ADS


Breaking News

เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการร่วม ไทย–สหรัฐ ดึงเอกชนสองประเทศร่วมคณะ หวังเพิ่มการลงทุนระหว่างกัน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบ 185 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย – สหรัฐ ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ โดยมีความสัมพันธ์นี้ตั้งบนพื้นฐานของการแบ่งปันความมั่งคั่ง (Shared Prosperity) การเห็นชอบร่วมกัน (Mutual Interest) และการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership)  ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ มีความพิเศษ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เท่าที่ควร ซึ่งไทยเราสามารถขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีก
ภาพรวมการค้าการลงทุน ไทย – สหรัฐฯ ในปี 2559 ไทยกับสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวที่ 14.75% จากปีก่อนหน้านี้ ด้านการลงทุน บริษัทไทยกว่า 45 ราย ลงทุนใน 28 มลรัฐของสหรัฐฯ ในสาขาต่าง ๆ กว่า 15 สาขา เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ชิ้นส่วนรถยนต์ พลังงาน และการสำรวจแหล่งพลังงาน เหมืองแร่ ภาคบริการ การประกันภัย (reinsurance) การกระจายสินค้า และ franchising มีมูลค่าการลงทุนรวมมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างงานกว่า 65,000 ราย ซึ่งมีคนไทยพำนักในสหรัฐฯ กว่า 250,000 คน มีร้านอาหารไทยกว่า 7,000 แห่ง นักศึกษาไทยศึกษาในสหรัฐฯ ประมาณกว่า 10,000 คน ใช้จ่ายประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี รวมทั้ง มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ปีละประมาณ 55,000 คน
“สหรัฐฯ แสดงท่าทีสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนใน EEC ซึ่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ การแพทย์ การท่องเที่ยว ผลิตรถยนต์ ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนา EEC และกำลังแก้กฎหมายเรื่องการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ” นายกลินท์ กล่าว
ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยติดหนึ่งใน 10 อันดับแรกของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวน 6.88 แสนคน เติบโต 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  มีการใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในไทยประมาณ 51,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  คาดว่าทั้งปี  2560 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เดินทางท่องเที่ยวในไทยประมาณ 1 ล้านคน เติบโต 12.3% จากที่เติบโต 13.5% ในปี 2559 คาดว่าจะรายได้จากนักท่องเที่ยวสหรัฐ ประมาณ 78,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.0% จาก 20.8% ในปี 2559
ด้านการลงทุน ข้อมูล BOI ปี 2558-2560 สหรัฐฯ ลงทุนในประเทศไทย  มีมูลค่า 57,000 ล้านบาท ด้านการส่งเสริมการลงทุนในไทยที่ผ่านมา ถือว่าสหรัฐเป็นนักลงทุนอันดับ 4 รองจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สาขาที่ลงทุนมากสุด คือ เคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก ซึ่งบริษัทสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยมีหลายบริษัทจะเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ  ซีเกท แคตเตอร์พิลลาร์ หรือ ฟอร์ด มอเตอร์


สำหรับการเยือนสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ได้มีการการพบปะหารือระหว่างหอการค้าไทย และหอการค้าสหรัฐฯ ทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งหอการค้าสหรัฐฯ เห็นว่านักธุรกิจไทย ลงทุนและทำธุรกิจในสหรัฐฯ มายาวนาน เพื่อมุ่งที่จะขยายความสัมพันธ์ระหว่างหอการค้าสหรัฐฯ และหอการค้าไทย จึงได้เชิญหอการค้าไทยเข้าร่วมในงาน “3rd Annual Invest in America Summit” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 ก.พ. 2561ณ หอการค้าสหรัฐฯ ซึ่งจะเชิญ Governors ของรัฐต่าง ๆ มาร่วมหารือด้วย
หอการค้าสหรัฐฯ เสนอให้มีการจัดทำ MOU ระหว่างหอการค้าสหรัฐฯ และหอการค้าไทย โดย MOU ดังกล่าว ประกอบด้วยเรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุน และคัดเลือกสาขาธุรกิจและหา common goal เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อน (Execution) เช่น ด้าน Energy, Services, Innovation & IT sector, Education, Medical & Healthcare, Food security เป็นต้น พร้อมทั้ง เสนอให้มี High Level Forum เพื่อเป็นเวทีพบปะหารือแลกเปลี่ยนความเห็นประจำปี ซึ่งจะรวมถึงการหารือประเด็นด้านนโยบายทางการค้า ปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจระหว่างกันโดยการประชุม Forum ครั้งแรกจะจัดขึ้นกลางปี 2561 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ในโอกาสครบรอบ 185 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ
นอกจากนี้ เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม ไทย –สหรัฐฯ ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกลในการขับเคลื่อนความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกัน ในด้านการค้าการลงทุน โดยเลือกบริษัทเอกชนที่จะไปลงทุนระหว่างสองประเทศ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ และเชิญกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เข้ามาเป็นที่ปรึกษา
อีกทั้ง หอการค้าสหรัฐฯ ยังได้แจ้งว่าหอการค้าสหรัฐฯ ได้มีบทบาทในการเสนอแนะ และร่างกฎหมายเสนอสภา Congress รวมทั้ง มีส่วนร่วมในการผลักดันการปฏิรูปภาษี อาทิ การปฏิรูปภาษีนิติบุคคล  โดยการลดภาษี Corporate Tax ให้กับโครงการที่มีการใช้นวัตกรรม หรือ โครงการลงทุนที่เป็น capital intensive   เหลือ 25 – 27% จาก 35% หรือมากกว่า   สำหรับ Tax Reform นี้จะมีผลในเดือนเมษายนปีหน้า

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ และหอการค้า สหรัฐ ยังให้ความมั่นใจกับคณะผู้แทนไทยว่าไทยเป็นศูนย์กลางของ ASEAN มีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำของ ASEAN และมีความพร้อมที่ให้ต่างชาติมาลงทุนได้ หอการค้าสหรัฐฯยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุน โดยหอการค้าสหรัฐฯ ได้เสนอ เป็นตัวเชื่อมกับหอการค้าไทย ในกรณีเกิดปัญหาด้านการค้าการลงทุน หรือการช่วยติดต่อประสานงานกับภาครัฐ