าของต้องพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจรักษา และให้คำแนะนำในการดูแลที่ถูกต้อง
     4. ปอดบวม มักเป็นผลจากการที่สัตว์เลี้ยงได้รับเชื้อโรค ประกอบกับในฤดูฝนอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมต่ำทำให้ร่างกายไม่สามารถที่จะทนทานต่อการทำลายอวัยวะสำคัญจากเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะทางเดินหายใจ ซึ่งเนื้อเยื่อของปอดเป็นจุดที่เชื้อโรคจะทำลายได้ง่ายมาก ก่อให้เกิดอาการของปอดบวม ทำให้สัตว์เลี้ยงหายใจลำบาก เจ้าของต้องรีบพาสัตว์เลี้ยงพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว และควรนึกอยู่เสมอว่าเมื่อย่างเข้าฤดูฝน นอกจากดูแลเรื่องความสะอาดของร่างกายสัตว์เลี้ยงแล้ว ต้องดูแลเรื่องการให้ความอบอุ่นแก่สัตว์เลี้ยงด้วย
     5. โรคหัด (Distemper) เป็นโรคติดต่อที่รุนแรงของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมว เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการในสัตว์ค่อนข้างรุนแรง ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และมีผลข้างเคียงต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายด้วย การแพร่ระบาดรวดเร็ว ดังนั้นเจ้าของสัตว์ ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนประจำปีทุกปี ปีละครั้ง ในฤดูฝนเจ้าของสัตว์ต้องเข้มงวดไม่ให้สัตว์ของตัวเองออกไปปะปนกับสัตว์นอกบ้าน ซึ่งถึงแม้จะฉีดวัคซีนป้องกันไว้เรียบร้อยแล้ว แต่การไปสัมผัสกับสัตว์นอกบ้านโดยเฉพาะสัตว์จรจัด โอกาสได้รับเชื้อไวรัสเป็นไปได้ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับสัตว์เลี้ยงของเราได้