ดีป้ารุกสร้างผู้บริหาร Smart City นำร่องพื้นที่ EEC ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รุกสร้างผู้บริหาร Smart City นำร่องพื้นที่ EEC จับมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า เปิดหลักสูตร “ผู้บริหารเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน” ให้ผู้แทนแต่ละจังหวัดภาคตะวันออกเข้าร่วมอบรม 50 คน
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า กล่าวว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เป็นวาระสำคัญเร่งด่วนที่รัฐบาลมุ่งเน้น เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียม ตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 มีคำสั่งฯ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมอบหมายสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ในคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว
สำหรับการพัฒนาเมืองบริบทสำคัญ จำเป็นต้องพัฒนาให้พื้นที่ ประชาชนอยู่ดีและมีประสิทธิภาพ การบริหารจะต้องบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมถึงสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ ด้านคมนาคม ด้านพลังงานและด้านดิจิทัล นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนและเพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
ดร.ณัฐพล กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญในพัฒนาเมือง จะต้องเริ่มจากการพัฒนาองค์ความรู้ ความสามารถในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมือง ต้องตระหนักถึงความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและการเตรียมความพร้อมการพัฒนาองค์ความรู้ นโยบาย ตลอดจนการเตรียมองค์กร บุคลากร โดยเฉพาะบุคลากรระดับผู้บริหารหรือหัวหน้างาน ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการผลักดันให้สังคมเศรษฐกิจให้มีคุณภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการเป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อย่างจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยองและอีกสองจังหวัดสำคัญคือ จังหวัดจันทบุรีและตราดนั้น จัดว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงทั้งในการส่งเสริมให้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของอาเซียน ทั้งยังเป็นพื้นที่อุดมไปด้วย ทรัพยากรธรรมชาติ ผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยว ด้วยศักยภาพทั้งทางเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่ ทำให้ความเป็นอยู่ในชุมชนและเมืองเกิดการขยายตัว การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในภูมิภาคนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันระหว่างคนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชนตลอดจนระดับท้องถิ่น
จึงเป็นที่มาของการจัดหลักสูตรอบรมผู้บริหารเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม อันส่งผลถึงการพัฒนาเมืองในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน และนำองค์ความรู้จากการอบรมประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร สังคม และประเทศชาติ โดยเริ่มต้นการจัดอบรมฯ ในกลุ่มผู้บริหารตัวแทนจังหวัดภาคตะวันออกที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ ทั้งจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรีและตราด
“หวังว่าโครงการนี้จะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาเมืองในภาคส่วนต่าง ๆ และสนับสนุนการพัฒนาสู่ Smart city อย่างยั่งยืน เพื่อนำองค์ความรู้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร สังคมและประเทศต่อไป” ดร.รัฐศาสตร์ กล่าว
สำหรับการอบรมมีรายละเอียดเนื้อหาที่น่าสนใจ อาทิ เปลี่ยนเมืองอย่างไรให้เป็น Smart City โดย ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์, ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระบบบริหารเมืองเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของประชาชน โดย พล.ต.ต. พิสิฐ เปาอินทร์, “การพัฒนา Smart City Smart Community และ Smart Campus เพื่อสร้างสังคมไทยที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ” โดย ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและการเปลี่ยนแปลงเมืองโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อแก้ปัญหาและสร้างโอกาสใหม่และเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน โดย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการดีป้า