สวก. ร่วมกับ กลุ่มมิตรผล พัฒนางานวิจัยและต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรเชิงพาณิชย์ เพื่อแก้ปัญหาการเกษตรครบวงจร สอดรับนโยบายประชารัฐ
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และกลุ่มมิตรผล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรตามแนวทางเกษตรยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง การพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัยการเกษตร สร้างความเข้มแข็งความร่วมมือทางวิชาการและเครือข่ายด้านการวิจัย สอดคล้องกับการทำงานแบบบูรณาการตามนโยบายประชารัฐ ด้วย 3 โครงการ คือ โครงการการวิจัยการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียนและบำรุงรักษาดิน, โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ (Biocontrol) และโครงการปรับปรุงคุณสมบัติของดินโดยปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) โดยในปี 2560 จะนำร่องดำเนินโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่นาโดยการปลูกถั่วเหลือง แบบใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ กรณีศึกษา ที่อำเภอชุมแพ และ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ภายใต้งบประมาณกว่า 5.4 ล้านบาท
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “ปัจจุบันสถานการณ์ด้านการเกษตรเปลี่ยนไปมาก สภาพอากาศแปรปรวน ที่ดินทำการเกษตรมีจำกัด แรงงานสูงอายุ ต้องใช้เครื่องจักร ราคาผลผลิตเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ความต้องการบริโภคสินค้าคุณภาพดีและปลอดภัยต่อสุขภาพมีมากขึ้น และเกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมี “นโยบายยกกระดาษ A4” เพื่อให้เกษตรปรับเปลี่ยนทำเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มรายได้ และภูมิใจในอาชีพ ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกมาตรฐานสินค้าเกษตร ใช้พื้นที่สูงสุด ใช้ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพสังคมด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่และผสมผสาน วิเคราะห์พื้นที่แบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารเชิงรุก (Agri-Map) เมื่อเหมาะสมต้องต่อยอดเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices หรือ GAP) ให้ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ทั้ง 882 แห่งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และบริการด้านเกษตรของชุมชน ให้ความสำคัญกับงานวิจัยพัฒนา ซึ่งภาคราชการมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงต้องร่วมือกับภาคเอกชนที่มีความพร้อม โดยเฉพาะด้านเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี ทำงานในลักษณะประชารัฐ เป็นแบบอย่างให้งานอื่นต่อไป ให้เน้นงานวิจัยที่ขยายผล นำไปประยุกต์ใช้ได้ง่าย ใช้เงินทุนต่ำ แต่เกิดประโยชน์ และยั่งยืน โดยงานวิจัยนำร่องในครั้งนี้จะมีอยู่ทั้งสิ้น 3 งานได้แก่ 1) โครงการการวิจัยการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียน และบำรุงรักษาดิน 2) โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ (Biocontrol) และ 3) โครงการปรับปรุงคุณสมบัติของดินโดยปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) ซึ่งตรงตามนโยบายยกกระดาษ A4 เป็นหลัก”
“ผมต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันผลักดันงานวิจัยที่จะเสริมและสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายกระดาษ A4 ให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้การดำเนินการภายใต้ความร่วมมือ MOU ครั้งนี้ สำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้” พลเอกฉัตรชัยกล่าวปิดท้าย
|
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “จากการที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและความร่วมมือพัฒนาการเกษตรตามนโนบายประชารัฐในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีมาพัฒนาภาคการเกษตร ส่งผลให้ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็นอย่างมาก ตรงต่อความต้องการของตลาด และลดต้นทุน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในภาคเกษตรกรอย่างครบวงจร”
“ความร่วมมือระหว่าง สวก. และกลุ่มมิตรผล มุ่งเน้นให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยีการวิจัยการเกษตรเพื่อการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม นับเป็นการปฏิรูปภาคการเกษตรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และผลักดันให้นำผลงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในวงกว้าง”
นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) กล่าวว่า “ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตร การลงนามข้อตกลงร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลครั้งนี้เป็นหนึ่งในภารกิจในการสนองตอบนโยบายภาครัฐ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะพัฒนาการวิจัยการเกษตร โดยมีแนวทางการร่วมกันพัฒนางานวิจัยด้านเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิผล ทั้งข้อมูล บุคลากร เทคโนโลยี วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ พื้นที่สำหรับดำเนินการโครงการ อีกทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะด้านการวิจัยการเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสบการณ์ด้านการวิจัยการเกษตรของไทย และผลักดันให้นำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงนโยบายและการพาณิชย์ให้มากที่สุด ด้วยคาดหวังว่าจะทำให้เกษตรกรไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผลมีความยินดียิ่งที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อสร้างงานวิจัยและผลักดันให้นำผลงานวิจัยนั้นไปพัฒนาการเกษตรของไทยให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งเป็นการช่วยภาคเกษตรที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของประเทศ และเพื่อผลักดันภาคเกษตรในการสร้างรายได้ให้ประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ไม่ถึง 10% ของ GDP อีกทั้งเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี พ.ศ.2559-2564) ที่ระบุเป้าหมายให้พัฒนาภาคเกษตรให้ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี และด้วยปรัชญาการทำงานตลอด 60 ปีของกลุ่มมิตรผล “ร่วมอยู่...ร่วมเจริญ” ต่างฝ่ายต่างต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทุกคนก็จะอยู่และเจริญเติบโตไปด้วยกันได้
ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญด้านการวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผลมานานกว่า 20 ปี ปัจจุบันมีนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอกกว่า 80 คน ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละส่วนงานวิจัย เช่น ด้านการวิจัยอ้อย, น้ำตาล, ชีวเคมี (Biochemistry) ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 1-1.5% ของรายได้รวมของกลุ่มมิตรผลต่อปี เริ่มจากการวิจัยอ้อยซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก จากนั้นเริ่มต่อยอดวิจัยการเกษตรอื่น ๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการเกษตรโดยรวมอย่างต่อเนื่อง และยังมีความเข้าใจและทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรมาอย่างสม่ำเสมอ มีศักยภาพในการขยายผลการวิจัยในวงเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทั้งด้านการค้าได้อย่างจริงจัง
ข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ สวก. จะร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลในโครงการวิจัยจำนวน 3 โครงการ คือ
- โครงการการวิจัยการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียน และบำรุงรักษาดิน - เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่นา เนื่องจากข้าวล้นตลาด จึงหาทางเลือกให้ชาวนาปลูกพืชทดแทนข้าวด้วยถั่วเหลือง เพราะตลาดมีความต้องการสูง แต่ผลผลิตในประเทศต่ำ จึงยังต้องพึ่งพาการนำเข้าต่อปีในปริมาณที่มาก ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการถั่วเหลืองโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านตัน แต่เราสามารถผลิตได้ในประเทศเฉลี่ยเพียงปีละ 50,000 ตันเท่านั้น โดยในโครงการนี้จะศึกษาการปลูกถั่วเหลืองทั้งเมล็ดพันธุ์และเมล็ดพืชให้มีคุณภาพบนพื้นที่ 150 ไร่ โดยใช้เกษตรสมัยใหม่เข้ามาจัดการแปลง รวมถึงการรวมเป็นเกษตรแปลงใหญ่ด้วย เป้าหมายของโครงการวิจัย คือสามารถนำผลที่ได้จากโครงการวิจัยไปสู่การขยายผลให้เป็น 1,000 ไร่
- โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ (Biocontrol)มุ่งเน้นสนับสนุนนโยบายรัฐที่ให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชของการทำเกษตรกรรมในไทย โดยโครงการวิจัยนี้จะพัฒนาทั้งสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ การกำจัดศัตรูพืชแบบชีววิธี รวมทั้งนวัตกรรมมาใช้แทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่จะสนองนโยบายเกษตรอินทรีย์ของรัฐ และช่วยเกษตรกรลดการได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีรายงานว่า จำนวนผู้ป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2553 มีผู้ป่วย 1,851 ราย เพิ่มเป็น 8,066 รายในปี 2555 อีกทั้งยังลดการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ประเทศไทยมีการนำเข้าเฉลี่ยถึงปีละ 150,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท
- โครงการปรับปรุงคุณสมบัติของดินโดยปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer)- สืบเนื่องจากการทำเกษตรกรรมของไทยแบบไม่ยั่งยืนมายาวนาน ปัญหาโลกร้อน รวมทั้งลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะคุณภาพดินไม่เหมาะสม จากข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 182 ล้านไร่ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ โครงการนี้จึงมุ่งศึกษาวิธีการปรับปรุงคุณสมบัติดินให้คุณภาพดีขึ้น จนสามารถทำเกษตรกรรมในพื้นที่นั้น ๆ ได้ โดยในช่วงแรกดินทรายจะเป็นดินประเภทดินแรกที่จะศึกษาวิธีการปรับปรุง
ความพร้อมของศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล
สำหรับการร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)
กลุ่มมิตรผลได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีการวิจัยการเกษตร เพื่อการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) โดยมีโครงการที่จะดำเนินการในระยะแรก จำนวน 3 โครงการ คือ
- โครงการการวิจัยการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียนและบำรุงรักษาดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่นา
- โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ (Biocontrol) ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนนโยบายรัฐที่ให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาอันตรายจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศด้วย
- โครงการปรับปรุงคุณสมบัติของดินโดยปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) เพื่อให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น จนสามารถทำเกษตรกรรมในพื้นที่นั้นๆ ได้
กลุ่มมิตรผลมีความพร้อมและมั่นใจในการร่วมมือครั้งนี้ ทั้งนี้เพราะกลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับ การคิดค้น วิจัย และพัฒนา จึงได้ก่อตั้งบริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด หรือ ศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยขึ้นเป็นแห่งแรกมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 ที่จังหวัดชัยภูมิ และได้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัย แห่งที่สองขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2557 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ซึ่งแรกเริ่มจัดตั้งขึ้น เพื่อค้นคว้าหาแนวทางในการพัฒนาผลผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการไร่อ้อย เพื่อเพิ่มความรู้และศักยภาพให้กับชาวไร่อ้อย และต่อมาจึงมีการพัฒนา ต่อยอดสู่พืชทางเลือกอื่นๆ มีการปรับปรุงบำรุงดินและสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายผลไปสู่เกษตรกรในวงกว้าง รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำตาลคุณภาพสูงหลากหลายชนิด และธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล ธุรกิจเอทานอล ธุรกิจปุ๋ย ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ และธุรกิจใหม่ ซึ่งรวมถึงธุรกิจในอนาคตกลุ่ม New S-Curve เช่น พลาสติกชีวภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้า องค์กร และสังคม
สรุปความพร้อมของศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล
∙ ความพร้อมด้านองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้าน CANE/CROP PRODUCTION
งานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- การพัฒนาพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
- การพัฒนาพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
- การพัฒนาระบบการควบคุมศัตรูพืชด้วยชีววิธีที่ช่วยลดการใช้สารเคมีในไร่อ้อย
- การวิเคราะห์คุณภาพดินและปุ๋ยที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยในแต่ละพื้นที่
- การวิเคราะห์คุณภาพดินและปุ๋ยที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยในแต่ละพื้นที่
ผลงานวิจัยชิ้นสำคัญ:
- พันธุ์อ้อยสู้แล้ง พันธุ์อ้อยปลอดโรค พันธุ์อ้อยไฟเบอร์สูง พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับการตัด พันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตอ้อยและผลผลิตน้ำตาลสูง
- ชุดตรวจสอบโรคใบขาว โปรแกรมพยากรณ์การระบาดของโรค โปรแกรมการวินิฉัยโรคและแมลง
ศัตรูอ้อย ผลิตภัณฑ์ราเขียวเพื่อควบคุมแมลงศัตรูอ้อย
- ชุดตรวจสอบคุณภาพดิน เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยเฉพาะที่
- พันธุ์อ้อยสู้แล้ง พันธุ์อ้อยปลอดโรค พันธุ์อ้อยไฟเบอร์สูง พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับการตัด พันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตอ้อยและผลผลิตน้ำตาลสูง
- ชุดตรวจสอบโรคใบขาว โปรแกรมพยากรณ์การระบาดของโรค โปรแกรมการวินิฉัยโรคและแมลง
ศัตรูอ้อย ผลิตภัณฑ์ราเขียวเพื่อควบคุมแมลงศัตรูอ้อย
- ชุดตรวจสอบคุณภาพดิน เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยเฉพาะที่
- ระบบการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
∙ ความพร้อมด้านบุคลากร เทคโนโลยี วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ
ด้านบุคลากร
- มีทีมนักวิจัยทั้งหมด 3 ทีม คือ (1) ทีมเทคโนโลยีการปลูกและพัฒนาพันธุ์ (2) ทีมอารักขาพืช และ (3) ทีมเทคโนโลยีชีวภาพ
- มีทีมนักวิจัยทั้งหมด 3 ทีม คือ (1) ทีมเทคโนโลยีการปลูกและพัฒนาพันธุ์ (2) ทีมอารักขาพืช และ (3) ทีมเทคโนโลยีชีวภาพ
- คุณสมบัติ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของนักวิจัย
: การใช้เครื่องจักรในการปลูกและเก็บเกี่ยว รวมถึงระบบการให้น้ำและปุ๋ยในไร่อ้อย
: การพัฒนาสารควบคุมศัตรูพืชจากธรรมชาติ ในการควบคุมศัตรูพืช
: การศึกษาการใช้ปุ๋ยพืชสด หรือพืชคลุมดินในไร่อ้อย
: การพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อผสมในปุ๋ยอินทรีย์ให้กับผลิตภัณฑ์ปุ๋ยซอยล์เมต (Soil Mate)
ด้านเทคโนโลยี วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ
- มีผลงานวิจัยและพัฒนาด้านพืชและเทคโนโลยีการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
- มีห้องปฏิบัติการ วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่มีความพร้อมในการรองรับการดำเนินงาน
- มีคลังเชื้อจุลินทรีย์ที่คัดเลือกเองจากพื้นที่โรงงาน และไร่อ้อย ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้
ด้านพื้นที่สำหรับดำเนินโครงการ
- มีความพร้อมของพื้นที่สำหรับดำเนินโครงการ เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากทำงานใกล้ชิดกับเกษตรไทยมากว่า 60 ปี
ด้านการผลักดันให้นำผลวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และสาธารณะ
- มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือผลงานวิจัยไปสู่เกษตรกร เพื่อผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสาธารณะ
ตัวอย่างงานวิจัยของของบริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด
โครงการปรับปรุงพันธุ์อ้อยแบบบูรณาการเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำตาล
โครงการวิจัยนี้ เป็นโครงการที่บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ดำเนินการร่วมกับสวทช. เพื่อพัฒนาเครื่องหมายพันธุกรรม (Molecular Marker) เพื่อใช้ในการคัดเลือกพันธุ์อ้อย โดยมีความแม่นยำมากขึ้นและลดเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ให้น้อยลง เนื่องจากการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิมต้องใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์ประมาณ 10-12 ปี แต่หากใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายพันธุกรรมเข้ามาช่วย จะสามารถลดลงเวลาลงเหลือเพียงประมาณ 6 ปีเท่านั้น
การใช้เครื่องหมายพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์นั้น มีข้อดีคือ สามารถมุ่งเป้าไปที่คุณสมบัติเฉพาะที่ต้องการ เช่น พันธุ์อ้อยที่ให้ความหวานสูงสำหรับการผลิตน้ำตาลหรือเอทานอล อ้อยไฟเบอร์สูงสำหรับผลิตไฟฟ้า หรือคุณสมบัติอื่นๆ เช่น อ้อยที่สามารถไว้ตอได้ดี หรืออ้อยทนแล้ง เป็นต้น
สำหรับเป้าหมายของโครงการนี้ คือ ต้องการพัฒนาพันธุ์อ้อยที่ให้ความหวานและผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น
โครงการนี้มีระยะเวลาทั้งหมด 6 ปี สถานภาพโครงการ ณ ปัจจุบัน คือ ดำเนินงานมาถึงปีที่ 4 ซึ่งสามารถกำหนดเครื่องหมายพันธุกรรมสำหรับพันธุ์อ้อยค่าความหวานสูงได้ และอยู่ในระหว่างการทดสอบ
โครงการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer)
โครงการวิจัยปุ๋ยชีวภาพ เป็นโครงการที่บริษัทต้องการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพโดยการผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มที่ช่วยการเจริญเติบโตของพืช หรือ Plant Growth Promoting Rhizobacteria (PGPR) ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถตรึงไนโตรเจน และละลายฟอสเฟตให้อยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ได้ โดยนักวิจัยได้คัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์กลุ่ม PGPR นี้มาจากไร่อ้อย และสามารถพัฒนาเชื้อให้มีความสามารถตรึงไนโตรเจนได้สูง และยังละลายฟอสเฟตให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ด้วย ซึ่งช่วยทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี โดยผลจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผสมหัวเชื้อของบริษัท พบว่า สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 10% และลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ถึง 50% อีกทั้งยังส่งผลให้สามารถลดการนำเข้าหัวเชื้อกลุ่ม PGPR จากต่างประเทศได้อีกด้วย โดยการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพนี้ บริษัทตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการเกษตรของประเทศอย่างยั่งยืน เนื่องจากปุ๋ยชีวภาพสามารถปรับปรุงคุณภาพดินให้สมบูรณ์ขึ้น และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าปุ๋ยเคมี
โครงการ Super Yeast
โครงการพัฒนาพันธุ์ยีสต์เพื่อผลิตเอทานอลสูง หรือ Super Yeast เป็นโครงการที่ทางบริษัทต้องการพัฒนาพันธุ์ยีสต์เพื่อใช้ทดแทนยีสต์ผงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน สายพันธุ์ที่นักวิจัยสามารถพัฒนา ได้แล้วนั้น ได้ถูกนำไปใช้ในการผลิตจริงแล้วโดยบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด ผู้ผลิตเอทานอลสำหรับพลังงานรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการผลิตเอทานอลได้มากกว่ายีสต์ผงที่เคยใช้ถึง 2% อีกทั้งมีอายุการใช้งานได้นานกว่า นอกจากสายพันธุ์ยีสต์ที่พัฒนาได้แล้ว ยังมีการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีการผลิตน้ำเสียน้อยลงถึง 9,000 ลบ.ม.ต่อปีเลยทีเดียว
โครงการการประเมินสภาพการเจริญเติบโตของอ้อยด้วยภาพถ่ายความละเอียดสูงจาก UAV
ทางบริษัทได้เล็งเห็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความก้าวหน้ามากมาใช้ประโยชน์กับการประเมินสภาพอ้อย เพื่อช่วยให้มีการจัดการแปลงได้ดีขึ้น และเป็นการทุ่นแรงงาน จึงได้มีการพัฒนาโปรแกรมที่จะสามารถประเมินสภาพการเจริญเติบโตของอ้อยได้ โดยอาศัยภาพถ่ายรายละเอียดสูงจากเครื่องบินเล็กไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Vehicle (UAV) ซึ่ง UAV จะสามารถบินขึ้นไปเก็บภาพถ่ายรายละเอียดสูงของแปลงอ้อย จากนั้นเมื่อเราได้ข้อมูลรูปถ่ายของอ้อยสภาพต่างๆแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาสร้างสมการเพื่อหา ความสัมพันธ์ระหว่างรูปถ่ายกับสภาพอ้อยจริง เมื่อได้สมการออกมาแล้ว เราจะสามารถใช้สมการนี้สร้างโปรแกรมประเมินสภาพของแปลงเป้าหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมดิน การงอกของอ้อย คุณภาพของอ้อยที่งอก ปริมาณวัชพืช อายุของอ้อย ซึ่งทั้งหมดนี้ จะนำมาสู่การวิเคราะห์คุณภาพอ้อยของแปลงนั้นๆ ว่าพร้อมที่จะตัดเข้าหีบหรือไม่ หรือต้องการการดูแลพิเศษตรงจุดใดของแปลงหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมนี้ จะทำให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการแปลงที่ดีขึ้น สามารถเข้าแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
โครงการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำตาล
บริษัทมิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด มีทีมวิจัยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตน้ำตาล เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำตาลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการพัฒนากระบวนการผลิตมีเป้าหมายหลักคือ เพื่อลดการสูญเสียจากกระบวนการผลิตทางการออกแบบของเครื่องจักร การลดการสูญเสียเนื่องจากปฏิกิริยาเคมี เช่น การสลายของน้ำตาลอันเนื่องมาจากค่า pH หรือความร้อน และการลดการสูญเสียเนื่องจากการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ตั้งแต่ขั้นตอนการตัดอ้อย เป็นต้น
นอกจากการพัฒนากระบวนการผลิตแล้ว บริษัทยังพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำตาลหลากหลายชนิดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอีกด้วย
โครงการที่จะทำร่วมกับสวก.ภายใต้ความร่วมมือฯ
โครงการการวิจัยการปลูกพืชหลังการทำนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียนและบำรุงรักษาดิน
การดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงที่ทำร่วมกับสวก.นี้ มีโครงการแรกที่จะดำเนินการ คือ โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่นาข้าวโดยการปลูกถั่วเหลืองแบบใช้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ โครงการนี้มีหลักการการทำงานเพื่อสอดรับกับยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คือ
1. การลดพื้นที่การทำนาปรัง เพื่อลดปัญหาข้าวราคาตกต่ำ เนื่องจากสินค้าล้นตลาด และปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร โดยสนับสนุนให้เกษตรปลูกถั่วเหลืองแทน เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าว และเป็นที่ต้องการของตลาดสูง นอกจากนี้ถั่วเหลืองยังสามารถถูกใช้เป็นพืชหมุนเวียนที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้นเพื่อการปลูกข้าวรอบปีถัดไปได้
2. การใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ในการจัดการไร่ ที่จะนำไปสู่การรวมกลุ่ม เกิดเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้ผลิตผลมีคุณภาพดีขึ้น และช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
3. ศึกษาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ภายใต้คำแนะนำจากกรมวิชาการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ และสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เอง
โดยโครงการวิจัยนี้ จะเปรียบเทียบวิธีการผลิตถั่วเหลืองแบบดั้งเดิมกับวิธีการผลิตแบบเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้เห็นความแตกต่างในแต่ละด้าน และใช้พื้นที่ศึกษาเป็นแปลงต้นแบบของการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองให้ได้คุณภาพ ผลวิจัยที่ได้จะถูกนำไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่อยู่บริเวณใกล้เคียง หรือที่มีความสนใจต่อไป โครงจะใช้ระยะเวลาการดำเนินการทั้งหมด 3 ปี โดยในปีแรกจะมีพื้นที่วิจัยอยู่ที่ 150 ไร่ โดยแบ่งเป็นศึกษาการปลูกถั่วเหลืองใน 2 ฤดู คือ ฤดูฝน ปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ 20 ไร่ และเมล็ดถั่วเหลืองเพื่อบริโภค 30 ไร่ และปลูกในฤดูแล้ง ปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ 20 ไร่ และเมล็ดถั่วเหลืองเพื่อบริโภค 80 ไร่
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการคือ
- ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
- ช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน
- ช่วยเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองโดยรวมของประเทศ ซึ่งนำไปสู่การลดการนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ
- ลดข้อจำกัดด้านแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตแบบแปลงใหญ่ จากการนำเครื่องจักรกลมาใช้ในการจัดการไร่ หรือการทำเกษตรสมัยใหม่
- เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดการแบ่งปันเทคโนโลยีและปัจจัยการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น
โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ (Biocontrol)
แนวคิดที่มาของโครงการวิจัยนี้ เกิดจากปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ
ประการที่ 1: เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำให้มีผลผลิตที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปได้อย่างหลากหลายและต่อเนื่อง ซึ่งการนำวัตถุดิบต่างๆมาแปรรูปนั้นทำให้เกิดวัสดุเหลือทิ้งจากขบวนการแปรรูปต่างๆ ดังนั้นทีมวิจัยจึงต้องการหาวิธีที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้
ประการที่ 2: การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้เป็นอันตรายต่อทั้งตัวเกษตกร และสิ่งแวดล้อม ภาครัฐจึงเล็งเห็นถึงปัญหาและมีนโยบายที่ต้องการให้ทำการเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
ทีมวิจัยจึงต้องการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น โดยจะศึกษาทั้งวิธีการสกัดสาร และคุณสมบัติจากสารสกัดที่ได้จากวัสดุเหลือทิ้งจากขบวนการอุตสาหกรรมเกษตรนั้น โดยมุ่งเน้นไปที่การค้นหาคุณสมบัติ “การเป็นสารควบคุมศัตรูพืชจากธรรมชาติ” ที่มีข้อดี คือ ปลอดภัยต่อเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งจากขบวนการผลิตต่างๆได้อีกด้วย
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัยนี้ คือ ได้เทคนิคขั้นตอนวิธีการสกัดสารควบคุมศัตรูพืชจากธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ทดแทนการสารเคมี ซึ่งเป็นการสนับสนุนทางเลือกให้เกษตรกรในการลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
โครงการวิจัยการปรับปรุงคุณสมบัติดินโดยปุ๋ยชีวภาพ
เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีพื้นที่อีกกว่า 180 ล้านไร่ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ เนื่องจากคุณภาพดินที่ไม่เหมาะสม เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินดาน หรือดินทราย เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมสภาพอาจมาได้จากการทำการเกษตรแบบไม่ยั่งยืนมาอย่างยาวนานในพื้นที่ ปัญหาโลกร้อน หรือลักษณะทางกายภาพของดินในพื้นที่นั้นๆเอง โครงการวิจัยนี้จึงมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงคุณภาพดิน ทั้งด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยพืชสด และสารปรับสภาพดิน (ที่มาจากธรรมชาติ) ที่มีความเหมาะสมต่อสภาพปัญหาในพื้นที่นั้นๆ โดยในช่วงแรกของโครงการ จะแก้ปัญหาแบบเจาะจงไปที่การปรับปรุงคุณภาพดินทรายเป็นอันดับแรก
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการคือ
1. คุณสมบัติทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ของดินดีขึ้น จนสามารถมีกิจกรรมการเกษตรบนพื้นที่นั้นๆได้
2. สามารถลดสารพิษที่ตกค้างอยู่ในดิน
3. เพิ่มปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในดินได้