ADS


Breaking News

“Adaptive Clothing: ดีไซน์เพื่อทลายข้อจำกัด”

การตื่นเช้ามาใส่เสื้อผ้าสำหรับคนทั่วๆ ไปแล้วนั้นถือเป็นเรื่องที่ง่ายจนมีคำพูดที่ว่าให้หลับตาทำก็ยังได้ จนลืมไปว่ายังมีกลุ่มผู้บริโภคผู้มีข้อจำกัดทางร่างกายอีกจำนวนมากที่ประสบกับปัญหาในการเลือกใส่เสื้อผ้าที่สะดวกต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน คงจะดีไม่น้อยหากเราได้เห็นสาวน้อยที่นั่งรถวีลแชร์มีเสื้อผ้ารูปแบบสวยงามสวมใส่สบาย ที่มีขนาดพอดีตัว หรือหนุ่มน้อยนักกีฬาที่มีกางเกงความยาวพอดีกับขาที่หายไปเอาไว้ใส่ซ้อมกีฬาในการทำตามความฝันและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย คงจะดีถ้าเราสามารถทำให้พวกเขาได้รู้สึกว่า อะไรที่เราใส่ได้ พวกเขาก็สามารถใส่ได้เช่นกัน
น้องปัท ลดามณี กล้าหาญ ตัวแทนเยาวชนผู้พิการจากโรงเรียนศรีสังวาลย์ ที่มาพร้อมกับความฝันในการเป็นนักเขียน เล่าให้ฟังว่า “หนูชอบเสื้อผ้าที่ใส่ง่ายๆ แขนกว้างๆ ไม่ชอบกระดุมเพราะบางทีต้องนอนใส่เสื้อผ้าแล้วมันก็จะเจ็บ เวลาหนูนอนใส่เสื้อผ้า หนูก็จะนอนแล้วค่อยๆขยับให้เสื้อผ้าเข้ามา และบางทีก็จะมีเพื่อนๆผู้หญิงมาคอยช่วยบ้าง และตัวหนูเองนั่งวีลแชร์ เวลาต้องใส่เสื้อผ้าที่มีซิปที่หลังหรือซิปข้างๆ หนูจะรูดไม่ได้ ไม่ถนัด เจ็บเวลาที่นั่งนานๆ หนูไม่ค่อยชอบ” 
น้องป่าน จิดาภา นิติวีระกุล สาวน้อยวัยเดียวกันผู้ซึ่งใฝ่ฝันอยากจะเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นได้เน้นย้ำเรื่องความยากลำบากในการใส่เสื้อผ้าว่า “ตัวหนูเองก็พอแต่งตัวเองได้บ้าง บางทีก็จะนอนกับพื้นแล้วพยายามกลิ้งให้เสื้อผ้าเข้ามา บางทีก็ใช้ปากดึงบ้าง สลับกันไป ในการแต่งตัวแต่ละทีหนูใช้เวลานานมาก บางทีก็ 30 นาที บางทีก็อาจจะเป็นชั่วโมง”
ไม่เว้นแม้แต่หนุ่มน้อยอารมณ์ดีผู้มีความฝันที่จะเป็นโปรแกรมเมอร์อย่าง น้องปอนด์ เฉลิมขวัญ สันติพรวิทย์ ที่ประสบกับปัญหาเดียวกันสำหรับผมการแต่งตัวเป็นเรื่องลำบากมากครับ ผมแต่งตัวเองไม่ได้เลย เคยลองแล้วแต่ก็ทำไม่ได้ ทุกวันนี้เลยต้องมีคุณยายมาคอยแต่งตัวให้
ความยากลำบากที่น้องๆต้องพบเจอนั้นสอดคล้องกับข้อมูลทางการแพทย์ โดย น.พ. พิเชษฐ์ เยี่ยมศิริ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่า ความพิการทางร่างกายอย่างเช่น C.P. หรือ Cerebral Palsy คือกลุ่มอาการของผู้ป่วยที่มีความพิการของสมองแต่กำเนิด ซึ่งมีผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อบกพร่อง มีการเกร็งและการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ทำให้ใช้เวลานานในการใส่และถอดเสื้อผ้า การดีไซน์เสื้อผ้าควรที่จะทำให้ใส่และถอดง่าย ตัวอย่างเช่นเด็กบางคนอาจจะขยับได้แค่แขน จึงจำเป็นต้องมีการดีไซน์เข้ามาช่วย นอกจากนั้นรูปแบบไม่ควรแตกต่างจากเสื้อผ้าทั่วไป และต้องไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการเกร็ง อาทิเช่น ตะเข็บที่ผ้าหนา หรือเนื้อผ้าที่ทำให้ไม่สบายตัวน.พ. พิเชษฐ์ กล่าว
