กฟผ. นำโซลาร์เซลล์กึ่งใสในนาข้าวพร้อมสุดยอดนวัตกรรม ร่วมโชว์ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 63
กฟผ. นำระบบไอโอทีสำหรับโซลาร์เซลล์กึ่งใสในนาข้าว ต่อยอดการสร้างพลังงานในพื้นที่เกษตร พร้อมสุดยอดนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ รวม 4 ผลงาน ร่วมจัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ วันที่ 2 – 6 ก.พ. นี้ หวังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม สร้างแรงบันดาลใจและรากฐานที่แข็งแกร่งให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยก้าวสู่เวทีระดับโลก
วานนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2563) รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2563 พร้อมมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ และรางวัล 2019 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ Event Hall 102 - 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โอกาสนี้ ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้แทน กฟผ. พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิจัย นักประดิษฐ์ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงสื่อมวลชน ร่วมในพิธี
ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวว่า งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่สังคมและประเทศชาติ กฟผ. จึงให้ความสำคัญ สนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ กฟผ. ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติระดับดีมาก สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากผลงาน “ระบบสั่งการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ” เป็นผลงานของนายรัฐวิชญ์ พุฒิพัฒนาศักดิ์ และคณะ จากฝ่ายระบบควบคุมและป้องกัน ซึ่งผลงานนวัตกรรมนี้สามารถประมวลผลและสั่งการโรงไฟฟ้าให้สามารถผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้แบบเรียลไทม์ ช่วยรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบส่งกำลังไฟฟ้า
นอกจากนี้ กฟผ. ได้นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ร่วมจัดแสดงภายในงานวันนักประดิษฐ์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ จุดประกายให้กับผู้เข้าชมงานได้เห็นถึงความสำคัญของการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 4 ผลงาน ประกอบด้วย 1) ระบบไอโอทีสำหรับการนำโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้กับเกษตรกรรมการปลูกพืช จากฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมของ กฟผ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สร้างต้นแบบสถานีโซล่าร์เซลล์ชนิดกึ่งใสพร้อมระบบไอโอทีควบคุมด้วยอินเตอร์เน็ตทดลองปลูกข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำพลังงานที่ผลิตได้ในพื้นที่การเกษตรมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอื่น ๆ รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนาไปสู่ระบบฟาร์มอัจฉริยะ 2) ชุดเครื่องมือเปลี่ยนลูกถ้วยสายส่งไฟฟ้าแรงสูงแบบสายคู่โดยไม่ต้องดับกระแสไฟฟ้าจากฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ ทำให้ขณะเปลี่ยนลูกถ้วยสามารถส่งกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ 3) สิ่งประดิษฐ์ “การประเมินอายุการใช้งานที่เหลือของหม้อแปลงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า” จากฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า โดยวิเคราะห์ความแข็งแรงจากฉนวน ทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้า และ 4) อุปกรณ์ชดเชยค่ากำลังไฟฟ้ารีแอกทีฟขณะสตาร์ทมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ จากฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ ซึ่งนำมาใช้กับระบบระบายน้ำของเหมืองแม่เมาะ จากปกติต้องใช้กำลังไฟในการสตาร์ทมอเตอร์ไฟฟ้า 5 - 7 เท่า ลดเหลือไม่เกิน 1.5 เท่า ซึ่งทั้ง 4 ผลงาน ยังได้รับรางวัลจากเวทีระดับนานาชาติอื่น ๆ อาทิ งาน The International Trade Fair - Ideas, Inventions and New Products (iENA 2019) ณ ประเทศเยอรมนี และรางวัลพิเศษจากประเทศโปแลนด์ เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน