กทปส. พลักดันโครงการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชน เงินทุนสนับสนุน 3 หน่วยงานจาก 3 ภูมิภาค
กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. หน่วยงานในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. มุ่งเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการ ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน โดยได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์เพื่อชุมชน จากทั้ง 3 ภูมิภาค หวังให้เกิดการกระจายงานด้านระบบการสื่อสาร พัฒนาระบบดิจิตอลในระดับท้องถิ่น และสร้างงานภายในชุมชนอย่างยั่งยืน
นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวว่ายุคของสื่อกระแสหลัก ที่ใช้รูปแบบอุตสาหกรรม และการทำงานครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่ตอบโจทย์ กับชุมชนอย่างที่ควรจะเป็น ประกอบกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทำให้การพัฒนาด้านการสื่อสารชุมชน มีบทบาทมากขึ้น อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีมีการก้าวกระโดดอย่างสูง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่เอื้อให้การเข้าถึงสื่อมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ดังนั้นโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ในประเภทบริการชุมชน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องมีการสร้าง ร่างแบบแนวคิดกันขึ้นมา แนวคิดในการจัดทำโครงการต้นแบบทีวีชุมชน ที่เกิดขึ้นแล้วใน 3 พื้นที่ คือ มูลนิธิสื่อสร้างสุข (จังหวัดอุบลราชธานี), พะเยาทีวีชุมชน (สมาคมสื่อชุมชนจังหวัดพะเยา), และโครงการทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง (มูลนิธิรักษ์ไทย) ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวในการออกแบบทีวีชุมชนที่มีพื้นฐานจากท้องถิ่น สามารถผลิตผลงานด้วยตัวของชุมชนเอง ก่อให้เกิดโมเดลทีวีชุมชนที่หลากหลาย สามารถนำเอาจุดดีของแต่ละที่มาเชื่อมประสานกันได้ โครงการต้นแบบโทรทัศน์ชุมชนถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของ กสทช. โดยผ่านกลไกกองทุนฯ ที่ต้องการผลักดันการให้มีบริการโทรทัศน์ชุมชนในประเทศซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ กสทช.
นายสุชัย เจริญมุขยนันท เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้ได้รับการสนับสนุน โครงการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ทีวีชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกระจายเสียงของประชาชนในพื้นที่ และต้องการเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเนื้อหาหลักที่ออกอากาศจะเป็นเนื้อหาที่ได้จากการสำรวจของประชาชน อาทิ ข่าวท้องถิ่น ราคาพืชผล พยากรณ์อากาศ ข่าวอุบัติเหตุ การ์ตูน เพลง เป็นต้น ช่องทางในการออกอากาศ คือ วีเคเบิ้ลทีวี, ทีวีออนไลน์, Facebook Live หรือ Youtube ซึ่งอนาคตกำลังวางแผนเจรจากับ ThaiPBS และ NBT ในการออกอากาศทางทีวีดิจิตอลภาคพื้นที่ ไม่เพียงเท่านั้นปัจจุบันได้มีการต่อยอดสร้างความยั่งยืนให้กับสถานีต้นแบบ คือ การรับบริจาคจากประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ การส่งเสริมการขายสินค้าชุมชนในรูปแบบ E-Commerce เป็นต้น ซึ่งแนวคิดทั้งหมดหวังให้เกิดการส่งเสริมการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างระบบการสื่อสารที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ และพัฒนาเพื่อยกระดับจังหวัดให้เกิดการพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่างานด้านระบบทีวีชุมชน
นายชัยวัฒน์ จันธิมา สมาคมสื่อชุมชนจังหวัดพะเยา ผู้ได้รับการสนับสนุน โครงการวิจัยและพัฒนาสถานีโทรทัศน์ชุมชน "พะเยาทีวี" กล่าวว่า โทรทัศน์ชุมชนยังเป็นเรื่องใหม่และท้าทายสําหรับประเทศไทย ซึ่งยังขาดองค์ความรู้ความเข้าใจที่ในการประกอบกิจการ รวมถึงกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเครือข่ายและประชาชนในพื้นที่ในการรับมือกับสิทธิเสรีภาพการแสดงออก สมาคมสื่อชุมชนจังหวัดพะเยา จึงมีมติร่วมกันที่จะสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชน “พะเยาทีวี” ขึ้น เพื่อทดลองปฏิบัติการจริงและใช้เป็นแนวทางในการดําเนินการ โดยจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก รูปแบบรายการที่นำเสนอส่วนใหญ่จะเน้นในส่วนของการรายงานข่าวภายในท้องถิ่น ข่าวการศึกษา ศาสนาวัฒนธรรม อาชีพชุมชน สิ่งแวดล้อม รายการสนทนา และรายการถ่ายทอดสดชุมชน เป็นต้น ซึ่งจะเน้นให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น ส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายชุมชน อาทิ เครือข่ายภาครัฐ จิตอาสา เยาวชน รวมเครือข่ายประชาชน เป็นต้น เพื่อสร้างพื้นฐานยกระดับคุณภาพชุมชนให้มีบทบาท และสนับสนุนการเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ สร้างแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ เกิดการรักถิ่นฐาน กลับมาพัฒนาพื้นที่ในอนาคต
นายประสาร สถานสถิตย์ มูลนิธิรักษ์ไทย ผู้ได้รับการสนับสนุน โครงการทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการได้เริ่มสนับสนุนให้ชุมชนร่วมคิดร่วมทำ เสริมทักษะการสื่อสารในรูปแบบ Mobile Journalist (Mojo) และ Backpack Journalist เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตสื่อด้วยตนเอง เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และสามารถผลิตสื่อที่เป็นความต้องการของชุมชน เข้าถึงวิถีชุมชน และวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมทั้งเสริมทักษะกระบวนการผลิตสื่อ ปลูกฝั่งด้านจริยธธรรม จรรยาบรรณของการเป็นสื่อ ให้ความรู้ในรูปแบบของนิเทศศาสตร์ชุมชน มุ่งหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในจังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต ให้สอดคล้องกับบริบทชุมชนท้องถิ่นอันดามัน พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของชุมชน เน้นการสื่อสารให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในพื้นที่อันดามัน อีกทั้งสามารถสร้างฐานเครือข่ายการจัดการด้านภัยพิบัติ สามารถติดตามสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้อย่างใกล้ชิด และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถคุ้มครอง ป้องกัน สร้างระบบชุมชนเข้มแข็ง อันเป็นการจัดการทรัพยากรของชุมชน สร้างวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งเราต้องการให้เกิดแนวคิดในการเปลี่ยนจากชาวชุมชนอันดามันให้ทุกคนกลายเป็นสื่อ เช่น ประชาชนสามารถรายงานข่าวสภาพอากาศได้ตลอดเวลาผ่านเครือข่าย Facebook Live เป็นต้น และเชื่อว่าต่อไปชุมชนจะรู้จักรักบ้านเกิดและพยายามพัฒนายกระดับชุมชนของตัวเองให้ดีขึ้นได้แน่นอน
ดังนั้น โครงการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ถือเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีดิจิตอลที่จะเข้าถึงชุมชนมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในเชิงสังคม เกิดการพัฒนาในชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และสร้างพลังของชุมชนให้มีสิทธิ์มีเสียงในสังคมมากขึ้น อีกทั้งชุมชนได้รู้สิทธิของตนเอง ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้คนกลุ่มต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่นเริ่มตระหนักถึงความจําเป็นของการรับข่าวสาร เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนผ่านสื่อโทรทัศน์ เนื่องจากโทรทัศน์ชุมชนยังเป็นเรื่องใหม่สําหรับประเทศไทย องค์กรต่างๆ กลุ่มคนและประชาชนที่มีความสนใจในการขออนุญาตประกอบกิจการและเป็นการปูพื้นฐานในการสร้างโมเดลในระดับชุมชน ซึ่งการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชน เพื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ชุมชนต้นแบบในแต่ละภูมิภาค โดยทั้ง 3 โครงการเป็นต้นแบบของการพัฒนาระบบโทรทัศน์ชุมชน ยุทธศาสตร์สำคัญของ กสทช. ผ่านกลไกจากกองทุนฯ ที่ต้องการผลักดันการให้มีบริการโทรทัศน์ชุมชนในประเทศ อันเป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมาย และสิทธิเสรีภาพของประชาชน โครงการการมอบทุนในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งก้าวในการพัฒนางานด้านวงการสื่อในประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน