ADS


Breaking News

ความคืบหน้าการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดี แหล่งโบราณคดีสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

     นาย ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากที่มีการค้นพบการฝังศพสมัยก่อน

ประวัติศาสตร์ที่บ้านสีบัวทอง ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง มีหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยเข้าสำรวจจนระบุได้ว่าเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ของจังหวัดอ่างทอง ปัจจุบันสำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา เข้าดำเนินการในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทโดยตรงต่อการศึกษาทางวิชาการ จนค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่จะเป็นข้อมูลสำคัญต่อพัฒนาการของจังหวัดอ่างทอง

        การขุดค้นดำเนินการทั้งหมด ๓ หลุม พบโครงกระดูกมนุษย์ทั้งหมด ๗ โครง โดยเป็นผู้ใหญ่ ๖ โครง เป็นเด็ก ๑ โครง การฝังศพอยู่ลึกลงจากผิวดินชั้นวัฒนธรรมประมาณ ๒๐ – ๗๐ เซนติเมตร เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงพิธีกรรมการฝังศพของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทุกโครงถูกฝังในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว มีข้อสังเกตุเกี่ยวกับการมัดบริเวณเข่าในทุกโครง (ยกเว้นโครงเด็ก) หันศีรษะไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีเครื่องอุทิศที่ฝังร่วมกับโครงกระดูก ได้แก่ ภาชนะดินเผา พบร่วมกับโครงกระดูก ๕ โครง วางอยู่ด้านบนหรือด้านข้างของโครงกระดูกตำแหน่งตั้งแต่สะโพกจนถึงปลายเท้า จำนวนตั้งแต่ ๑ ใบจนถึง ๙ ใบ หม้ออุทิศเป็นภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) ประเภทหม้อก้นกลม ชาม ตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบหรือทาน้ำดินสีแดง ขวานหินขัดวางอยู่ที่กระดูกสะโพกข้างขวาของโครงกระดูกโครงหนึ่งที่ไม่พบภาชนะดินเผา กำไลสำริด พบสวมอยู่ที่กระดูกปลายแขนข้างซ้ายของโครงกระดูกที่อยู่ลึกที่สุดและมีสภาพไม่สมบูรณ์ที่สุด

จากการตรวจสอบชั้นดินหลุมขุดค้นในที่ทำการ อบต. สีบัวทอง ซึ่งคาดว่าเป็นผิวดินเดิม พบว่าใน ระดับผิวดินเดิมก่อนที่จะทำการขุดลอกนั้นไม่พบโบราณวัตถุ จนกระทั่งความลึกประมาณ ๑ เมตรจากผิวดินเดิม จึงพบโบราณวัตถุปะปน เช่น เศษภาชนะดินเผาหรือเศษกระดูก เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับระดับที่พบการฝังศพ ในพื้นที่ของนายสมเกียรติ บริบูรณ์ ที่ขุดลอกหน้าดินออกไป ดังนั้นพื้นที่แหล่งโบราณคดีสีบัวทอง มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่ช่วงเวลาหนึ่งแล้วจึงมีการโยกย้ายทิ้งร้างพื้นที่ไป

        จากการดำเนินงานโบราณคดีในช่วงที่ผ่านมาทำให้พอทราบว่าชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีอายุในช่วงยุคสำริด คือประมาณ ๒,๕๐๐ – ๓,๐๐๐ ปี แม้ว่าจะยังคงพบขวานหินขัดร่วมกับหลุมฝังศพ แต่จากการที่พบโครงกระดูกที่มีสำริดฝังร่วมด้วยในชั้นที่ลึกกว่าโครงอื่น จึงควรสันนิษฐานว่าชุมชนแห่งนี้เข้าสู่ยุคสำริดแล้ว แม้ว่าระดับเทคโนโลยีจะยังคงคล้ายยุคหินใหม่อยู่ก็ตาม ทั้งนี้ในเบื้องต้นพบว่ารูปแบบภาชนะดินเผามีความใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีในจังหวัดลพบุรีมากกว่าแหล่งโบราณคดีในจังหวัดสุพรรณบุรี หากวิเคราะห์ร่วมกับชั้นวัฒนธรรมที่ไม่หนามาก อาจจะสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าเป็นชุมชนที่มีการโยกย้ายมาอยู่ในช่วงสั้น ๆ ก่อนจะอพยพไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณอื่น