งานเทศกาลและประกาศรางวัลภาพยนตร์นานาชาติมาเก๊า (IFFAM) ครั้งที่ 1
งานเทศกาลและประกาศรางวัลภาพยนตร์นานาชาติมาเก๊า ครั้งที่ 1 (1st International Film Festival and Awards Macao – IFFAM) กำลังจะเริ่มขึ้นแล้วในระหว่างวันที่ 8-13 ธันวาคมนี้ โดยมีภาพยนตร์ใหม่เข้าประกวด 12 เรื่อง มีภาพยนตร์ใหม่ๆที่ฉายเป็นครั้งแรกในโลกและในเอเชียหลายเรื่อง ทั้งยังฉายภาพยนตร์เก่า 12 เรื่อง ที่คัดเลือกโดยผู้กำกับการแสดงของเอเชีย 12 คน ซึ่งจะมาเล่าถึงภาพยนตร์นั้นๆว่าเป็นเรื่องโปรดของตนอย่างไร ก่อนฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวด้วย
งานเทศกาลและประกาศรางวัลภาพยนตร์มาเก๊า เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานการท่องเที่ยวของรัฐบาลมาเก๊า (Macao Government Tourism Office – MGTO) และสมาคมอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมการผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์แห่งมาเก๊า (Macau Films & Television Productions and Culture Association – MFTPC) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมภาพยนตร์ภาษาจีน ภาพยนตร์เอเชียตะวันออก และภาพยนตร์นานาชาติ ทั้งในฐานะความบันเทิงและอุตสาหกรรมการผลิต ในฐานะศิลปะและเครื่องมือสื่อสาร ในฐานะจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพและการแลกเปลี่ยนมุมมอง นอกจากนี้ยังจะรำลึกและยกย่องผู้ที่มีส่วนช่วยอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอดีต ซึ่งมีความสำคัญต่อเส้นทางประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์เสมอมา
ไฮไลต์สำคัญในงานเทศกาลครั้งนี้ประกอบด้วย
1) เทศกาลภาพยนตร์ FILMS
มีภาพยนตร์เปิดตัวคือเรื่อง Polina ของผู้กำกับอองเฌอแลง เพรลโจกาจ (Angelin Preljocaj) กับวาเลรี มุลเลอร์ (Valérie Müller) ชาวฝรั่งเศสทั้งคู่ เป็นเรื่องของหญิงสาวชาวรัสเซียที่มีพรสวรรค์ด้านบัลเลต์ ภายหลังหนีไปฝรั่งเศส
ส่วนภาพยนตร์ 12 เรื่อง ที่เข้าร่วมประกวดเพื่อรับรางวัล 8 สาขาด้วยกัน รวมทั้งรางวัลขวัญใจมหาชนมาเก๊า โดยมีคณะกรรมการได้แก่ ผู้กำกับเชการ์ คาปูร์ ที่เป็นหัวหน้าคณะ (Shekhar Kapur) จากอินเดีย สแตนลีย์ กวาน (Stanley Kwan) จากจีนฮ่องกง อาธีนา ราเชล ซังการี (Athina Rachel Tsangari) จากกรีซ จองอูซอง (Jung Woo Sung) จากเกาหลีใต้ และมากิโกะ วาตานาเบะ (Makiko Watanabe) จากญี่ปุ่น ได้แก่
1) 150 Milligrams โดยผู้กำกับเอมมานูแอล แบร์โกต์ (Emmanuelle Bercot) จากฝรั่งเศส
2) Elon Doesn’t Believe In Death โดยผู้กำกับริการ์โด อัลเวส ฌูเนียร์ (Ricardo Alves Junior) จากบราซิล
3) Free Fire โดยผู้กำกับเบน วีตลีย์ (Ben Wheatley) จากอังกฤษ
4) Gurgaon โดยผู้กำกับแชนเกอร์ รามัน (Shanker Raman) จากอินเดีย
5) Hide and Seek โดยผู้กำกับหลิวเจี๋ย (Liu Jie) จากจีน
6) Queen of Spades โดยผู้กำกับปาเวล ลุงกิน (Pavel Lungin) จากรัสเซีย
7) Saint George โดยผู้กำกับมาร์โก มาร์ตินส์ (Marco Martins) จากโปรตุเกส
8) Sisterhood โดยผู้กำกับเทรซีย์ ชอย (Tracy Choi) จากมาเก๊า
9) Survival Family โดยผู้กำกับชิโนบุ ยางุจิ (Shinobu Yaguchi) จากญี่ปุ่น
10) The Winter โดยผู้กำกับเอมิลิอาโน ตอร์เรส (Emiliano Torres) จากอาร์เจนตินา
11) Trespass Against Us โดยผู้กำกับอดัม สมิธ (Adam Smith) จากอังกฤษ
12) Shining Moment โดยผู้กำกับฟรุต แชน (Fruit Chan) จากจีนฮ่องกง
สำหรับภาพยนตร์โดดเด่นของปี ที่จะฉายรอบปฐมทัศน์ในงานเทศกาล IFFAM ในมาเก๊า มี 3 เรื่อง คือ
