รพส.ทองหล่อ เปิด “คลินิกแมว” เอาใจคนรักแมวย่านพระราม 9 เยี่ยมชมบริการที่ใส่ใจทุกรายละเอียด พร้อมนำทีมหมอแมวแนะวิธีดูแลแมวแบบมือโปร
เพราะเข้าใจพฤติกรรมแมวและรู้ใจคนรักแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จึงได้เปิด คลินิกแมว เพื่อให้บริการตรวจรักษาโรคแมวโดยเฉพาะ โดยล่าสุดได้เปิดคลินิกแมวแห่งใหม่ที่สาขาพระราม 9 ซึ่งนับเป็นแห่งที่ 4 ต่อจากสาขารามอินทรา สิรินธร-ปิ่นเกล้า และเชียงใหม่ โดยงานเปิดตัวคลินิกแมวครั้งนี้จัดขึ้นในธีม Meownificent Sakura Garden Party เนรมิตพื้นที่เป็นงานปาร์ตี้เพื่อต้อนรับคนรักแมว และบรรดาแมวเซเลบที่มาร่วมจิบชาในสวนซากุระในช่วงหน้าร้อนที่เป็นเทศกาลฮานามิของประเทศญี่ปุ่น นำทีมโดย ฮาชิ ฮาเนะ Able มีมี เส้าหลิน มีบุญ พี่โบน มารุ และเจ้าบารอล
หนึ่งในไฮไลต์ของงานคือ การเปิดให้เข้าเยี่ยมชมคลินิกแมว ที่เรียกว่าใส่ใจในทุกรายละเอียดความต้องการของแมวและคนรักแมวอย่างแท้จริง ซึ่งมีทั้งบริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านโรคแมว พื้นที่รอตรวจ ห้องตรวจ วอร์ดแมวที่แยกสำหรับแมวโดยเฉพาะโดยไม่รวมกับสุนัขเพื่อลดความเครียดให้แมวและสอดคล้องกับพฤติกรรมของแมว อุปกรณ์การแพทย์ทันสมัย เช่น CT Scan/Endoscope/Ultrasound เพื่อวินิจฉัยโรคที่ซับซ้อนของแมว และการตกแต่งในบรรยากาศผ่อนคลายที่ทำให้แมวไม่เครียดเมื่อมาใช้บริการ
ภายในงาน เมสินี วิสิฐนรภัทร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ยังได้นำทีมสัตวแพทย์ด้านการรักษาแมว ทั้ง สพ.ญ.พนิดา เดชมณีธรชัย, สพ.ญ.ประพาฬรัตน์ ศุภสิทธิจันทร์, สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ และ สพ.ญ.ศรัญญา ประพิตรภา มาให้ความรู้และไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเลี้ยงและดูแลแมวอย่างถูกวิธี
คุณหมอทั้ง 4 ท่านได้ร่วมกันให้ความรู้ในด้านต่างๆ ที่น่าสนใจ เริ่มจาก การป้องกันเห็บหมัด ซึ่งได้สร้างความรำคาญ และดูดเลือดจนทำให้แมวเป็นโรคโลหิตจางแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคต่างๆ เช่น พยาธิเม็ดเลือด พยาธิตัวตืด หากแมวตัวไหนแพ้น้ำลายเห็บหมัดก็จะเป็นโรคผิวหนังอักเสบได้ ซึ่งคุณหมอได้ให้คำแนะนำว่าควรใช้ยาป้องกันเห็บหมัดหยดหลังทุกเดือน ซึ่งยาบางตัวจะช่วยป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจได้ด้วย หรืออาจใช้ปลอกคอกำจัดเห็บหมัด นอกจากนี้ ควรจัดการที่สิ่งแวดล้อมร่วมด้วย เพราะเห็บหมัดที่พบบนตัวแมวมีเพียง 10% ที่เหลือยังอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยแนะนำให้ทำความสะอาดผ้าปูที่นอนผ้าห่มของแมว และพ่นน้ำยาฆ่าเห็บหมัดบริเวณซอกหลืบบ้านและสนามหญ้าด้วย
ทางด้าน อาหารและวัคซีน คุณหมอแนะนำว่าในช่วงปีแรกให้กินอาหารสูตรลูกแมว ซึ่งจะมีพลังงานสูง เหมาะกับการเจริญเติบโต เมื่ออายุ 1-7 ปี และไม่มีปัญหาสุขภาพให้กินอาหารสำหรับแมวโต แต่กรณีที่มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ ตับ ไต ควรกินอาหารกลุ่มประจำโรค หากอายุมากกว่า 7 ปี และไม่มีโรคประจำตัวต้องเปลี่ยนเป็นอาหารสูตรแมวแก่ ดังนั้นก่อนที่จะเปลี่ยนอาหารจึงควรตรวจสุขภาพก่อนว่าป่วยหรือเปล่า ส่วนการฉีดวัคซีน คุณหมอได้แบ่งวัคซีนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ วัคซีนที่จำเป็นต้องฉีด จำพวกไข้หัดหวัดแมว และพิษสุนัขบ้า ให้ฉีดตอนอายุ 2 เดือน แต่กรณีลูกแมวกำพร้าไม่ได้ดูดนมแม่แนะนำที่อายุ 1 เดือนครึ่ง แต่ละเข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ เมื่อครบ 3 เข็ม ให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ และกระตุ้นตอนอายุ 1 ปี หลักจากนั้นฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าทุกปี กลุ่มที่ 2 คือ วัคซีนที่ฉีดตามสภาวะการเลี้ยงและสภาวะแมว เช่น ถ้าเลี้ยงกึ่งปล่อย กลางวันออกไปเที่ยวนอกบ้าน ก็ควรทำวัคซีนลูคีเมียด้วย
