จากเหตุคลิปในเฟซบุ๊ก โยนถุงดินใส่สุนัข ลงโทษสุนัข
จากกรณีคลิปสุดสะเทือนใจคนรักสุนัข เมื่อสมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ไปโพสต์ถึงพฤติกรรมของคนที่อยู่ในคลิปจำนวน 2 คน กำลัง ลงโทษสุนัข ที่เลี้ยงไว้อย่างรุนแรง เนื่องจากสุนัขตัวดังกล่าวกัดถุงดินจนทำให้บ้านเลอะเทอะ คนที่อยู่ในคลิปจึงใช้รองเท้าตีไปที่สุนัข พร้อมกับมีการพยายามจับกดน้ำและขว้างถุงดินใส่ นั้น
เรื่องดังกล่าวด้าน ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) แสดงความคิดเห็นว่า ขณะนี้ติดตามข้อเท็จจริงและเป็นห่วงเรื่องดังกล่าวมากเช่นกัน เพราะดูจากคลิปวิดีโอแล้วก็รู้สึกสะเทือนใจสำหรับผู้รักสัตว์ แต่ก็ต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จในหลายมิติประกอบด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นทั้งคนและสัตว์ ซึ่งขณะนี้ก็ทราบว่าจะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรมแล้วก็เป็นสิ่งที่ดี สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวในเรื่องนี้นั้น ก็เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ขณะนี้มีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ซึ่งมีการกำหนดนิยามการทารุณกรรมสัตว์ไว้ค่อนข้างชัดเจน เช่น ตามมาตรา 3 การทารุณกรรม หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นกระทำ ใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตายได้ จากกรณีคลิปดังกล่าว จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบ เช่น
1. การกระทำของบุคคลทั้ง 2 ที่ได้กระทำต่อสุนัขนั้น เป็นการกระทำโดยการรู้สำนึกในการกระทำของตนหรือไม่ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อทำร้ายสุนัขของตนเอง และการกระทำนั้นมีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สิน หรือไม่
2. เจตนาของผู้กระทำคือ การแสดงออกที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจของผู้กระทำว่าต้องการอะไร เช่น ตามที่มีการกล่าวอ้างว่ากระทำไปเพื่อสั่งสอนสุนัขให้เกิดความหลาบจำนั้น ต้องพิจารณากันต่อไปอีกว่า บุคคลทั้ง 2 มีโอกาสเลือกวิธีการกระทำอื่น ๆ ได้หรือไม่ แทนการทุบตี และการกระทำนั้นรุนแรงหรือได้กระทำซ้ำอีก ให้เกิดความรุนแรงต่อสุนัขเพื่อให้เกิดความหลาบจำหรือได้รับความทุกข์ทรมาน เจ็บปวด
3. อาวุธที่ใช้ในการกระทำนั้น ต้องพิจารณาดูว่ามีความร้ายแรงขนาดไหน เช่น รองเท้ายางที่ใช้ตีสุนัขนั้น ร้ายแรงขนาดทำให้สุนัขได้รับความบาดเจ็บ จนอาจถึงตายได้หรือไม่
4. ผลที่เกิดจากการกระทำ คือสุนัขได้รับความทุกข์ทรมาน เจ็บปวด เจ็บป่วย มากน้อยแค่ไหน ก็พิจารณาจากบาดแผลภายนอก หรือควรให้สัตวแพทย์ตรวจพิสูจน์ดูสภาพภายในของสุนัขนั้น เพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการยืนยันพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้นต่อไป
ดังนั้น เรื่องดังกล่าวจึงควรต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำทั้ง 2 ได้ดำเนินการไปเพื่ออะไร มีเหตุสมควรหรือไม่ และควรใช้กระบวนการยุติธรรมในการแก้ไขตัดสินปัญหาต่อไป แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ “เมตตาธรรม” ที่มนุษย์ควรมีต่อสัตว์ เพราะ “สัตว์” ก็มีชีวิต จิตใจ มีความรู้สึก รับรู้ได้ถึงความทุกข์ทรมานเจ็บปวด จากการกระทำของมนุษย์ มนุษย์จึงควรปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้น และที่สำคัญ “มนุษย์ก็ควรมีเมตตาธรรมกับมนุษย์” ด้วยกันเอง ด้วยการไม่ตัดสินใครก่อนที่จะมีโอกาสได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น ๆ