บ้านปากน้ำแขมหนู หมู่ ๙ ตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี “บ้านปากน้ำแขมหนู หินสีชมพูสดใส อาหารทะเลสดใหม่ โบสถ์สีน้ำเงินงามวิไล แลนด์มาร์คใหม่เมืองจันทบุรี”
ประวัติความเป็นมา
ทุกเช้าที่ท่าเรือของชุมชนชาวประมงบ้านปากน้ำแขมหนู จะมีบรรยากาศคึกคักของการค้าขายอาหารทะเล
ใกล้กันกับท่าเรือยังมีสะพานปากแม่น้ำแขมหนูเป็นจุดชมทิวทัศน์ทะเลที่สวยงามที่สุดของจังหวัดด้วย
วัดปากน้ำแขมหนู
วัดปากน้ำแขมหนู หรือ “โบสถ์สีน้ำเงิน” เพราะด้านนอกอุโบสถตกแต่งด้วยลายกระเบื้องสีน้ำเงิน ภายในมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น หลวงพ่อองค์ดำ พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร รูปปั้นสมเด็พระเจ้าตากสิน ศาลเจ้าแม่เมี้ยน ที่โปรดปรานดอกไม้สีแดง หรือปลัดขิก ศาลเจ้าพ่อปากน้ำแขมหนูที่โปรดปรานเบียร์ มีร้านขายของฝากกับ
อาหารของชุมชน และมีถนนคนเดินช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์
วิถีชีวิตชาวประมง
ชมบรรยากาศของเรือเล็กที่ออกไปวางอวนปูอวนกุ้ง และเรือใหญ่ที่ออกทะเลลึก โดยเรือแต่ละลำหากสังเกตุจะไม่เหมือนกัน เพราะใช้งานตามประเภท เช่น เรืออวนปู เรือจับ เรือครอบปลากะตัก เรือท่องเที่ยว เรือประมง-พาณิชย์ ฯลฯ
ล่องเรือชมทิวทัศน์
ล่องเรือสู่บริเวณต้นแม่น้ำสู่คลองวังโตนด มีทิวทัศน์ป่าชายเลน และชุมชนริมคลอง ฯลฯ ส่วนเส้นทางด้านนอกคือบริเวณปากแม่น้ำออกสู่ทะเล ชม “เขาช่อง” หรือช่องว่างระหว่างเกาะที่มีถ้ำ ซึ่งหินได้เคลื่อนตัวลงมาปิดปากถ้ำ และทุกวันพระ ชาวบ้านจะได้ยินเสียงดนตรีลอดออกมา ทั้งสองฝั่งยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่เขาช่อง และศาลเจ้าพ่อเขาช่อง รวมทั้งสามารถเห็นทิวทัศน์แนวหินสีชมพูได้ด้วย
อาหารท้องถิ่น
“ยำไข่แมงดา” ไข่จะเยอะ มัน และอร่อยในช่วงวางไข่เดือนสิงหาคม แต่รับประทานได้ตลอดปี “น้ำพริกไข่ปู” ไข่ปูล้วนๆ มีมากในฤดูวางไข่เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน “หมึกไข่ต้มน้ำดำ” ต้องจับแบบสดเท่านั้น จึงจะได้ “ขี้ ” สีดำแบบนี้ ต้มกับหัวหอม พริกไทย น้ำปลา จนได้ความหวานธรรมชาติ “ปลากระบอกต้มส้มระกำ” ได้รสเปรี้ยวจากระกำ และมะขามเปียก “แกงป่าปลาเห็ดโคน” หรือปลาลูกโคน หอมเครื่องแกงป่าจากใบยี่หร่า และกระชาย
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ปลาอินทรีย์เค็ม ปลาทูตากแห้ง ปลาหมึกกลมแห้ง ปลากะตักตากแห้ง ปลาหมึกผ่าตากแห้ง ปลากรอบปรุงรส กะปิแท้ชุมชนปากน้ำแขมหนู แมงกะพรุนอบเกลือซีฟู้ดหรือแมงกะพรุนกรอบลวกจิ้ม กุ้งแห้ง หมึกกรอบปรุงรส หมึกกลมเจาะตา
ข้อมูลติดต่อ
บ้านปากน้ำแขมหนู หมู่ ๙ ตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
คุณวราภรณ์ รื่นจิตต์ โทร. ๐๖๕ ๓๙๓ ๕๖๓๒