แพทย์เตือน ตระหนกโควิด-19 มากไป ส่งผลต่อสุขภาพจิต
แนะปฏิบัติตามหลัก 3 สร้าง “สร้างความปลอดภัย ความสงบ ความหวัง” เชื่อไทยรับมือวิกฤตได้ดี วิเคราะห์ยุโรปยอดพุ่ง ต้นเหตุขาดการสื่อสารให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และอดีตกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า เราสามารถจำแนกสภาพจิตใจของคนได้ 3 ประเภท ดังนี้ 1) ประเภทกังวลน้อยไป กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนอื่น เพราะไม่ปฏิบัติตามหลักแนะนำ พาตัวเองเข้าไปในสถานที่เสี่ยง แออัด เช่น สนามมวย คลับบาร์ ขนส่งสาธารณะ ฯลฯ โดยปราศจากการป้องกันตัวเอง 2) ประเภทกังวลมากเกินไป อาการที่บ่งชี้ว่าเริ่มวิตกกังวลมากไป บางรายอาจเริ่มรู้สึกนอนไม่หลับ ไม่กล้าออกไปไหนมาไหนตามปกติ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต อย่างเช่นปรากฏการณ์กักตุนสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ ทั้งที่ความเป็นจริงเรายังสามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ คำนึงถึงระยะห่างทางสังคม “Social Distancing” และเมื่อกลับมาที่พักควรอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดทันที และ 3) ประเภทกังวลพอดี กลุ่มคนเหล่านี้คือรากฐานสำคัญของสังคม เพราะมีความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลตัวเอง เป็นแบบอย่าง และช่วยแนะนำกลุ่ม 1, 2
“สถานการณ์เช่นนี้คนไทยควรคำนึงถึงหลัก 3 สร้าง ได้แก่ ‘สร้างความปลอดภัย’ ด้วยหลักล้าง เลี่ยง ลด ต่อมาคือ ‘สร้างความสงบ’ ไม่ตื่นกลัว จัดเวลา รับและส่งต่อข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น และสุดท้าย ‘สร้างความหวัง’ ข้อนี้ต้องอาศัยพลังสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเชิงบวก ตัวอย่างที่ดีๆ และทางออกของปัญหาร่วมไปกับ ‘2 ใช้’ คือใช้พลังทางสังคมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว องค์กร ชุมชนและใช้สัมพันธภาพที่มีอยู่ในการให้กำลังใจ ดูแลซึ่งกันและกัน ขณะที่ภาครัฐอย่างกระทรวงสาธารณสุข และ สสส. ก็ได้จับมือผลิตข้อมูลความรู้การดูแลตัวเอง ผ่านช่องทางที่หลากหลาย เช่นเฟซบุ๊ก ‘ไทยรู้สู้โควิด’ เพื่อสื่อสารทางตรงกับประชาชน จึงเป็นโอกาสดีให้เราทุกคนนำวิธีการรักษาสุขอนามัยที่ดีมาพัฒนาองค์กรและครอบครัว” นพ.ยงยุทธ กล่าว
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยถือว่ารับมือการระบาดระยะที่ 2 ได้ดีและนานพอสมควร หากเข้าสู่เฟส 3 อาจจะไม่รุนแรงมากเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศ โดยในส่วนของยุโรปนั้นเราได้บทเรียน มาพอสมควร ที่ผ่านมาคนยุโรปส่วนใหญ่เชื่อว่าการสวมใส่หน้ากากอนามัยต้องเป็นคนป่วยเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วสามารถป้องกันคนทั่วไปจากการรับเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ ควบคู่กับการล้างมือและสร้างระยะห่างทางสังคม ดังนั้นประสบการณ์ที่ประเทศไทยมีเช่นเดียวกับประเทศที่รับมือกับการสื่อสารได้ดีและมียอดผู้ติดเชื้อน้อยคือสิงคโปร์และไต้หวัน ทำให้ทั่วโลกรับรู้ความสำคัญของการใช้หน้ากากอนามัยในบุคคลทั่วไปมากขึ้น และเชื่อว่าด้วยความร่วมมือของรัฐ บุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชนจะช่วยให้ก้าวผ่านพ้นวิกฤตนี้ร่วมกันไปได้ เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่เคยระบาดในปี 2009