นำนวัตกรรมเสริมพลังกลุ่มเปราะบางก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบ New Normal
วันนี้ (26 มิ.ย. 63) 13.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีสาหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะความท้าทายจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคการใช้วิถีชีวิตแบบ New Normal หรือ “ความปกติใหม่” รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดมาตรการในการฝ่าวิกฤต COVID-19 โดยยึดมั่นในหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leave no one behind) มุ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตและการลดความเหลื่อมล้าของคนในสังคม นำประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายจุติ ไกรฤกษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีสาหรับคนพิการและผู้สูงอายุ กล่าวเปิดงาน
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการให้ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะคนพิการและผู้สูงอายุ ที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการและผู้สูงอายุ ร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) เพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย จึงนำไปสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบาย วางแผนการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการและผู้อายุให้ได้รับการบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยการนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ขับเคลื่อนผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ไปสู่การขยายผลต่อกลุ่มเป้าหมายและผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งนวัตกรรมหุ่นยนต์จะช่วยลดการสัมผัสให้น้อยลง เว้นระยะห่าง ลดการติดเชื้อ และการกระจายแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า " ในนามของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง การวิจัยและนวัตกรรมถือเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สามารถนำพาประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลือมล้ำ และกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา รวมถึงทำให้ประเทศสามารถปรับตัว เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และสร้างความสามารถในการแข่งขัน อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มีเป้าหมายสูงสุดให้ "การวิจัยและนวัตกรรม" เป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561 - 2580 และเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในลการขับเคลื่อนประเทศไทย โดยความสำเร็จของการปฏิรูปตามนโยบายและยุทธศาสตร์นั้น ต้องอาศัยการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งระบบ จะขาดปัจจัยสำคัญด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ ตั้งแต่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้งในระดับนโยบาย การจัดสรรงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรม และการนำเอาผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในระดับต่าง ๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และเนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานและวัยเด็กที่ลดลง และประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประทศไทยคาดว่าจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2574 จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ มีความท้าทายมากขึ้น ในการตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุ ที่จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของประชากร ให้มีคุณภาพและการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการผลิต และการบริการของประเทศจะเป็นความท้าทายสำคัญในระยะต่อไป กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อม และให้ความสำคัญต่อความต้องการของผู้สูงอายุและคนพิการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตประจำวัน การส่งเสริมสุขภาพกาย/จิตใจ ด้านสังคม ที่อยู่อาศัยและการดูแลป้องกันและรักษาสุขภาพอนามัย จึงได้มีการกำหนดเป็นเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objectives and Key Results: OKRs) เพื่อเป็นกรอบทิศทาง และกำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้อย่างมีคุณค่า และสร้างกลไกที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พร้อมรับสังคมสูงวัย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ช่วยเหลือการดำรงชีวิต (Assisted tiving) สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตได้ โดยในกระบวนการขับเคลื่อนและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุ กลไกสำคัญคือ ความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.)ในการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึง ปลายน้ำ โดยการร่วมกันกำหนดความต้องการ ที่จะนำมาสู่โจทย์หรือกรอบประเด็นสำคัญสำหรับการวิจัย เพื่อให้ได้นวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ร่วมกัน ในการสนับสนุนและเป็นผู้นำร่องในการนำไปใช้จริง และร่วมกันในการขยายผลไปสู่กลุ่มเป้าหมาย จนเกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย วช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในความร่วมมือระหว่างกันและพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อให้ได้นวัตกรรมพร้อมใช้ ที่ตรงกับความต้องการ และเกิดมาตรฐาน ทั้งในด้านการผลิตและความปลอดภัย พร้อมทั้งจะช่วยผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ที่ให้ทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถเข้าถึงนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งคนพิการ และผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ดูแล ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาวะหรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สืบไป กระผมขอขอบคุณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เห็นความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรม และหวังว่าความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้ จะบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ หากมีสิ่งใดที่ วช. สามารถมีส่วนช่วยเหลือสนับสนุน วช. มีความยินดีและเต็มใจเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน "
ทั้งนี้ ภายในพิธี MOU ยังมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การรับมอบนวัตกรรมหุ่นยนต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ นิทรรศการนำเสนอผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เช่น เตียงพลิกตะแคงอัตโนมัติ เครื่องกำจัดกลิ่นเหม็นด้วยสนามไฟฟ้าโคโรนา รถเข็นคนพิการแบบปรับยืนโดยไม่ใช้ไฟฟ้า