ADS


Breaking News

กรณีการยื่นรายชื่อแก้ไข ขอแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ต่อรัฐสภา ยกกรณีเตี้ย มช.เป็นตัวอย่าง

     ด้านความคิดเห็นของ ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เห็นว่า สำหรับในเรื่องนี้ก่อนอื่นต้องขออนุญาตตอบด้วยความคิดเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับสมาคมฯ เพราะสมาคมฯ ในฐานะองค์กรสาธารณะกุศลที่เป็นนิติบุคคล ก็จะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี วันที่ 9 ก.ค.63 และคงจะมีการแสดงจุดยืนของสมาคมฯ ในเรื่องดังกล่าวต่อไป 
     ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมกลุ่มที่พยายามเรียกร้องเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์เพราะอย่างน้อยก็เป็นการปลุกกระแสสังคมให้มีการตื่นตัว ตื่นรู้เรื่องเกี่ยวกับสัตว์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นธรรมดาที่มีคนเห็นด้วยและเห็นต่างกันในระบอบประชาธิปไตย สำหรับส่วนตัวเห็นว่า 
     1.กฎหมายทุกฉบับนั้นคงไม่มีฉบับใดสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะตามเงื่อนไขเวลาและข้อเท็จจริงตามสภาพบริบทของสังคมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อถึงเวลาสักระยะหนึ่งกฎหมายก็ควรต้องมีการปรุงแก้ไข  แต่การปรับปรุงแก้ไขนั้นควรเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาจริง รวมถึงความจำเป็นเร่งด่วน ด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่าขณะนี้สังคมไทยมีปัญหาหลายด้านที่จำเป็นเร่งด่วนกว่า เช่น ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ปัญหาโรคระบาดโควิด -19 และอื่น ๆ 
     2. ปัญหาของ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์ ฯ คงไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของกฎหมายแต่อาจอยู่ที่ความเข้าใจในการบังคับใช้ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญกว่าการแก้กฎหมาย เพราะ ปัจจุบันเห็นว่ากฎหมายนั้นสามารถบังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก จนมีบางครั้งมีผู้ไม่หวังดีก็นำกฎหมายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบและมีการกลั่นแกล้งกันด้วยซ้ำ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันทุกกรณี ไม่ใช่เฉพาะแต่ กรณีสุนัข เตี้ย มช. นั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก  เพราะทุกชีวิตล้วนมีคุณค่า ไม่ว่าสัตว์จรจัด สัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยง แต่กรณีเตี้ย มช.จึงเป็นกรณีแห่งการเรียนรู้ ควรมีการเลี้ยงดูสัตว์อย่างรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น และควรทำให้ทุกปัญหาของสัตว์ที่ได้รับการทารุณกรรมโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันไม่มีข้อยกเว้น  ดังนั้นการปฏิบัติตามกระบวนการกฎหมาย เช่น เรื่องของสิทธิของ ผู้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์ ฯ ไม่ว่า จะเป็นเรื่องของ การร้องทุกข์กล่าวโทษ การพิสูจน์ข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน รวมถึงสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหา ที่จะต่อต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมก่อนสังคมพิพากษาตัดสินนั้นสำคัญมาก  และเหนือสิ่งอื่นใดคือผู้รักษากฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ควรต้องตื่นตัว ตื่นรู้ ให้มากยิ่งขึ้นในการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมายเพื่ออำนวยรักษาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นทั้งกับคนและสัตว์อย่างแท้จริง 
     3.  การบังคับใช้กฎหมายกรณี เตี้ย มช. ตอนนี้ ส่วนตัวมองว่า สิ่งสำคัญคือการต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ยุติเสียก่อน ทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุและหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ทราบว่าขณะนี้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ไว้ 3 ข้อหา ประกอบด้วย
