ADS


Breaking News

นำร่อง Gastronomy Tourism เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน จังหวัดสุรินทร์

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจและจัดทำเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) โดยครั้งนี้ พามาจังหวัดสุรินทร์ เพื่อขานรับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคของรัฐบาล ด้วยการใช้การท่องเที่ยวมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก มาดำเนินการจัดเป็นกิจรรมท่องเที่ยวนำร่องเพื่อให้สื่อมวลชนได้สัมผัสประสบการณ์จริง
27 พฤษภาคม จากดอนเมือง ออกเดินทางสู่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์
ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เดินทางถึงท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และนั่งรถตู้ต่อไปยังจังหวัดสุรินทร์
อาหารมือเช้าที่ร้านทิพย์รส วงเวียนน้ำพุ จ.สุรินทร์
สักการะหลวงปู่ดุล ที่วนอุทยานพนมสวาย
เที่ยวชมวนอุทยานพนมสวาย เขาศักดิ์สิทธ์

วนอุทยานพนมสวาย สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ที่มีร่องรอยอารยธรรม ของชาวขอมโบราณ หลอมรวมกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางพุทธศาสนา ที่มีชื่อเสียง ทุกปีจะมีประเพณีสำคัญในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ชาวเมืองสุรินทร์จะชวนกันเดินขึ้นเขาพนมสวาย จนเป็นประเพณีที่ทำสืบทอดกันมาเพื่อเป็นสิริมงคลต่อตนเอง คำว่า พนมสวาย เป็นคำภาษาพื้นเมืองของชาวสุรินทร์ มีความหมายว่า ภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาบัว อำเภอเมือง และตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสวาย มีพื้นที่ทั้งหมด 18,145 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2527 ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ของจังหวัดสุรินทร์ เต็มไปด้วยป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม นอกจากนี้ยังเป็นวนอุทยานเฉลิมพระเกียรติในประเทศไทย และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา

กบยัดไส้ หรือ อังแก๊บบ๊อบ

รับประทานอาหารกลางวันที่ แม่พิมพ์ปลาเผา
เช็กอินตลาดน้ำราชมงคลสุรินทร์ เพื่อชมชิมอาหารและของพื้นถิ่น

ตลาดน้ำราชมงคลสุรินทร์ ตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำลำห้วย หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ถนน สุรินทร์ - ปราสาท ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์จังหวัดสุรินทร์ ห่างจากตัวจังหวัดเพียง 3 กิโลเมตร โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ร่วมกับ กองกำลังสุรนารี ร่วมก่อตั้ง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ภายในจังหวัด เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ นอกจากจะเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอย ในตลาดริมน้ำแล้ว ยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เลาะเลี้ยวริมฝั่งลำน้ำห้วยเสนงซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนในจังหวัดสุรินทร์มายาวนาน รวมถึงกิจกรรมนั่งช้างชมป่า ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยการนั่งช้างไปตามเส้นทางประวัติศาสตร์ 60 ปี การเสด็จประพาสสุรินทร์ ตลาดน้ำราชมงคลสุรินทร์ เปิดเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 น.–18.00 น. ตลาดน้ำแห่งนี้จะคึกคักเป็นพิเศษในวันอาทิตย์ เนื่องจากมีตลาดนัดกรีนมอร์ จำหน่ายสินค้าชุมชนในบริเวณเดียวกันด้วย
ใช้กระจกส่องขึ้นมาให้เห็นลายผ้าที่แท้จริง
ใช้ 4 คน ในการทอ

ไหมกะไหล่ทอง 3%

ชมผ้าไหมทอบ้านท่าสว่าง  (กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา)

ผ้าไหมทอบ้านท่าสว่าง  หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมผ้าไหม แห่งเดียวของประเทศ บ้านท่าสว่าง หมู่ที่ 1 ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เป็นหนึ่งหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ บ้านท่าสว่างเดิมชื่อบ้านเตรี๊ยะ เป็นภาษาพื้นบ้าน (เขมร) คำว่าเตรี๊ยะ เป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง ภาษาไทยว่าต้นชาด บรรพบุรุษของชาวบ้านเตรี๊ยะ ได้อพยพมาจากบ้านระเภาร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ห่างจากบ้านเตรี๊ยะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2485 ได้รวมหมู่บ้านเตรี๊ยะกับหมู่บ้านอื่นๆ เป็นตำบลท่าสว่าง และบ้านเตรี๊ยะ ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบ้านท่าสว่างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปี 2553 บ้านท่าสว่าง ได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมผ้าไหม แห่งเดียวของประเทศ โดยกรมการพัฒนาชุมชนกรมพัฒนาชุมชนได้ดำเนินงานโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาหมู่บ้านที่มีจุดเด่น และมีเอกลักษณ์ ให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในหมู่บ้านจากบริการด้านท่องเที่ยว
สินค้าในบริเวณบ้านท่าสว่าง
แซ่บนัวของกิน เมืองสุรินทร์ถิ่นช้าง
สลอตราว หรือแกงเผือก เป็นอาหารที่มีรสจืด นิยมใส่ปลาเป็นส่วนประกอบ อาจใช้รับประทานเปล่า ๆ คล้ายก๋วยเตี๋ยวก็ได้ ชาวเขมรและชาวกูย ที่มีฐานะ นิยมปรุงให้จืดเพื่อรับประทานเปล่า ๆ เผือกเป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรทสูง ใช้รับประทานแทนข้าวได้ ปลาเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง
ซันลอเจก (แกงกล้วย) “ซันลอเจก” เป็นภาษาเขมร หมายถึง “แกงกล้วย” ซันลอ = แกง, เจก = กล้วย เนื่องจากเมื่อก่อน การคมนาคมขนส่งต่าง ๆ ยังไม่สะดวก อาหารการกินต่าง ๆ ล้วนหาได้จากเรือกสวน ไร่นา และรอบ ๆ บริเวณบ้าน เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน เจ้าของงานจะจัดหาอาหารต้อนรับผู้มาร่วมงานศพ ซึ่งมักจะทำแกงกล้วยเป็นอาหารหลัก เพราะบ้านเกือบทุกหลัง นิยมปลูกต้นกล้วย เพราะต้นกล้วยสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง
อันซอมจรุ๊ก “อันซอมจรุ๊ก” ลักษณะเป็นท่อนยาวๆ ข้างในเป็นข้าวเหนียวผสมกับถั่วลิสง เนื้อหมูและมันหมู ปรุงรสให้ออกเค็มๆ หน่อยแล้วห่อด้วยใบตอง ชิมแล้วก็ถือว่ารสชาติไม่เลวเลยได้รสเค็มๆ มันๆ พร้อมกลิ่นหอมจากใบตอง จะว่าไปรสชาติก็ออกจะคล้ายๆ กับ “บ๊ะจ่าง” อยู่หน่อยๆ เพียงแต่ไม่ได้มีเครื่องเคราเหมือนกับบ๊ะจ่างของคนจีน     
หมก เป็นอาหารอีสานและอาหารลาวประเภทหนึ่ง เป็นการนำเนื้อสัตว์และผักมาเคล้ากับน้ำพริกแกง ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ห่อด้วยใบตองทรงสูง นำไปนึ่งหรือย่างให้สุก ใส่ต้นหอมและใบแมงลักซึ่งเป็นเครื่องปรุงสำคัญ บางบ้านใส่ผักชีลาวด้วย ตัวอย่างอาหารประเภทหมก ได้แก่ หมกหน่อไม้ หมกไข่ปลา หมกหัวปลี หมกไข่มดแดง หมกปลา หมกเห็ด หมกฮวก เครื่องแกงส่วนใหญ่ประกอบด้วย พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง ตะไคร้ซอย ใบมะกรูด เป็นหลัก หรือบางบ้านก็จะใส่กระชายหรือข่าด้วย
เปิดประสบการณ์ ทดลองทำซอมจรุ๊ก และหมกเห็ด อาหารพื้นถิ่นพร้อมรับประทานอาหารเย็นที่ทีก้าฟาร์ม
ที่พัก โรงแรม สลีฟโฮเทล

วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑
 ปราสาทศรีขรภูมิ อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์
ทับหลัง ศิวนาฏราช
ลวดลายแกะสลักลงบนหินทราย
ยอดปราสาทศรีขรภูมิ นำลงมาหลังจากมีการบูรณะปราสาท

ปราสาทศรีขรภูมิ ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 226 โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปอีก 1 กิโลเมตร ปราสาทศรีขรภูมิประกอบด้วยปรางค์อิฐ 5 องค์ องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน มีปรางค์บริวารล้อมรอบอยู่ที่มุมทั้งสี่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออกปรางค์ทั้งห้าองค์มีลักษณะเหมือนกัน คือ องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีชิ้นส่วนประดับทำจากหินทรายสลักเป็นลวดลายต่างๆ ทั้งส่วนที่เป็นทับหลังและเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง และกลีบขนุนปรางค์ ส่วนหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น องค์ปรางค์ประธานมีทับหลังสลักเป็นรูปศิวนาฏราช (พระอิศวรกำลังฟ้อนรำ) บนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัวอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีรูปพระคเนศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี (นางอุมา) อยู่ด้านล่าง เสาประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดาลายก้ามปูและรูปทวารบาล
ชิมกาละแมศรีขรภูมิที่ร้านกาละแมตราปราสาทเดียว
รับประทานอาหารแซ่บนัว ร้านส้มตำกระเทย ส้มตำเจ้าเด็ดแซ่บนัวของจังหวัดสุรินทร์
เยี่ยมชมหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ชมการแสดงช้าง สุสานช้าง ศูนย์คชศึกษา
 เชือกปะกำคล้องช้างทำมาจากหนังควายตากแห้ง

ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมวิถีความเป็นอยู่ ความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับช้าง รวมทั้งประเพณี และวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมอย่างใกล้ชิด ชาวบ้านตากลางแต่ละครัวเรือนจะมีช้างที่เลี้ยงไว้อาศัยอยู่รวมกัน จนช้างที่พวกตนเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของตน ก่อให้เกิดสายใยความผูกพันที่แน่นเฟ้นขึ้น ระหว่างคนกับช้าง ณ บ้านตากลาง จ. สุรินทร์ ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก

ชาวบ้านตากลาง ดั้งเดิมเป็น ชาวส่วย (กูย) หรือ กวย ที่มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้าง ส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านตากลาง ไม่สามารถไปคล้องช้างเช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้าง และฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้าง (Thailand Elephant show) ของจังหวัดทุกปี
ลักษณะการเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลาง เหมือนการเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวได้ไปที่บ้านตากลาง นอกจากจะได้เห็นสภาพโรงช้างดังกล่าวแล้ว ยังจะได้สัมผัสการดำรงชีวิตของ ชาวส่วย พร้อมทั้งจะได้พบปะพูดคุยกับหมอช้าง ที่มีประสบการณ์ในการคล้องช้างมาแล้วหลายครั้งได้ตลอดเวลา รวมทั้งยังสามารถเดินทางชมจุดบริเวณที่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมารวมกัน ซึ่งห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร มีทัศนียภาพที่งดงามน่าพักผ่อนหย่อนใจ และชวนให้ศึกษาในเชิงของธรรมชาติด้วย


อีกสถานที่ ที่แนะนำให้ไป ปราสาทบ้านพลวง  เป็นปราสาทขนาดเล็ก ๑ องค์ ก่อสร้างด้วยหินทรายสีขาวบนฐานศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๘ เมตร ยาวประมาณ ๒๓ เมตร ปราสาทมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีประตูทางเข้าออกด้านทิศตะวันออก ส่วนอีก ๓ ด้านทำเป็นประตูหลอก ทับหลังด้านทิศตะวันออกและทิศใต้สลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังด้านทิศเหนือเป็นภาพพระกฤษณะปราบนาคกาลิยะ ส่วนทับหลังด้านทิศตะวันตกไม่ได้สลักภาพ ซึ่งหน้าบันด้านทิศตะวันออกสลักเป็นภาพพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ หน้าบันทิศเหนือสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และหน้าบันด้านทิศใต้สลักเป็นภาพบุคคลประทับนั่งเหนือหน้ากาล บริเวณรอบปราสาทมีสระน้ำล้อมรอบเว้นทางเข้าด้านหน้า โดยลักษณะของปราสาทบ้านพลวง จะคล้ายกับปรางค์น้อยบนเขาพนมรุ้ง ประกอบกับลวดลายที่พบบนหน้าบันและทับหลัง กำหนดรูปแบบทางศิลปะได้ว่าป็นศิลปะขอมแบบบาปวน  อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖

ที่มาของโครงการ
ตามกระแสการท่องเที่ยวโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ส่งผลให้ทุกภาคส่วน ต้องใช้ศักยภาพ ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และการขับเคลื่อนกลยุทธ์ เพื่อความเป็นเลิศทางการตลาด การประชาสัมพันธ์ และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทาง และสร้างความชัดเจนในกระบวนการส่งเสริม ผลักดัน ปรับเปลี่ยน และสร้างสินค้า บริการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว ความสุขอยางหนึ่งเมื่อได้มาเที่ยวเมืองไทย นั่นคงไม่พ้นการได้เรียนรู้ เปิดรับประสบการณใหม่ๆ กับเรื่องราว “การกิน” หนึ่งในซิกเนเจอร์ของเมืองไทย ที่ใครๆก็พลาดไม่ได้ ไม่เพียงแค่เปิดตาให้เห็นถึงความ มหัศจรรย์แห่งอาหารไทยที่ทำให้สัมผัสได้ถึงวิถีชีวิต เรื่องราวความน่าสนใจในศาสตร์และศิลป์แห่งศิลปะ วัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิตในแง่มุมต่างๆ แล้ว ยังสนุกเพลิดเพลิน อิ่มเอมไปกับอรรถรสของรสชาติอาหารที่ แตกต่างกัน ในแต่ละพื้นถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสัญลักษณ์ ความโดดเด่นของอาหารในแต่ละภูมิภาคได้อยางชัดเจน ด้วยเหตุนี้ เมืองไทยจึงไม่ได้มีดีเพียงแค่อาหารริมทาง สไตลสตรีทฟู้ด เท่านั้น อาหารไทยที่ชวนสร้าง ความอะเมซซิ่ง ยังมีอาหารถิ่นจานอร่อย สไตล์วิถีไทยดั้งเดิมแบบพื้นบ้าน และอาหารไทยต้นตำรับที่เน้นความ วิจิตรบรรจง ในการปรุงแต่ง และจัดจานสไตล์ชาววัง ชวนให้ตื่นตาตื่นใจไปกับรูปแบบการนำเสนอ เช่นเดียวกับการยกระดับการพัฒนา เมนูสตรีทฟู้ดพื้นถิ่นแบบโลคัล สู่การเป็นอาหารไทยเชิงสร้างสรรค์ ผ่านการ ประยุกต์เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าก็ยิ่งทำให้ อาหารไทยครบรส ทั้งอาหารตา อาหารใจ และอาหารที่คุณสัมผัส และรับรู้ถึงรสชาติความอร่อยได้ในแบบที่บางครั้งอาจคาดไม่ถึง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจและจัดทำเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) ไว้จำนวน 10 เส้นทางกระจายไปทุกภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดตาก พะเยา สกลนคร สุรินทร์ ตราด ราชบุรี ระนอง สตูล อ่างทอง-สิงห์บุรี และลพบุรี   เพื่อขานรับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคของรัฐบาล ด้วยการใช้การท่องเที่ยวมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยจาก 10 เส้นทางดังกล่าว ททท. ได้พิจารณาเลือก 5 เส้นทางได้แก่ จังหวัดตาก สุรินทร์ ตราด สตูล และลพบุรี มาดำเนินการจัดเป็นกิจรรมท่องเที่ยวนำร่องเพื่อให้สื่อมวลชนได้สัมผัสประสบการณ์จริง



วัตถุประสงค์  
1. เพื่อสร้างสรรค์และออกแบบสินค้าเส้นทางอาหารไทย (Gastronomy Tourism) เส้นทางสายภูมิปัญญา และผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เกิดการรับรู้ และเป็นไปตาม Lifestyle ของกลุ่มเป้าหมายสำหรับ นักท่องเที่ยว และกลุ่มตลาดในประเทศ
2. เพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวพร้อมขายที่สร้างสรรค์ และพัฒนาขึ้นตามแนวทางที่กำหนด
3. เพื่อสร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็น World Destination ทางด้านอาหาร
4. สร้างการรับรู้และส่งเสริมให้อาหารไทยเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวที่สำคัญสามารถกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว และมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น