หอการค้าไทยย้ำ ประเทศไทยต้องเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหัวใจของคนไทยทุกคน ยังคงรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่มิเสื่อมคลาย คณะกรรมการหอการค้าฯ ได้ตั้งปณิธานอันแน่วแน่ที่จะเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท โดยยึดพระองค์ท่านเป็นต้นแบบ และเป็นแรงบันดาลใจในการกระทำ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม แปรเปลี่ยนความโศกเศร้าทั้งปวงมาเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าอย่างเต็มกำลังสติปัญญาเท่าที่มี
สำหรับหนึ่งในแนวทางที่หอการค้าไทยยึดมั่น คือ การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม เพราะสังคมเป็นเรื่องที่มิอาจมองข้ามได้ หากสังคมมีปัญหา จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า 1 ในพันธกิจที่สำคัญของหอการค้าไทย คือ การสร้างธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ ลดความเหลื่อมล้ำด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงเป็นความมุ่งมั่นของหอการค้าไทยที่จะจรรโลงให้สังคมนี้น่าอยู่ และเป็นพื้นฐานของการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศในอนาคต
นายวิชัย กล่าวว่า คณะกรรมการหอการค้าไทย พยายามสร้าง “บุคลิกภาพของคนหอการค้า” ให้มีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นใน 4 ด้าน คือ 1 Visionary มีวิสัยทัศน์ เชี่ยวชาญ เชื่อถือได้ และเป็นแบบอย่างที่ดี 2 Network มีเครือข่ายคุณภาพ จากผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย 3 Dynamic ไม่หยุดนิ่ง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยนวัตกรรม และลงมือทำด้วยความคล่องแคล่ว และ 4 Sustainable ยั่งยืน ห่วงใยสังคม เสริมสร้างจรรยาบรรณ ยึดมั่นความพอเพียง
หอการค้าไทยได้จัดตั้งสายงานพัฒนาสังคมและเสริมสร้างธรรมาภิบาล โดยได้ดำเนินภารกิจในการขับเคลื่อนด้านสังคม 3 ด้าน ได้แก่ 1 ด้านพัฒนาธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการลดความเหลื่อมล้ำ หอการค้าไทยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในหลายกิจกรรม ทั้งกับกลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มเกษตรกร อาทิ “โครงการ 1 ไร่ 1 แสน” ใช้เกษตรแบบผสมผสาน จัดสรรพื้นที่ทั้งทำกสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ สอนวิธีการลดต้นทุนให้กับเกษตรกร เพิ่มผลผลิต ถอดบทเรียน นำไปขยายผลต่อ โดยมีศูนย์เรียนรู้หลัก จำนวน 5 ศูนย์ฯ กระจายไปทุกภูมิภาค มีเกษตรกรเข้าร่วมอบรบ จำนวน 6,000 คน และมีผู้มาศึกษาดูงาน รวม 300,000 คน
นอกาจากนี้ ได้ร่วมกับคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ คณะเกษตรสมัยใหม่ (D6) จัดทำ “โครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร” ด้วยการผลักดันให้นักธุรกิจในภูมิภาคเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์การเกษตรให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยการใช้แนวทาง “การตลาดนำการผลิต” ซึ่งประสบความสำเร็จ ขณะนี้มีโครงการที่ดำเนินการ จำนวน 118 สหกรณ์ ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้ง การสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ YEC ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของหอการค้าไทย ในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่อธุรกิจและช่วยพัฒนาสังคม โดยมีเครือข่าย YEC กว่า 5,000 รายทั่วประเทศ ขณะนี้การอบรมโครงการนักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจพอเพียง (SEED) ไปแล้ว 3 รุ่น
2 ด้านต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมการสร้างจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ได้จัดทำ โครงการจรรยาบรรณดีเด่น โดยจัดพิธีมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณจรรยาบรรณดีเด่นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม ซึ่งจัดเป็นปีที่ 15 ภายใต้แนวคิด “เท่ทำดี” โดยมุ่งยกย่องและเป็นขวัญกำลังใจ ให้ภาคธุรกิจเอกชน ที่ประกอบการค้าด้วยหลักบรรษัทภิบาล โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส และความซื่อสัตย์สุจริตโดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ศาสตร์พระราชา นำพาไทยเท่” และปาฐกถาเรื่อง “ไทยเท่ธรรมดี” โดย ท่าน ว.วชิรเมธี พร้อมทั้งการเสวนา “ไทยเท่ทำดี วิถีธุรกิจยั่งยืน” เป็นต้น
สำหรับ โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) หอการค้าไทยร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และกรมบัญชีกลาง จัดทำโครงการข้อตกลงคุณธรรม เพื่อสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 เข้าร่วม 53 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 429,000 ล้านบาท โครงการที่ได้มีการประมูลแล้วตั้งแต่ปี 2558 – 2560 จำนวน 19 โครงการ มูลค่า 36,618 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 6,974 ล้านบาท (19%) นอกจากงบประมาณที่ประหยัดได้แล้ว โครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ มีการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ ที่มุ่งมั่นดำเนินโครงการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
และ 3 ด้านการพัฒนาด้านสังคมและส่งเสริมคุณภาพชีวิต คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กและสตรี หอการค้าไทยร่วมกับคณะกรรมการประชารัฐเพื่อสังคม (E6) ได้ขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมในหลายด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในภาคธุรกิจ โดยกำหนดเป้าหมายการจ้างงานคนพิการ ปี 2561 จำนวน 55,445 อัตรา ซึ่งในปี 2560 มีการจ้างงานคนพิการไปแล้ว 46,185 อัตรา (73.5%) พร้อมทั้ง ขณะนี้ได้ขยายโครงการการจ้างงานไปยังบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่กว่า 60 บริษัท คาดว่าจะมีการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้น 1,200 อัตรา รวมทั้งยังได้มีการขยายความร่วมมือกับตลาดหลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการขยายความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งหมด นอกจากนั้น ยังช่วยอบรมอาชีพและพัฒนาธุรกิจให้กับคนพิการ อาทิ การจ้างงาน Call Center โรงงานไทยวีล (TOYOTA) ร้านค้าชุมชน ร้านกาแฟคนพิการ การพัฒนา Autistic Application เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของหอการค้าไทยที่มีส่วนร่วมพัฒนาสังคมไทยให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น และหอการค้าไทยขอเชิญชวนภาคธุรกิจ และภาคประชาชนทุกคน ร่วมกันเป็น “คนดีของพ่อ” ในมุมที่แต่ละคนสามารถกระทำได้ เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตได้อย่าง “ยั่งยืน” ต่อไป