1) Pandora โดยผู้กำกับพัคจองอู (Park Jung Woo) จากเกาหลีใต้ เปิดฉายนอกประเทศเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก (International Premiere) ในเทศกาลนี้
2) The Mole Song: Hong Kong Capriccio โดยผู้กำกับทากาชิ มิอิเกะ (Takashi Miike) จากญี่ปุ่น เปิดฉายรอบปฐมทัศน์โลก (เวิลด์พรีเมียร์) ที่นี่ และเป็นภาคต่อของ The Mole Song: Undercover Agent Reiji ที่ฉายไปเมื่อค.ศ.2013
3) Immortal Story โดยผู้กำกับหยวนฟาน (Yonfan) จากจีนฮ่องกง เปิดฉายฉลองครบรอบ 30 ปีของการบูรณะภาพยนตร์เก่าเรื่องนี้เป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ยังมีโปรแกรม Special Presentation ที่จะฉายเรื่อง Macao – The Backside of the Sea โดยผู้กำกับคลีเมนส์ คลอปเฟนชไตน์ จากสวิตเซอร์แลนด์
โปรแกรม Hidden Dragons โชว์ผลงาน 9 เรื่อง เฉพาะที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ของโลก ของเอเชีย และของเวทีนานาชาติ ในงานเทศกาลนี้ อาทิ Daguerreotype โดยผู้กำกับคิโยชิ คุโรซาวะ (Kiyoshi Kurosawa) จากญี่ปุ่น The Housemaid โดยผู้กำกับเดเร็ค เหงียน (Derek Nguyen) จากเวียดนาม 1974 โดยผู้กำกับวิกตอร์ ดรีเยเร (Victor Dryere) จากเม็กซิโก Antiporno โดยผู้กำกับซิอง โซโนะ (Sion Sono) จากญี่ปุ่น
โปรแกรม Crossfire (Retrospective) ซึ่งจะฉายภาพยนตร์ตะวันตกเก่าๆ ที่ไม่ใช่ภาพยนตร์อเมริกัน 12 เรื่อง เพื่อให้วงการภาพยนตร์นานาชาติมีโอกาสเต็มที่ในเทศกาลนี้ ภาพยนตร์เหล่านี้คัดเลือกโดยผู้กำกับการแสดงของเอเชีย 12 ราย ในฐานะภาพยนตร์ตะวันตกเรื่องโปรดของตน ผู้กำกับแต่ละรายจะมาแนะนำและเล่าถึงภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ก่อนการฉายภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ว่าให้แรงบันดาลใจแก่ตนอย่างไร ในด้านไหนบ้าง อาทิ
- พักชานุก (Park Chan Wook) จากเกาหลีใต้ จะมาพูดถึง Don’t Look Now (ค.ศ.1973) ของนิโคลัส โร้ก (Nicholas Roeg) จากอังกฤษ
- ซิอง โซโนะ จะพูดถึง Horror of Dracula (ค.ศ.1958) ของผู้กำกับเทอเรนซ์ ฟิชเชอร์ (Terence Fisher) ชาวอังกฤษ
- ตู้ฉีฟง (Johnnie To) จากจีนฮ่องกง จะพูดถึง The Good, The Bad and The Ugly (ค.ศ.1966) ของผู้กำกับเซอร์จิโอ เลโอเน (Sergio Leone) ชาวอิตาลี
โปรแกรม Best of Fest Panorama ก็น่าสนใจยิ่ง เพราะคัดเฉพาะภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์สำคัญแห่งอื่นๆ และต้องเป็นภาพยนตร์ที่ไม่เคยฉายในเอเชียมาก่อน นับเป็นรอบปฐมทัศน์ในเอเชียอีกโปรแกรมหนึ่ง มีทั้งหมด 9 เรื่องด้วยกัน อาทิ Jackie ภาพยนตร์อังกฤษ โดยผู้กำกับพาโบล ลาร์เรน (Pablo Larraín) ชาวชิลี เรื่อง Manchester By The Sea โดยผู้กำกับเคนเนธ โลเนอร์แกน จากสหรัฐอเมริกา Lady Macbeth โดยผู้กำกับวิลเลียม โอลดรอยด์ จากอังกฤษ เป็นต้น
พร้อมด้วยโปรแกรม Actress in Focus แนะนำดาราหญิงของเอเชีย ซึ่งในครั้งนี้เลือกแนะนำดาราหญิงชาวไต้หวัน กุ้ยหลุนเหม่ย์ (Gwei Lun Mei)
2) ปาฐกถาพิเศษ MASTERCLASS
มี 2 รายการ โดยจิอานนี่ นุนนารี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวูด จะมาพูดในหัวข้อ Producing in Hollywood – Big budget blockbusters, independent genre films, and what Hollywood and Asia can learn from each other ในวันที่ 10 ธันวาคม และ ทอม แมคคาร์ธี เจ้าของรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2016 จะมาเป็นปาฐกเรื่อง The Art of Storytelling using the Personal to Elevate the Political ในวันที่ 11 ธันวาคม แต่ละรายการมีความยาว 2 ชั่วโมง
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.iffamacao.com
สนใจซื้อบัตรเข้าชมงานได้ที่ www.macaoticket.com