ADS


Breaking News

“เด็กเตี้ย ปัญหาสุขภาพที่มากกว่าความสูง”

โดย  ผศ.พญ.ประไพ  เดชคำรณ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
     ปัจจุบันปัญหาการเจริญเติบโตที่พบบ่อยในเด็กมีทั้งภาวะตัวเตี้ย มีการเจริญเติบโตช้า โดยพบความชุกของภาวะโรคเตี้ยอยู่ที่ร้อยละ 1-5  หรือในเด็ก 100 คน จะพบเด็กที่ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์อยู่ 1-5 คน  ทั้งนี้ภาวะเด็กเตี้ยที่เป็นปัญหาด้านการเติบโต หมายถึงเด็กที่เจริญเติบโตช้ากว่าอัตราปกติทั้งน้ำหนักและส่วนสูง โดยสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จะยึดตามเกณฑ์ความสูงที่ต้องไม่ต่ำกว่าเส้นล่างสุดของกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตขององค์การอนามัยโลก และสำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ปี ให้ใช้กราฟของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขในการวัด  คือ หากพบว่าเด็กแรกเกิด - 1  ปี มีอัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่า 25 ซม./ปี, เด็กอายุ 1-2 ปี  มีอัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่า 12 ซม./ปี, เด็กอายุ 2-3 ปี มีอัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่า 8 ซม./ปี, อายุ 3 ปี - ก่อนวัยหนุ่มสาว มีอัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่า  4-7  ซม./ปี โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5 ซม./ปี   และในช่วงเข้าวัยหนุ่มสาว เด็กหญิงมีอัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่า 7-9 ซม./ปี  แต่โดยเฉลี่ย 5 ซม./ต่อปีและเด็กชายเติบโตน้อยกว่า 8-10 ซม./ปี ผู้ปกครองควรสังเกตการเติบโตอย่างใกล้ชิด  
    ซึ่งหากผู้ปกครองพบว่าความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ เพื่อทำการรักษา แก้ไข ให้เด็กตัวสูงขึ้น     เนื่องจากค่านิยมของคนไทยเชื่อว่าเด็กตัวสูงมีโอกาสที่ดีกว่าในการใช้ชีวิตปกติ เช่น เล่นกีฬาได้ดีกว่า บุคลิกดูดีกว่า และเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีโอกาสหางานทำได้ง่ายกว่า และนอกจากวิธีการวัดส่วนสูงแล้ว   ยังมีวิธีสังเกตอื่น ๆ อีก ได้แก่ ความสูงของเด็กแตกต่างจากความสูงตามพันธุกรรมของพ่อแม่หรือเด็กมีสัดส่วนร่างกายผิดปกติ เช่น แขนขา สั้นกว่าปกติ หรือลำตัวสั้นกว่าปกติ เป็นต้น
    เมื่อพาเด็กที่สงสัยว่าเป็นโรคเตี้ยไปพบกุมารแพทย์ จะมีการประเมินและตรวจร่างกายเบื้องต้น หากพบความผิดปกติหรือสงสัย จะส่งต่อไปให้กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติเบื้องต้น และในกรณีที่สงสัยว่ามีภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต อาจตรวจโดยการกระตุ้นฮอร์โมนการเจริญเติบโต เมื่อตรวจพบความผิดปกติของระดับฮอร์โมนการเจริญเติบโต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อ  จะพิจารณาการรักษาโดยให้ฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโตต่อไป  และหากเป็นโรคขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต  จะรักษาโดยการฉีดฮอร์โมนเท่านั้น จะไม่มีฮอร์โมนการเจริญเติบโตชนิดกินหรือชนิดพ่นหรือแบบอื่น ๆ  ตามที่ได้มีการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์หรือทางสื่ออื่น ๆ  ทั้งนี้โรคขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กที่แสดงให้เห็นเฉพาะทางด้านร่างกาย  คือ เด็กตัวเตี้ย และด้านจิตใจคือ มีปมด้อยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อระบบร่างกายอื่น ๆ ด้วย เช่น กล้ามเนื้อ ไขมันในเลือด เป็นต้น สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสูง ว่าคนเราจะสูงได้แค่ไหน มาจากปัจจัยหลัก 6 ประการ  ประกอบด้วย ดังนี้
  1. ยีนหรือพันธุกรรม ยีนที่ควบคุมความสูงมีหลายยีน และเด็กที่มีพ่อแม่สูงหรือร่วมกับปู่ย่าตายายสูง ลูกมักจะสูง ในทางตรงข้ามเด็กที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตาทวดเตี้ยเด็กคนนั้นก็มักจะเตี้ย แต่เนื่องจากลูกแต่ละคนได้รับถ่ายทอดยีนจากพ่อแม่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น พ่อแม่เดียวกัน มีลูกหลายคน ลูกก็อาจสูงไม่เท่ากัน
  2. ฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตในวัยเด็ก คือฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth Hormone) ซึ่งทำให้มีการขยายตัวของกระดูกเป็นผลให้กระดูกยาวขึ้น
  3. ฮอร์โมนเพศ ในช่วงเข้าวัยหนุ่มสาวเด็กจะมีการเจริญเติบโตเร็วขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนเพศกระตุ้นการหลั่งเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนการเจริญเติบโต และทำให้มีการพัฒนาของกระดูกและเมื่อเข้าวัยหนุ่มสาวสักระยะหนึ่งแล้ว ฮอร์โมนเพศจะทำให้กระดูกปิด และหยุดการเจริญเติบโต
  4. อาหารการกิน สารอาหารมีส่วนสำคัญมากในการเจริญเติบโตของร่างกายซึ่งรวมถึงกระดูก การกินอาหารครบหมู่ช่วยให้ได้รับพลังงาน โปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี และอื่นๆ มีผลต่อการเจริญเติบโต การขาดพลังงาน โปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ ทำให้การเจริญเติบโตช้า สารอาหารหลักที่มีผลต่อการสร้างเสริมกระดูก เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส  และวิตามินดี มีความสำคัญต่อความสูงเช่นกัน
  5. การออกกำลังกายที่เหมาะสม การออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต แต่การออกกำลังกายในเด็กที่มากและหนักเกินไปจะกดการเจริญเติบโตทำให้ตัวเล็กแกร็น โดยเฉพาะเด็กที่ผอมมากเพราะกินน้อยแต่ออกกำลังมากเกินไป การออกกำลังกายชนิดลงน้ำหนัก เช่น การกระโดด บาสเก็ตบอล ช่วยให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจะทำให้เด็กตัวสูงมากกว่าการออกกำลังกายชนิดอื่น แต่มีข้อเสียในเด็กอ้วนคือจะมีแรงกดต่อหัวเข่าด้านในมาก ทำให้เกิดอาการขาโก่ง
  6. การนอนหลับ การนอนหลับสนิทมีความเกี่ยวข้องกับการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต จึงแนะนำให้เด็กนอนหลับสนิทให้เพียงพอเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี
    ดังนั้น หากพ่อแม่ ผู้ปกครอง สังเกตเห็นความผิดปกติหรือมีความสงสัยเกี่ยวกับฮอร์โมนการเจริญเติบโต สามารถปรึกษากุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ได้ที่โรงพยาบาลที่มีกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อทุกแห่งทั้งรัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศ
                    ////////////////

โรงพยาบาล ที่รับการรักษาโรคขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต หรือโรคเด็กเตี้ยผิดปกติ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์   โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช ศิริราชปิยะมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์   โรงพยาบาลตำรวจ   โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า  โรงพยาบาลวชิรพยาบาล สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โรงพยาบาลชลประทาน โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลพระปกเกล้า โรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลธนบุรี 1 โรงพยาบาลพญาไท 2,3  โรงพยาบาลไทยนครินทร์ โรงพยาบาลรามคำแหง โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท  โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน โรงพยาบาลนนทเวช โรงพยาบาลวิภาราม โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี และโรงพยาบาลเจ้าพระยา