ADS


Breaking News

รพ.เทพา ยึดแนวทาง HA-DHSA ปัจจัยสำเร็จภายใต้สถานการณ์โควิด-19

     "ผอ.รพ.เทพา” แจงโรงพยาบาลยึดแนวทางตามมาตรฐาน HA  และ DHSA เป็นกรอบสำคัญที่ใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และการทำงานร่วมกับชุมชน  ชี้ปัจจัยสำเร็จของการทำงานภายใต้ สถานกาณ์การแพร่ระบาด โคโรน่าไวรัส (COVID -19)  คือ  ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในทุกระดับ และการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทำให้การแก้ปัญหา วิกฤติแต่ละระยะผ่านไปได้ด้วยดี  
     (เมื่อวันที่ 16 กค. 63) นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า สถาบันรับรองคุณภาพและสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและให้การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ตามมาตรฐาน HA (Healthcare Accreditation) โดยมีรูปแบบการประเมินรับรองที่หลากหลาย อาทิ การรับรองขั้นก้าวหน้า, การรับรองเฉพาะโรค , การรับรองเครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัด และการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ  โดยวันนี้ สรพ. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงพยาบาลคุณภาพมาตรฐาน HA ที่ผ่านการรับรองเครือข่ายระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ (DHSA)  ในพื้นที่โรงพยาบาลเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชน อาทิ โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ประชาชนในชุมชน ที่มาร่วมกันแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาด โคโรน่าไวรัส (COVID -19) ทั้งนี้โรงพยาบาลเทพาผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน HA และได้ทำการพัฒนาคุณภาพเครือข่ายบริการสุขภาพในระดับอำเภอ DHSA  ด้วย โดยได้รับการรับรอง เมื่อ วันที่ 25 มิถุนายน 2562 โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี
     ด้านนายแพทย์เดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา  กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส (COVID-19) โรงพยาบาลเทพาได้นำแนวคิดของ การทำงานร่วมกับชุมชน เครือข่ายบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นแนวทางตามมาตรฐาน HA และ DHSA ไปปรับระบบบริการของโรงพยาบาลโดยใช้โครงสร้าง EOC ที่สามารถเคลื่อนงานคุณภาพและงานระดับอำเภอได้ เช่นการจัดตั้ง Local Quarantine เป้าหมายที่ดำเนินการมุ่งที่ความปลอดภัยของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการและชุมชน  ทั้งนี้โรงพยาบาลมีการถอดบทเรียนการทำงานในสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยความสำเร็จ คือ ความร่วมมือจากหน่วยงานในทุกภาคส่วน  การสื่อสารในทุกระดับเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การสื่อสารในระดับทีมนำระดับอำเภอ ระดับโรงพยาบาลใช้แนวคิดและโครงสร้างของ EOC  การสื่อสารที่ชัดเจนในกลุ่มเจ้าหน้าที่ เช่น การปฏิบัติตน การสวม PPE สื่อสารแนวทางปฏิบัติสู่หน่วยงานต่างๆ การทำหัตถการเสี่ยงเช่น Swab การดูแลใน ER OPD Clinic PUI ARI ที่มี Dynamic มากเนื่องจากมีแนวทางที่ปรับเป็นระยะ ซึ่งโรงพยาบาลได้มีการถอดบทเรียนและประชุมสม่ำเสมอทุกเช้า เพื่อให้ทุกกลุ่มงานมาหารือร่วมกัน  ส่วนการประชุมในระดับอำเภอใช้เวที EOC มีการประชุมทุกสัปดาห์ คล้ายโครงสร้าง พชอ. DHSA หารือแนวทางการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ มีการสื่อสารหลายวิธี เช่น คลิปวิดีโอ narrative medicine สื่อสารโดยภาพและเสียง เช่นการดูแลใน Home Quarantine หรือ local Quarantine ซึ่งที่เทพา ใช้รีสอร์ตในการกักตัว จะสื่อสารให้ทุกคนได้เห็นภาพชายทะเล และบ้านที่สวยงาม ทำให้ ลดความกลัวและเป็นการสื่อสารที่เข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้ก็คือการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทำให้การแก้ปัญหา วิกฤติแต่ละระยะของพื้นที่อำเภอเทพาผ่านไปได้ด้วยดี