     ข้อหาการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตาม  พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557  ถ้ามีการกระทำที่ความผิดเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์จริง เช่น จงใจขับรถทับสุนัขให้ได้รับความทุกขเวทนา และไม่นำไปหาสัตวแพทย์ปล่อยให้สุนัขเจ็บปวดจนถึงตายได้ ก็จะมีความผิด ตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 20 และบทลงโทษตามมาตรา 31 คือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งกรณีที่จะมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใดในการพิสูจน์
     ข้อหาลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ถ้าลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ตามมาตรา 335  จะโทษจำคุกระหว่าง 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท
     แต่ข้อหานี้มีข้อสังเกตควรพิจารณาเรื่องคุณธรรมทางกฎหมายและองค์ประกอบของกฎหมาย เกี่ยวกับการลักทรัพย์ด้วย คือ การลักทรัพย์ต้องเป็นลักษณะการ เอาไป หมายถึงการแย่งการครอบครองทรัพย์ในลักษณะ การตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโดยเด็ดขาด การเอาสุนัขไปนั่งรถเล่นแล้วนำกลับมาส่งที่เดิม ถือเป็นการเอาไปชั่วคราว ไม่เป็นลักษณะการตัดกรรมสิทธิ์จึงไม่ถือเป็นการลักทรัพย์  ทรัพย์ที่ถูกลักไปนั้นต้องด้วยอยู่ในครอบครองของผู้อื่นเป็นเจ้าของ ก็คือทรัพย์ของผู้อื่นขณะเอาไปนั่นเอง ซึ่งทรัพย์ที่เจ้าของเลิกการครอบครอง ด้วยการสละกรรมสิทธิ์การครอบครองแล้วเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ เช่น  นก ปลา สุนัข ปล่อยอิสระแล้ว ไม่มีเจ้าของไม่ผิดลักทรัพย์ 
     ข้อหาทิ้งซากสัตว์ ซึ่งอาจเน่าเหม็นในริมทางสาธารณะ ตาม ป.อาญา มาตรา 396  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แม้ข้อหาดังกล่าวเป็นแค่เพียงความผิดลหุโทษโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องกระทำโดยเจตนาและไม่มีความพยายามกระทำความผิดและไม่มีเรื่องผู้สนับสนุน ซึ่งในแง่กฎหมายวิธีพิจารณาความผิดลหุโทษก็สามารถเปรียบเทียบปรับได้เลย 
     ดังนั้นกรณี สุนัขเตี้ย มช. จึงไม่ใช่เรื่องไม่มีประสิทธิภาพของ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์ฯ แต่เป็นเรื่อง กระบวนการพิสูจน์ข้อกล่าวหา ด้วยการพิสูจน์ความสัมพันธ์ของการกระทำและผลของการกระทำของผู้กระทำ ด้วยประจักษ์พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมากกว่า และการปรับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์ ฯ กับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่ผู้แจ้งจะต้องเข้าใจในองค์ประกอบองค์ของการกระทำความผิดและกฎหมาย 
     4.กฎหมายของประเทศไทยหลายฉบับมีความก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น เพราะในขั้นตอนการพิจารณานั้นมักล้วนนำกฎหมายในต่างประเทศมาเปรียบเทียบเสมอ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ ในขั้นกรรมาธิการก็มีการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายในต่างประเทศมากพอสมควรอยู่แล้ว เพื่อให้เป็นกฎหมายลักษณะสากลที่สามารถปรับใช้ได้กับสภาพสังคมไทยได้จริง และลักษณะโทษการทารุณกรรมก็เป็นลักษณะโทษทางอาญา และลักษณะการกระทำนั้นเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขในส่วนนี้  
     ดังนั้นกฎหมายจึงเป็นเรื่องของหลักการ ที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและเงื่อนไขที่เป็นจริง ซึ่งส่วนตัวก็เชื่อว่าทุกคนย่อมมีเหตุผลและความปรารถนาดีต่อกัน ทุกคนมีความรักและเมตตาต่อสัตว์ด้วยความจริงใจ แต่ขอให้มีการใช้หรือบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดความเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริงเสียก่อน แทนการแก้ไขกฎหมายในขณะนี้และควรเลือกใช้เวลาให้เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลดีต่อส่วนรวม สังคม และประเทศชาติและสรรพสัตว์น้อยใหญ่ต่อไป