ADS


Breaking News

depa ปลดล็อค เปิดเกณฑ์การพิจารณาเมืองอัจฉริยะโชว์ 7 ตราสัญลักษณ์ Smart City เร่งเปิดรับสมัครเมืองทั่วประเทศมาพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบ

     สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประกาศเกณฑ์การพิจารณาเมืองอัจฉริยะ พร้อมการประกาศใช้ 7 ตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมเดินหน้าเปิดรับสมัครเมืองอัจฉริยะเพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (City Challenge) และเผยแพร่แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งภายในประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน
     ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผยว่า สำหรับ ความก้าวหน้าโครงการ Smart City หนึ่งในโครงการสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อให้เมืองใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัย เน้นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง และหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวก ซึ่งล่าสุดทางคณะกรรมการฯ ได้ประกาศเกณฑ์การพิจารณาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งประกอบไปด้วยเกณฑ์ 5 ข้อ คือ 1. ต้องกำหนดพื้นที่และเป้าหมายชัดเจน 2. ต้องมีแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง 3. ต้องมีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองที่ปลอดภัย 4. ต้องมีบริการเมืองอัจฉริยะตามลักษณะ 7 ด้าน และ 5. ต้องมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน พร้อมกันนี้ยังมีการเปิดตัว 7 ตราสัญลักษณ์ เป็นโลโก้เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ที่ผ่านการออกแบบตามประเภทการพัฒนาเมืองโดยหลักการพัฒนาเมืองอัจฉริยะคือการบริหารจัดการ เทคโนโลยี  นวัตกรรม และความยั่งยืน ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาให้เมืองน่าอยู่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างสมดุล แบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่
เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างให้เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และประยุกต์ใช้นวัตกรรม ในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ (เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น)
การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มความสะดวก ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือใช้พลังงานทางเลือกอันเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy) เช่น เชื้อเพลงชีวมวล ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และไฟฟ้าจากพลังงานอื่นๆ เป็นต้น
สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการบริหารจัดการ และติดตามเฝ้าระวัง สิ่งแวดล้อมและสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การเฝ้าระวังภัยพิบัติตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้นอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางสังคม
การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นให้บริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต เช่น การบริการด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ การเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนด้วยการเฝ้าระวังภัยจากอาชญากรรม ไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม 
การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐสะดวก รวดเร็ว เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
     ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ข้อกำหนดเบื้องต้น คณะกรรมการฯ ได้กำหนดให้มีการประเมินการเป็นเมืองอัจฉริยะแผนตามกรอบการพัฒนาเมือง 7 ด้าน ทั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องเข้าเกณฑ์การการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างน้อย 2 ด้าน โดยกำหนดให้ Smart Environment เป็นเงื่อนไขบังคับสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน และบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ (PMC) ได้แต่งตั้งคณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน เพื่อพิจารณาประเมินแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของแต่ละเมือง โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด ตั้งแต่รูปแบบการขอสิทธิ์ รูปแบบการสมัครเข้าโครงการ Smart City ทั้งที่เป็นประเภทกิจการ ทั้งที่เป็นประเภทเมือง หรือเป็นประเภทราชการ และข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะได้ที่ www.smartcitythailand.or.th
     สำหรับขั้นตอนในการสมัครขอรับพิจารณาความเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทย วิธีการรับสมัครทำได้ 3 ขั้นตอนคือ 1. ส่งใบสมัครด้วยตนเอง 2. สมัครที่ Smart City Thailand Office ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล อาคารลาดพร้าว ฮิลล์  3. สมัครทาง www.smartcitythailand.or.th หลังจากนั้นทางสำนักงาน (PMO) จะรวบรวมและคัดกรองข้อเสนอโครงการเบื้องต้น และเสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน (PMC) เพื่อพิจารณาและมอบหมายให้คณะทำงาน 7 Smart พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ และมอบหมายให้คณะทำงาน 7 Smart พิจารณาข้อเสนอให้เป็นไปตามเกณฑ์และติดตามประเมินผลการปรับปรุงข้อเสนอโครงการ หลังจากนั้นคณะทำงาน 7 Smart เสนอผลการพิจารณาต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน (PMC) เสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่ออนุมัติและมอบตราสัญลักษณ์แก่เมืองในลำดับต่อไป