ADS


Breaking News

สรท.เผย ข้อเสนอแนะรองรับผลกระทบจาก COVID-19 ต่อภาคการส่งออกไทย

สรท. เร่งรัฐช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ/แรงงานฝ่าวิกฤติ COVID-19 ก่อนเศรษฐกิจไทยพังยาว
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน คุณจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร ณ ห้องประชุม 1 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชั้น 32 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ เมื่อวันอังคารที่ 7 เมษายน 2563 เวลา 10.30-12.00 น. ระบุการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมูลค่า 20,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -4.47% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ ล้านบาท 622,310 หดตัว -8.51% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมูลค่า 16,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -4.30 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 512,083 ล้านบาท หดตัว -8.24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 3,897 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 110,226 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนกุมภาพันธ์การส่งออกขยายตัว 1.5%) การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ -3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย สินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ -5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ทองคำ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ อาวุธ กระสุน รวมทั้งส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ สรท.คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัวไม่ต่ำกว่า -8% (มีโอกาสหดตัวถึงตัวเลขสองหลัก) บนสมมติฐานค่าเงิน 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 6 เมษายน 2563 = 32.895 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.36 – 32.97 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ 1) การค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าอุปโภคและสินค้าเวชภัณฑ์ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้สะดวก รวดเร็ว ประกอบกับการที่ไม่สามารถออกไปจับจ่ายซื้อของสินค้าได้ตามปกติ 2) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ที่มีการระบาดไปทั่วโลก ทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพในตลาดการเงินทั่วโลกรวมทั้งไทย และผลกระทบของการระบาดต่อผลทางเศรษฐกิจภาพรวม และ 3) ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี เนื่องจากผลของการระบาดไวรัสโควิด – 19 ส่งผลต่ออุปสงค์การใช้น้ำมันที่ลดลงทั่วโลกประกอบกับสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิระเบีย รัสเซียและสหรัฐ ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาจให้เกิดผลดีต่อต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศลดต่ำลง
ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ 1) ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 1.1) Supply chain disruption ทั่วโลก ผลต่อภาคการส่งออก ทั้งกลุ่ม non-essential และ essential goods จากการแพร่ะบาดของไวรัส COVID-19 หลายประเทศเริ่มมาตรการ lockdown และควบคุมการเดินทาง กระทบต่อภาคการผลิตในประเทศรายได้ของประชาชนที่ลดลง ลดการจ้างงาน ปิดกิจการชั่วคราวและถาวร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเทศรวมถึงไทย 1.2) Logistic disruption ทั่วโลกและประเทศไทย ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และทางถนน อาทิ ทางเรือ - ระยะเวลาในการดำเนินการและตรวจตราเจ้าหน้าที่ที่ท่าเรือใช้ระยะเวลามากขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้ปฏิบัติงานลดลงอาจทำให้มีตู้สินค้าตกค้างภายในท่าเรือและเกิดความหนาแน่นเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลคุณภาพสินค้าบางชนิด อาทิ สินค้ากลุ่มผักและผลไม้ ประกอบการสายเรือทำ blank sailing (omit) มากขึ้น ไม่เข้าเทียบท่าที่มีความแออัดและต้องรอคิวนานเกินไป ทำให้กระทบต่อผู้นำเข้าส่งออกในการบริหารจัดการและเป็นต้นทุน ทางอากาศ - เนื่องจากหลายสายการบินหยุดให้บริการ ทำให้ต้นทุนค่าระวางของ freighter ค่อนข้างสูงไม่คุ้มกับใช้บริการผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด ทางบก - รัฐบาลมีคำสั่งปิดด่านถาวรและจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนทั้ง สปป.ลาว-เมียนมา-กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นเวลา 14 วัน กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือสั่งการให้คงเหลือการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้เพียงประเทศละ 1 จุดผ่านแดนถาวรเท่านั้น ส่งผลกระทบต่อสินค้า และกระทบต่อมูลค่าจากการค้าชายแดนจำนวน 60,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 2,000 ล้านบาทต่อวัน 2) ผลกระทบภัยแล้งที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรและผู้ประกอบการอีกรอบ ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์ที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี จากปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนเพื่อการใช้ที่เหลือปริมาณร้อยละ 16 เท่านั้น ทำให้ปริมาณสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อยไม่เพียงพอต่อการส่งออกถึงแม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด ปาล์ม ลำไย เป็นต้น
ข้อเสนอการขนส่งสินค้า “ทางภาคใต้ของไทย” ด้วยเรือชายฝั่ง จากผลกระทบเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และผลกระทบของมาตรการการควบคุมการส่งออกของการขนส่งสินค้าทางถนน ส่งผลให้การขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกจากทางใต้ของไทยที่ไปออกยังท่าเรือปีนังนั้นประสบปัญหา ความแออัด และประกอบกับข้อจำกัดต่าๆ ของท่าเรือน้ำลึกสงขลาเช่น ความลึกร่องน้ำ, จำนวนเรือและตารางเรือที่ให้บริการไม่เพียงพอ ดังนั้น ผู้ส่งออกสินค้าทางใต้ของไทย ได้พิจารณาแนวทางการส่งออกสินค้า โดยใช้เรือขนส่งชายฝั่งรับตู้สินค้าที่ท่าเรือในเขตจังหวัดภาคใต้ และนำไปบรรทุกเรือแม่เพื่อส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบัง แต่การขนส่งแนวทางนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการยกตู้ซ้ำซ้อน (Double Handling) จึงทำให้ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 17,000 บาท/TEU สูงกว่าการใช้เรือ Feeder ที่ส่งสินค้าไปต่างประเทศเลย ดังนั้นสรท. ได้เสนอขอให้การท่าเรือฯ พิจารณาแก้ไขประกาศ เรื่องการกำหนดอัตราค่าภาระของเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ในส่วนของค่ายกตู้สินค้า เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการขนส่งให้กับผู้ส่งออก 
นอกจากนี้ ผู้ส่งสินค้าทางใต้ได้เสนอในอีกแนวทางหนึ่ง คือการนำตู้สินค้าที่ผ่านพิธีการศุลกากรส่งออกแล้ว ทำการขนส่งลงเรือขนส่งชายฝั่ง (Barge) แล้วไป lighter เพื่อขึ้นเรือใหญ่ทะเล ในบริเวณน่านน้ำเขตภาคใต้ของไทย เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทย ยังไม่เคยมีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวกับสินค้าที่บรรจุตู้คอนเทนเนอร์ ดังนั้นข้อเสนอเพื่อผลักดันการดำเนินการดังกล่าวนั้นคือ 1) หารือร่วมกันระหว่างกรมศุลกากร, กรมเจ้าท่า เพื่อกำหนดจุดจอดเรือกลางทะเลที่จะรอรับบรรทุกสินค้า โดยกรมเจ้าท่าจะเป็นผู้กำหนดจุดที่เหมาะสมในการจอดเรือ และศุลกากรจะต้องประกาศให้เป็นทำเนียบท่าเรือ ซึ่งจะต้องเป็นเขตควบคุมของศุลกากร 2) กรมศุลกากรจะต้องจัดทำประกาศกรมฯ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การดำเนินงาน ที่ชัดเจนมารองรับ เพื่อให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างทั่วกัน ทั้งนี้การออกประกาศดังกล่าวอยู่ในอำนาจที่อธิบดีฯ จะสามารถดำเนินการได้ 3) หารือร่วมกับสายเรือ/ผู้ให้บริการเรือชายฝั่ง เกี่ยวกับปริมาณตู้สินค้าที่จะทำการขนส่งกลางทะเล  รวมถึงต้องพิจารณาการทำประกันภัยสินค้าเพิ่มเติม เนื่องจากการขนส่งในรูปแบบนี้จะมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับตู้สินค้าได้
การขนส่งสินค้า “ทางถนนข้ามพื้นที่จังหวัดภายในประเทศเพื่อการส่งออก” ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การกำหนดมาตรการสำหรับการขนส่งสินค้าที่ในขณะนี้แต่ละพื้นที่มีการประกาศระเบียบเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไป รวมถึงการมอบอำนาจให้ท้องถิ่นใช้มาตรการเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดทำให้เจ้าหน้าที่ในบางจังหวัดใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้รถขนส่งสินค้าเข้าไปส่งสินค้าในบางพื้นที่ เช่น โรงงานข้ามเขตจังหวัดหรือแรงงานที่อยู่คนละจังหวัดกับโรงงาน หากเจ้าหน้าที่ยิ่งใช้มาตรการเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลให้สินค้าเกิดการขาดตลาดเป็นวงกว้างการกำหนดระยะเวลาในการปิดถนนหรือเส้นทางขนส่งที่ไม่ชัดเจนทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถ ทราบถึงแนวทางปฏิบัติและวางแผนขนส่งได้  
แนวทางปฏิบัติสำหรับการขนส่งสินค้าอ้างอิงมติการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) (ศบค.) โดย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ และประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง การขนส่งสินค้าข้ามพื้นที่จังหวัด บริเวณด่านชายแดน ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยการขนส่งสินค้าต้องประกอบด้วย 1) ผู้ขับรถต้องพกใบอนุญาตขับรถและบัตรประชาชน 2) เอกสารใบกำกับการขนส่ง ใบส่งของที่มีการระบุต้นทาง ปลายทาง 3) แบบฟอร์มสอบถามสุขภาพ ต.8-คค ทั้งผู้ขับรถและพนักงานติดรถ 4) สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาปฏิบัติงาน

ข้อเสนอแนะของ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย 
1. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้จัดทำข้อเสนอแนะรองรับผลกระทบจาก COVID-19 ต่อภาคการส่งออกไทย เพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยข้อเสนอแนะที่จัดทำขึ้นได้พิจารณาทั้งในส่วนของระดับความสำคัญ (สูง/กลาง/ต่ำ) ระยะเวลาการใช้มาตรการที่รองรับทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ครอบคลุมด้านการเงิน ด้านแรงงาน ด้านการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ด้านการตลาด เป็นต้น นอกจากนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้ทำการเปรียบเทียบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง หากแต่หลายมาตรการที่ออกมานั้นยังเพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกและผู้ผลิตยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ในช่วงระยะสั้นและอาจกระทบต่อเนื่องเป็นระยะยาวจนอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ (โดยมีรายละเอียดตามตารางที่ปรากฎด้านล่าง) 
2. ขอให้ภาครัฐมีความชัดเจนในเรื่องของวิธีการดำเนินงานของภาคการส่งออก นำเข้า โรงงานการผลิตและระบบโลจิกสติกส์ หากจำเป็นมีการประกาศเคอร์ฟิวยกระดับเป็น 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ เนื่องจากโรงงานและระบบโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกนำเข้าไม่สามารถหยุดการดำเนินกิจกรรมการทางการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศได้ มิเช่นนั้นแล้วอาจทำให้ engine ตัวสุดท้ายของระบบเศรษฐกิจพัง 
3. เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ ทั้งทางบก ทางราง ทางเรือ และทางอากาศ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 เริ่มคลี่คลาย และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น