สมาคมยาสูบหวั่นพิษโควิดสะเทือนโชห่วย ชี้ทรุดหนักหากขึ้นภาษีบุหรี่เป็น 40% ตุลา นี้
สมาคมการค้ายาสูบไทย เผยไวรัสโควิด-19 ทำเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อเหือดหายจากระบบ หวั่นร้านค้ากระทบยาวถึงปลายปีกว่าจะดีขึ้น วอนรัฐบาลเห็นใจชะลอการขึ้นภาษีบุหรี่ออกไปก่อน เกรงซ้ำเติมร้านค้าและดันบุหรี่เถื่อนพุ่ง
นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าส่งผลกระทบอย่างมากต่อร้านค้าโชห่วยทั่วประเทศหลายแสนราย
“เศรษฐกิจตอนนี้ ผู้บริโภคหลายล้านคนขาดรายได้ แม้บางรายได้เงินช่วยเหลือจากรัฐ แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ทำให้พวกเขาขาดความเชื่อมั่นในอนาคต สอดคล้องกับรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ชี้ว่าผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจในรายได้ในอนาคตต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวังอย่างมากในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้านี้ ตรงนี้ก็ส่งผลกระทบต่อมายังร้านค้าที่มีรายได้จากการขายสินค้าให้ผู้บริโภค”
นางวราภรณ์ ระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลประมาณการณ์โดยสมาคมค้าปลีกชี้ว่ามูลค่ายอดขายหายไปจากระบบการบริโภคกว่า 2 แสนล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากนักท่องเที่ยวหาย และประชาชนเลือกจับจ่ายใช้สอยเท่าที่จำเป็น ร้านค้าโชห่วยเองก็เดือดร้อนไม่แพ้กว่าร้านค้าห้างใหญ่ๆ แถมอาจเดือดร้อนกว่าเพราะทุนน้อย ดังนั้นรายได้จากการขายสินค้าทุกชนิดในร้าน ทุกบาททุกสตางค์จึงมีคุณค่ากับร้านค้าปลีกขนาดเล็กเหล่านี้มาก
ด้านนางผกาพร สายแก้ว เจ้าของร้านค้าจาก อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ร้านค้าปลีกก็ยังพออยู่พอขายได้ เพราะห้างใหญ่ๆ ปิดกันหมด คนก็มาซื้อของที่ร้านแทน แต่ก็เป็นการซื้อของกินของใช้เท่าที่จำเป็น เพราะทุกคนก็ไม่กล้าฟุ่มเฟือย เมื่อก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ร้านค้าขายดี นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยคนต่างชาติเคยมาเที่ยวมาซื้อของกัน แต่ปีนี้ก็ขายไม่ได้ เราก็หวังว่าหมดโควิดแล้ว สถานการณ์การค้าขายจะดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ ก็อยากให้รัฐบาลตรึงราคาสินค้าไว้ก่อน อย่าเพิ่งเร่งเก็บภาษีอะไรเพิ่ม เพราะถ้าราคาของแพงขึ้น คนก็จะไม่กล้าซื้อ”
“สมาคมฯ อยากขอร้องให้รัฐบาลไม่ลืมร้านค้าโชห่วย คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เดือดร้อนไม่แพ้กลุ่มอื่นๆ สมาชิกรายหลายก็ยังวิตกกังวลกับภาวะเศรษฐกิจต่อจากนี้ เพราะเชื่อว่าแม้จะหมดการระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนอาจจะถึงสิ้นปีกว่าการซื้อขายจะกลับมาคึกคักอีกเหมือนเดิม ฉะนั้นรัฐบาลก็ยังไม่ควรออกมาตรการอะไรมาซ้ำเติมปัญหารายได้ปากท้องของร้านค้าเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงขอให้ท่านชะลอการขึ้นภาษีบุหรี่เป็น 40% ที่กำหนดในวันที่ 1 ตุลาคม นี้ ออกไปก่อน เพราะหากท่านขึ้นภาษีเป็นเท่าตัวในปีนี้ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เชื่อว่าจะสนับสนุนให้มีการค้าบุหรี่เถื่อนหนีภาษีกันมากขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีคนตกงานกันมากขึ้นๆ ขณะที่รายได้จากการขายบุหรี่ถูกกฎหมายจะทรุดหนักทำให้ร้านค้าที่สุจริตเดือดร้อนฟรี” นางวราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย