เอสซีจี ร่วมกับ กปภ. นำร่องยกระดับมาตรฐานท่อประปาขนาดใหญ่ ด้วยนวัตกรรมพลาสติก PE112 จากเอสซีจี รายแรกของโลก ล่าสุด ได้เปิดส่งน้ำลอดใต้ทะเลสู่เกาะสมุยเป็นครั้งแรกในไทย ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี
ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ยกระดับมาตรฐานการส่งน้ำประปาผ่านท่อขนาดใหญ่ลอดใต้ทะเลจาก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราชไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร โดยได้นำนวัตกรรมเม็ดพลาสติก PE112 จากเอสซีจี รายแรกของโลกมาใช้ในการผลิตท่อส่งน้ำลอดใต้ทะเล ซึ่งให้คุณสมบัติพิเศษ คือ ทนแรงดันสูงขึ้นร้อยละ 10 เทียบกับเม็ดพลาสติก PE100 ที่ใช้ทั่วไปในตลาด จึงมั่นใจในคุณภาพ และมาตรฐานความปลอดภัย สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ โครงการ “ก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย” จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคและบริโภคของชาวสมุย รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผยว่า น้ำจืดสำหรับอุปโภคและบริโภคบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีมักขาดแคลนในช่วงหน้าแล้ง กปภ. ตระหนักถึงความต้องการของประชาชน จึงจัดทำ “โครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย” เพื่ออำนวยความสะดวกด้านน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างทั่วถึง ในปัจจุบัน โครงการดังกล่าวได้แล้วเสร็จและเปิดจ่ายน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความสำเร็จในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนานวัตกรรมวัสดุสำหรับผลิตท่อส่งน้ำประปาของภาคธุรกิจ ซึ่ง กปภ. ได้เลือกใช้วัสดุคุณภาพสูง นวัตกรรมเม็ดพลาสติก PE112 จากเอสซีจี ที่มีความเหนียว แข็งแรง และทนต่อแรงดันใต้ทะเล สามารถเพิ่มเสถียรภาพในการวางท่อลอดใต้ทะเลได้ง่าย พิสูจน์ได้จากเหตุการณ์พายุโซนร้อนปาบึกเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่พายุไม่สามารถสร้างความเสียหายต่อโครงการได้เลย นอกจากนี้ ท่อส่งน้ำยังสามารถรองรับผู้ใช้น้ำได้เพิ่มมากขึ้นอีกกว่า 64,000 คน ครอบคลุมพื้นที่จ่ายน้ำฝั่งสุราษฎร์ธานี อำเภอพุนพิน อำเภอเมือง อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอดอนสัก และบนอำเภอเกาะสมุย
นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่นวัตกรรมเม็ดพลาสติกของเอสซีจี ช่วยยกระดับมาตรฐานการส่งน้ำประปาผ่านท่อขนาดใหญ่ลอดใต้ทะเลได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ถือเป็นการนำนวัตกรรมมาช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับชาวสมุย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่เกาะสมุยนี้อีกปีละกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง
นวัตกรรม SCG™ HDPE H112PC เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนคอมพาวนด์สีดำ มาตรฐานระดับโลก คิดค้นและผลิตด้วยเทคโนโลยีของเอสซีจีที่ได้รับการจดสิทธิบัตร สามารถทนแรงดันได้สูงขึ้นร้อยละ 10 ด้วยวัสดุที่แข็งแรงกว่าเม็ดพลาสติก PE100 ที่ใช้ทั่วไปในตลาด ถือเป็นรายแรกของโลกที่สามารถทนแรงดันได้ในระดับนี้ จึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถ และความปลอดภัยให้กับโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำที่มีข้อจำกัดในการติดตั้งและซ่อมแซมทำให้ประชาชนบนเกาะสมุยมีน้ำสะอาดใช้อย่างทั่วถึง เอสซีจีจะมุ่งพัฒนานวัตกรรมพลาสติกเพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิต และพัฒนาความเจริญให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเอสซีจี พร้อมร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหาโซลูชั่นที่เหมาะสม และตอบโจทย์โครงการอื่นๆ ในอนาคต นายศักดิ์ชัย กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย
เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดของเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ในช่วงฤดูแล้งได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน กปภ.จึงได้ดำเนินการก่อสร้างระบบผลิตและวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ ไปยังเขตพื้นที่ จ.สุราษฏร์ธานี ผ่านอำเภอดอนสัก อำเภอขนอม จ.นครศรีธรรมราช และเดินท่อลอดใต้ทะเลไปยัง อำเภอเกาะสมุย งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะนี้ งานก่อสร้างวางท่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งสามารถรองรับผู้ใช้น้ำได้เพิ่มมากขึ้นอีก 64,000 ราย แยกเป็นพื้นที่จ่ายน้ำฝั่งสุราษฎร์ธานี 45,000 ราย ในอำเภอพุนพิน อำเภอเมือง อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอดอนสัก และพื้นที่จ่ายน้ำบนอำเภอเกาะสมุย 18,900 ราย
สำหรับการศึกษาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น กปภ. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้ทำการศึกษาผลกระทบก่อนสิ่งแวดล้อมก่อนการดำเนินโครงการ ผลสำรวจแสดงว่าแนวท่อประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมากและไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดความเสียหาย โดยการดำเนินงานดังกล่าว เมื่อแล้วเสร็จก็จะสามารถขยายพื้นที่การให้บริการน้ำประปาแก่ 3 อำเภอของ จ.สุราษฎร์ธานี และอีก 1 อำเภอ ของ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรองรับจำนวนประชากร และนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอ ยั่งยืนต่อไป