ADS


Breaking News

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ระดมความคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชน จัดสัมมนา “ทิศทางและยุทธศาสตร์สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเตรียมคนสู่ไทยแลนด์ 4.0” รองนายกฯประจินชี้ไทยต้องมีระบบคุณวุฒิวิชาชีพในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างคนให้เอื้อต่อการปรับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้เป็น 4.0

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “คุณวุฒิวิชาชีพ….โอกาสในการพัฒนาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งจัดโดย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ว่ารัฐบาลวางแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ และมาตรการทั้งด้านเศรษฐกิจ กฎหมายและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ชาติ แต่เราไม่สามารถบรรลุอุตสาหกรรม 4.0 เศรษฐกิจ 4.0 และประเทศไทย 4.0 ได้ หากไม่เริ่มจากการพัฒนาคนให้พร้อมรับความท้าทายในหลายมิติและสามารถสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในทุกด้าน โดยระบบคุณวุฒิวิชาชีพเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาทุนมนุษย์ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
คุณวุฒิวิชาชีพ ทำให้วัดสมรรถนะกำลังคนได้อย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต (lifelong learning) และเชื่อมโยงโลกการทำงานและโลกการศึกษา โดยผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญจะร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพในการจัดทำคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อรับรองความสามารถกำลังคนในสาขาต่างๆ ซึ่งสถานศึกษาสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียน นักศึกษามีสมรรถนะตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องด้านสมรรถนะระหว่างอุปสงค์และอุปทาน สำหรับกำลังคน ก็สามารถพิสูจน์ความสามารถและสร้างความก้าวหน้าในอาชีพด้วยการเข้ารับการประเมินสมรรถนะ และพัฒนาตนเองเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องตามเทคโนโลยีและลักษณะงานในอนาคต โดยคุณวุฒิวิชาชีพสามารถเป็นแนวทางในการปรับและพัฒนาตนเองเข้าสู่ยุค 4.0 ที่ความต้องการสมรรถนะกำลังคนเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและโครงสร้างอุตสาหกรรมอนาคต อันจะนำไปสู่ลักษณะงานที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างระบบอัตโนมัติยุคใหม่ (soft automation) และมนุษย์  ซึ่งหมายถึงบุคลากรจำเป็นต้องมีสมรรถนะในการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ มีทักษะการคิด การแก้ปัญหา และทักษะทางสังคม ประเทศชาติก็จะได้กำลังคนที่สามารถช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้  ตลอดจนลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 4.0 
นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนากำลังคนให้สามารถสนับสนุนเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ (knowledge-based economy) ซึ่งใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง  กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา โดยทุนมนุษย์จำเป็นต้องมีสมรรถนะสูง มีทักษะทางอาชีพ  ทักษะการคิดวิเคราะห์ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตามหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้มีความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันคุณวุฒิวิชาชีพจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องด้านสมรรถนะระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงาน และช่วยพัฒนาคุณภาพนักศึกษาอาชีวะให้เป็นช่างเทคนิคที่มีทักษะ สามารถช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้เป็น 4.0  
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดทำแผนยุทธศาสตร์สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมถึงนโยบาย Thailand 4.0 โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับคุณวุฒิวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน เป็นที่ยอมรับทั้งจากผู้ประกอบอาชีพ ภาคการศึกษา และหน่วยงานในต่างประเทศด้วยกระบวนการประกันคุณภาพที่เชื่อถือได้  เพื่อให้คุณวุฒิวิชาชีพเป็นมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ได้รับการรับรองและนำไปสู่ค่าวิชาชีพหรือค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
     นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ  เปิดเผยว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ทำงานร่วมกับสถานศึกษา  สมาคมวิชาชีพ  และบริษัทเอกชนรวม 136 แห่ง ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะ เพื่อให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ และร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษามีสมรรถนะตามที่อุตสาหกรรมต้องการ ขณะนี้ สถาบันฯ ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพครอบคลุม 44 สาขา โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมที่สามารถต่อยอดได้ (First S-Curve: เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ แปรรูปอาหาร ยานยนต์สมัยใหม่ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ)  และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve: หุ่นยนต์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ โลจิสติกส์และการบิน การแพทย์ครบวงจร และดิจิทัล) รวมอยู่ด้วย และพร้อมผลักดันให้กำลังคนมีสมรรถนะที่หลากหลาย (multi skills) รองรับการเข้ามาของเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน (disruptive technology) เพื่อพัฒนากำลังคนให้ครอบคลุมมิติต่างๆตามที่รัฐบาลกำหนด  คือ มิติความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่เน้นการสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ มิติความอยู่ดีมีสุขทางสังคมด้วยการเติมเต็มศักยภาพคน และมิติการยกระดับคุณค่ามนุษย์ ให้เป็นทรัพยากรบุคคลในศตวรรษที่ 21
    งานสัมมนาฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนาทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ รศ. ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์  ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ดร. ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและคณะอนุกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ รวมถึง คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและกรรมการสถาบัน New Economy Academy (NEA) สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องการพัฒนากำลังคนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพและระดมความคิดเห็นในประเด็น “การมีส่วนร่วมกับ สคช. เพื่อเตรียมคนไปสู่ Thailand 4.0”  โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการพัฒนาคนเข้าร่วม อาทิ  กระทรวงแรงงาน  กระทรวงศึกษาธิการ  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งขาติ   กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  สถาบันการศึกษาทุกภูมิภาค  และผู้ประกอบการ ผู้ประกอบอาชีพ สมาคม สมาพันธ์ต่างๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรม S Curve กลุ่มประชารัฐ  กรอ.อศ.  รวมถึงกลุ่มนักศึกษาที่จะผลักดันการพัฒนาประเทศในอนาคต
     “การรับฟังความคิดเห็นจะนำมากำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือที่ตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของคุณวุฒิวิชาชีพ ” นายวีระชัยกล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ งานสื่อสารองค์กร สำนักพัฒนาธุรกิจ โทร  02 617 7970   ต่อ 203

หมายเหตุ


     สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 เพื่อทำหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ จัดทำมาตรฐานอาชีพให้ได้มาตรฐานสากล ให้การรับรององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ เป็นศูนย์กลางข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ และดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ด้านนโยบายการศึกษา โดยเร่งรัดจัดทำระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อรับรองสมรรถนะการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ให้พร้อมรับการมีมาตรฐานสากล โดยมีแนวคิดที่จะสร้างกรอบและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อที่จะกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพระดับต่างๆ ให้เป็นมาตรฐาน ในการบ่งชี้สมรรถนะของกำลังคนของไทย ตลอดจนส่งเสริมกลุ่มอาชีพให้มีความเข้มแข็ง สามารถสร้างมาตรฐานอาชีพขึ้นได้เอง เพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนากำลังคนระดับต่างๆ ให้สามารถตอบสนองได้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการในฐานะเป็นอุปสงค์ของระบบ ในลักษณะเป็น “Demand Driven”
ปัจจุบันสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)  มีฐานะเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ สนับสนุนกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มวิชาชีพในการจัดทำมาตรฐานอาชีพให้ได้ตามมาตรฐานสากล มีการรับรององค์กร ที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ รวมถึงเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีนายนคร ศิลปอาชา เป็นประธานกรรมการสถาบัน และนายวีระชัย ศรีขจร เป็นผู้อำนวยการสถาบัน

     วิสัยทัศน์ “เป็นสถาบันที่พัฒนาและขับเคลื่อนระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพที่สอดคล้องกับ Thailand 4.0 เพื่อยกระดับสมรรถนะกำลังคนอย่างน้อย 310,000 คนภายในปี 2564”

พันธกิจ
  1. สร้างการรับรู้ต่อระบบคุณวุฒิวิชาชีพให้เป็นที่รู้จัก และผลักดันให้เกิดความตระหนักถึงประโยชน์และมีการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพไปใช้อย่างกว้างขวาง
  2. สนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพมีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและ Thailand 4.0
  3. ส่งเสริมให้นำระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพไปใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยภาคการศึกษาและหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมเพื่อให้มีการเทียบโอนคุณวุฒิ เพื่อยกระดับความก้าวหน้าของกำลังคน
  4. ให้การรับรององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อประเมินสมรรถนะของบุคลให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ โดยกระบวนการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานและหน่วยงานอื่นๆ
  5. นำระบบศูนย์กลางเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศ และการบริการเกี่ยวกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้สนับสนุนบริการระบบคุณวุฒิวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