ด้วยเล็งเห็นถึงข้อจำกัดดังกล่าว ในปีนี้มูลนิธิเวชดุสิตฯ จึงกลับมาอีกครั้งพร้อมกับโครงการ “ความฝันไม่มีวันพิการ ปีที่ 3” ด้วยจุดมุ่งหมายในการสานต่อแรงใจสู่น้องๆ พร้อมปลุกกระแสสังคมต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ร่วมกับแบรนด์ดีไซเนอร์ดัง ได้แก่  Sretsis (สเรทซิส), Patinya (ปฏิญญา), และ Greyhound Original (เกรฮาวด์ ออริจินัล)  โครงการ “ความฝันไม่มีวันพิการ ปีที่ 3” ภายใต้แนวคิด “ร่วม-ลงมือ-ทำ” มูลนิธิเวชดุสิตฯ และพันธมิตร จัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้น้องผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตน ด้วยการสร้างประสบการณ์การทำงานบนสนามจริงในการทำงานด้านการออกแบบแฟชั่น พร้อมกับการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะ สร้างอาชีพ และร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในไทย ผ่านการผลิตและจัดทำ  Adaptive Clothing หรือ เสื้อผ้าดัดแปลงสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย สำหรับแจกจ่ายให้กับผู้พิการ ผู้สูงวัย และผู้ป่วยที่ขาดแคลนทั่วประเทศ
“ถ้าถามหนูจริงๆ หนูก็อยากแต่งตัว มีเสื้อผ้าสวยๆใส่เหมือนเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ อย่างหนูชอบกางเกงยีนส์นะ แต่หนูใส่ไม่ได้เลย มันแข็ง ดึงยากมาก เข้าห้องน้ำก็ลำบาก หนูก็เลือกที่จะใส่กระโปรงแทน อย่างชุดเอี๊ยมก็น่ารัก แต่ใส่ลำบาก ถอดลำบาก หนูเลยไม่ค่อยอยากใส่ สุดท้ายหนูต้องเลือกอะไรที่ใส่ไม่ยากแทน” น้องป่านแสดงความในใจเรื่องการแต่งกายออกมาให้ฟัง
ด้านอาจารย์ทิพย์ภาพร เนตรแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายบุคลากรและกิจการนักเรียนโรงเรียนศรีสังวาลย์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลนักเรียนกว่าสองร้อยคนเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนเปิดสอนทั้งด้านวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตให้กับเยาวชนผู้พิการ การแต่งตัวคือหนึ่งในทักษะการใช้ชีวิตประจำวันที่เราสอน เด็กๆที่พอดูแลตัวเองได้ก็จะคอยช่วยเพื่อนๆของตัวเองที่แต่งตัวลำบากหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ที่นี่จะเป็นเหมือนเพื่อนช่วยเพื่อน ด้วยความที่ผู้ดูแลเราน้อย เด็กๆเขาก็จะคอยช่วยเหลือกันเอง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เด็กๆเขาก็ชอบนะ ชอบที่จะใส่เสื้อผ้าสีสวยตามแฟชั่นแบบเด็กวัยเดียวกันคนอื่นๆ ถามว่าเมื่อเขารู้ว่าเขาใส่เสื้อผ้าแบบปกติไม่ได้แล้วเขาผิดหวังมั้ย เขาก็ผิดหวังนะ แต่เขาก็เข้าใจว่ามันอาจจะไม่ได้มีตัวเลือกมากมายนัก อาจารย์ทิพย์ภาพรกล่าว
     ทั้งหมดคือเหตุผลว่าทำไม Adaptive Clothing คือสิ่งที่สามารถเพิ่มความมั่นใจและความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันให้กับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกายอีกเป็นจำนวนมาก เพราะอะไรที่เราใส่ได้ พวกเขาก็สามารถใส่ได้เช่นกัน  สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะช่วยเหลือด้านการออกแบบและผลิตเสื้อผ้าสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย (Adaptive Clothing) สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้โดยการบริจาคผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีมูลนิธิเวชดุสิตฯ ธนาคารทหารไทย เลขที่บัญชี 214-2-05882-1 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมอื่นๆและการบริจาคได้ที่ Facebook: Vejdusit Foundation