ADS


Breaking News

กรมศุลกากร แถลง Monthly Customs Press 8 /2563

วันนี้ (วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2563) เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าว ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย โครงการ และประเด็นต่าง ๆ โดยมอบหมายให้คณะโฆษกกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ และได้กำหนดให้มีการแถลงข่าวประจำทุกเดือน สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ ในการแถลงข่าวประจำเดือนพฤษภาคม 2563 ได้แก่
(1) ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนเมษายน 2563
(2) กรมศุลกากรส่งมอบรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมให้กับสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

(3) กรมศุลกากรขยายโครงการให้บริการรับชำระภาษีอากรแก่ผู้ประกอบการที่สุจริตที่ตรวจพบอากรขาดด้วยตนเอง

(4) กรมศุลกากร ระดมเจ้าหน้าที่ร่วมเก็บข้อมูลของผู้ยื่นทบทวนสิทธิ์ ตามมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” (5) กรมศุลกากรขอแจ้งเตือนโปรดอย่าหลงเชื่อกรณีหลอกลวง ซึ่งมีรายละเอียดในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

(1) ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนเมษายน 2563 
ตามที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปราม การลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรม ในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง บ้านเรือน แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลักลอบ
นอกจากนี้ มีการบูรณการ กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ปปส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่าง ๆ Interpol DEA เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน

สำหรับเดือนเมษายน 2563 กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากรได้ทั้งสิ้น 1,607 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 917 ล้านบาท โดยเป็นคดีลักลอบ คิดเป็นร้อยละ 85.4 ของมูลค่าทั้งหมด โดยสินค้าที่ตรวจพบการกระทำความผิดที่สำคัญ ได้แก่ ยาเสพติดให้โทษประเภทเอ็กซ์ตาซี่ บุหรี่ น้ำมันดีเซล หอมหัวใหญ่ 

ผลงานที่น่าสนใจในช่วงเดือนเมษายน 2563 มีดังนี้

        1. ยาเสพติดให้โทษประเภทเอ็กซ์ตาซี่
เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 กรมศุลกากรได้ตรวจพบพัสดุต้องสงสัย จึงประสานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกันเปิดตรวจพัสดุดังกล่าว จำนวน 1 หีบห่อ ต้นทางจากต่างประเทศ  ผลการตรวจสอบพบเม็ดยาสีเหลือง ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (Ecstasy) จำนวนรวม 21,060 เม็ด น้ำหนักประมาณ 8.14 กก. ซุกซ่อนอยู่ในถุงเมล็ดกาแฟปะปนกับถุงขนมต่าง ๆ มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 16.8 ล้านบาท

 2. บุหรี่ปลอม
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 กรมศุลกากรได้ทำการตรวจสอบสินค้าบุหรี่ จำนวน 20 ล้านมวน
จากข้อมูลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ทราบว่า บุหรี่ดังกล่าวมาถึงคลังสินค้าทัณฑ์บนในประเทศไทย ก่อนที่จะถูกทยอยส่งไปจำหน่ายยังประเทศปลายทาง เช่น  อินโดนีเซีย มาเลเซีย และออสเตรเลีย จากการตรวจสอบสินค้าดังกล่าว พบเป็นสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า (บุหรี่ปลอม)  มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านบาท

3. น้ำมันดีเซล
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2563 กรมศุลกากรได้ทำการตรวจสอบ รถบรรทุกน้ำมัน จำนวน 1 คัน บริเวณริมถนนพระราม 2 ฝั่งขาเข้ากรุงเทพ ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พบน้ำมันดีเซล มีเมืองกำเนิดต่างประเทศที่ไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น ปริมาณ 15,000 ลิตร มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 3.3 แสนบาท 


4. หอมหัวใหญ่
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2563 กรมศุลกากรได้ทำการตรวจสอบรถบรรทุกสิบล้อจำนวน 2 คัน บริเวณริมถนน. ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบหอมหัวใหญ่ลักลอบหนีศุลกากร จำนวนรวม 2,600 กระสอบ ๆ ละประมาณ 10 กก. มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ  6 แสนบาท

  (2) กรมศุลกากรส่งมอบรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมให้กับสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย
  สืบเนื่องจากกรมศุลกากร ได้ตรวจยึดรถยนต์ยี่ห้อ MCLAREN และรถยนต์ยี่ห้อ RANGE ROVER ซึ่งนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา และจากการประสานความร่วมมือระหว่างกรมศุลกากรกับหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติ (National Crime Agency) แห่งสหราชอาณาจักร ทำให้ทราบว่ารถยนต์ทั้งสองคันเป็นรถที่ถูกโจรกรรมจากสหราชอาณาจักร ต่อมา

สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ได้ประสานผ่านกระทรวงการต่างประเทศขอความอนุเคราะห์กรมศุลกากรพิจารณาส่งยานพาหนะกลับคืนให้เจ้าของที่ถูกต้องในสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ เพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ กรมศุลกากรจึงได้ดำเนินการส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวซึ่งคดีสิ้นสุดและตกเป็นของแผ่นดินแล้วให้กับสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563

(3) กรมศุลกากรขยายโครงการให้บริการรับชำระภาษีอากรแก่ผู้ประกอบการที่สุจริต ที่ตรวจพบอากรขาดด้วยตนเอง
 โครงการรับชำระค่าภาษีอากรเพิ่ม ณ จุดเดียว เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่สุจริตแต่ภายหลังตนเองพบว่าอากรและภาษีอื่น ๆ ที่เสียไว้นั้นไม่ครบถ้วน

จึงประสงค์จะชำระค่าอากรและค่าภาษีอื่น ๆ ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย


จากประโยชน์ดังกล่าว ประกอบกับเป็นโครงการฯ ที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ กรมศุลกากรจึงได้พิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ต่อไปเป็นปีที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 ผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาเข้าร่วมโครงการฯ สามารถชำระค่าอากรและค่าภาษีอื่น ๆ ให้ครบถ้วนได้ที่กองตรวจสอบอากร กรมศุลกากร โดยไม่ต้องไปดำเนินพิธีการตามท่าหรือที่ต่าง ๆ และจะได้รับ การพิจารณาผ่อนผันการปรับ ได้รับการลดเงินเพิ่มอากรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ และไม่ต้องเสียเบี้ยปรับค่าอากร แต่ยังคงต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย โดยผลการดำเนินโครงการฯ ในปีที่ผ่านมา (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563) มีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 71 ราย ยอดจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ ทั้งสิ้น 152,186,293.00 บาท 
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ นี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการที่นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยลักลอบหนีศุลกากร หรือมีเจตนาทุจริตปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนในการหลีกเลี่ยงอากร หรือนำเข้าสินค้าเป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย ตรวจค้น หรือถูกดำเนินคดีในความผิดทางศุลกากร โดยหน่วยงานอื่น เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กองตรวจสอบอากร กรมศุลกากร ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาไม่ให้เข้าร่วมโครงการฯ ในกรณียื่นเอกสาร ไม่ครบถ้วน ไม่ให้ความร่วมมือกับพนักงานศุลกากร ไม่มาชำระค่าอากรและค่าภาษีอื่น ๆ ที่ขาดให้ครบถ้วน หรือกรณีอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีเจตนาที่ไม่สุจริต 

ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ สามารถดาวน์โหลดเอกสารขอเข้าร่วมโครงการฯ และอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ http://postaudit.customs.go.th พร้อมส่งเอกสารประกอบการพิจารณาทางไปรษณีย์หรือยื่นด้วยตนเอง ที่กองตรวจสอบอากร อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ชั้น 8 กรมศุลกากร เลขที่ 1 ถนนสุนทรโกษา แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพ 10110 หมายเลขโทรศัพท์ 02-667-6680 และ 02-667-6667


(4) กรมศุลกากร ระดมเจ้าหน้าที่ร่วมเก็บข้อมูลของผู้ยื่นทบทวนสิทธิ์ ตามมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน”
 กรมศุลกากรระดมเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สิทธิ์ จำนวนกว่า 1,000 คน ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลผู้ขอทบทวนสิทธิ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลแล้วจำนวนกว่า 31,000 ราย คิดเป็น 80 % ในการนี้ อธิบดีกรมศุลกากรได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ในทุกพื้นที่เร่งปฏิบัติภารกิจให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  


        (5) กรมศุลกากรขอแจ้งเตือนโปรดอย่าหลงเชื่อกรณีหลอกลวง
กรมศุลกากรขอแจ้งเตือนประชาชน เนื่องจากปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อกรมศุลกากร  ทำการลอกลวงผู้เสียหายในหลายกรณี อาทิ
1. กรณีที่ชาวต่างชาติหรือบุคคลที่ทำความรู้จักกับผู้เสียหายผ่านทางสื่อออนไลน์ แจ้งว่า ได้ส่งของขวัญหรือของมีค่าต่าง ๆ โดยขอให้ผู้เสียหายโอนเงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและค่าภาษีอากรสำหรับสิ่งของดังกล่าว หรือมีมิจฉาชีพแจ้งแก่ผู้เสียหายว่า มีพัสดุไปรษณีย์มาจากต่างประเทศแต่ติดปัญหาด้านภาษีกับกรมศุลกากร และให้ผู้เสียหายชำระเงินไม่เช่นนั้นจะถูกเจ้าหน้าที่ยึดพัสดุดังกล่าว กรมศุลกากรจึงขอเตือนให้ท่านตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ใจก่อนการโอนเงิน

2. กรณีการลงเว็บไซต์ขายสินค้า อ้างว่าเป็นสินค้าจากกรมศุลกากร และให้โอนเงินมัดจำหรือนัดให้ไปชำระเงินส่วนที่เหลือเพื่อรับสินค้า กรมศุลกากรขอยืนยันว่า การจำหน่ายสินค้าของกลางกรมศุลกากร โดยวิธีที่ถูกต้อง จะเป็นการลงประกาศขายทอดตลาดอย่างเป็นทางการ และจะรับชำระเงิน ณ ที่ทำการศุลกากร โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรเท่านั้น ไม่มีการเสนอขายทางระบบอินเตอร์เน็ต หรือผ่านบุคคลที่แอบอ้าง และไม่มีการให้โอนเงินค่าสินค้า หรือโอนเงินมัดจำเข้าบัญชีผู้ใดทั้งสิ้น
3. กรณีที่มีผู้ที่อ้างเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณค่าโฆษณา เพื่อจัดทำหนังสือ รายงาน วารสาร และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ของกรมศุลกากร พร้อมทั้งมีข้อความที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจผิดว่า กรมศุลกากรมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการเหล่านั้น กรมศุลกากรขอยืนยันว่าไม่มีนโยบายขอรับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการในลักษณะดังกล่าว แต่อย่างใด


        ทั้งนี้ หากท่านเกิดข้อสงสัยท่านสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมศุลกากร 1164 หรือศูนย์บริการศุลกากร (Customs Care Center) โทรศัพท์ 02-667-6000,02-667-7000 ต่อ 205844-8 หรือ website: ccc.customs.go.th หรือติดต่อด้วยตนเอง หรือโทรศัพท์สอบถามไปยัง สำนักงานหรือด่านศุลกากร ทุกแห่ง ในวันและเวลาราชการ