มาถึงเรื่อง การทำความสะอาดและการดูแลสุขภาพอื่นๆ ซึ่งมีหลายคนสงสัยว่าแมวต้องอาบน้ำหรือเปล่า คำแนะนำของคุณหมอ คือ ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ ถ้าแมวออกนอกบ้านหรือนอนกับเจ้าของ ก็สามารถอาบได้ แต่ไม่ควรเกินสัปดาห์ละครั้ง ถ้าบ่อยกว่านี้ผิวจะแห้ง และขนไม่เงา ส่วนเรื่องคราบน้ำตา หากมีให้เช็ดออก ถ้ามีเยอะควรตรวจหาสาเหตุ สำหรับใบหูนั้น ปกติแมวจะทำความสะอาดตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าสกปรกให้เช็ดออกด้วยน้ำยาที่ไม่มีแอลกอฮอล์สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หากสังเกตเห็นแมวเกาหูหรือมีขี้หูมากกว่าปกติ ให้ตรวจดูว่ามีไรในหูหรือเปล่า ซึ่งน้ำยาเช็ดหูจะสามารถป้องกันและรักษาไรได้ด้วย ต่อไปคือเล็บ ส่วนใหญ่แมวจะหวง ถ้าไปตัดให้เขาจะหงุดหงิด แต่ถ้ายาวมากไป ก็จะทำให้เดินไม่ถนัดหรือทำให้เล็บขบ ก็ต้องตัด ส่วนเรื่องต่อมก้นที่ผลิตกลิ่นออกมาเยอะก็ต้องมีการบีบออกอย่างถูกวิธี ไม่อย่างนั้นจะเกิดการอักเสบได้ โดยแนะนำให้บีบทุกเดือน
ปิดท้ายกับ การละลายพฤติกรรมแมว ซึ่งคุณหมอย้ำว่าแมวไม่ใช่สุนัขตัวเล็ก จึงไม่ควรดูแลด้วยวิธีที่ทำกับสุนัข คนเลี้ยงแมวใหม่ๆ ต้องเข้าใจว่าดั้งเดิมแมวอาศัยอยู่ในป่า ต่อมาพัฒนามาเป็นแมวบ้าน แต่พฤติกรรมการเป็นแมวป่าบางอย่างยังอยู่ เช่น การล่าเหยื่อ ต้องการอาณาเขต การกระโดดในแนวดิ่ง หากเราจัดสถานที่เลียบแบบการเป็นอยู่ตามธรรมชาติก็จะช่วยลดความเครียดให้แมวได้ หรือหากเห็นพฤติกรรมการล่าเหยื่อ เช่น จับจิ้งจกหรือแมลงสาบ ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมนักล่าของเขา อย่าลงโทษ แต่ให้หาเหยื่อปลอมหรือใช้อุปกรณ์ของเล่นเลียนแบบที่จะช่วยลดพฤติกรรมการจับจิ้งจกหรือแมลงสาบ นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่อาจสร้างปัญหา เช่น เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แมวจะมีการวางอาณาเขต หากมีปัญหาเหล่านี้ บางรายแนะนำให้ทำหมัน สำหรับเรื่องกระบะทรายที่หลายคนสงสัยว่าควรมีเท่าไหร่ดี เพราะแมวมีพฤติกรรมที่จะปัสสาวะขับถ่ายตรงที่มีดินหรือทราย ซึ่งคุณหมอแนะนำให้ใช้ทฤษฎี N+1 เช่น ถ้าแมว 2 ตัวควรมี 3 กระบะ แต่กรณีที่มีแมวเยอะ สามารถจัดกลุ่มแมวที่อยู่กลุ่มเดียวกัน สังเกตจากตัวไหนที่เลียกันหรืออยู่ด้วยกันบ่อย ทะเลาะหรือตบตีกันน้อย จัดเป็น 1 กลุ่ม หาก 10 ตัวแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 3 ตัว 2 กลุ่ม และ 4 ตัว 1 กลุ่ม ก็ต้องมี 13 กระบะ แทนที่จะเป็น 11 กระบะ ซึ่งจะน้อยไป
ฟังคำแนะนำจากคุณหมอแมวทั้ง 4 ท่านแล้ว คงจะทำให้คนเลี้ยงแมวเข้าใจและสามารถดูแลดูแมวได้อย่างถูกวิธี เพื่อให้ทั้งเจ้าของและแมวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แต่เมื่อใดที่แมวมีปัญหาสุขภาพที่เจ้าของไม่สามารถดูแลได้ด้วยตัวเองแล้ว สามารถพาไปพบคุณหมอที่มีประสบการณ์ด้านโรคแมวที่จะคอยดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดที่คลินิกแมวทั้ง 4 สาขา และสามารถเข้ารับบริการตรวจรักษาโรคแมวได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อทุกสาขา