ADS


Breaking News

ตามรอยเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดน่าน น้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

นำกระแสพระราชดำรัสมาดำเนินหลักการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
โดย ดร.ชุมพล  มุกสิกานนท์   ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท.และผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร
จากพระอัจฉริยภาพในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ดังเป็นที่ประจักษ์ต่อพสกนิกรชาวไทยและนานาประเทศนั้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้น้อมนำหลักการทรงงานและและแนวพระราชดำรัสมาเป็นแบบอย่างและแนวทางในการทำงานเพื่อการสนองงานตามเบื้องพระยุคลบาท โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชน การรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความสอดคล้องกับการทำงานของอพท. โดยบทบาท และพันธกิจทั่วไปของ อพท. คือการประสาน ส่งเสริม สนับสนุน ทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ให้มีการดำเนินงานตามแผนแม่บท ที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเมืองเก่าน่าน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และที่สำคัญที่สุดคือชุมชน ทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องจับมือและร่วมเดินไปด้วยกันเพื่อให้การท่องเที่ยวของเมืองน่านเกิดความยั่งยืน  โดยยึดโยงอยู่กับ 4  มิติสำคัญ คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม   
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเน้นการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้  ทรงใช้คำว่า “ระเบิดจากข้างใน” กล่าวคือ ทำให้ชุมชนนั้น ๆ มีความเข้มแข็งก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำความเจริญของสังคมภายนอกเข้าไปในชุมชน โดยที่ชุมชนไม่มีความพร้อม หรือไม่ทันได้ตั้งตัว  พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์  ที่จะช่วยเหลือราษฎรตามความจำเป็นและความเหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อที่จะให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และออกมาสู่สังคมภายนอกได้อย่างไม่ลำบาก
อพท.ได้น้อมนำเอากระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาดังกล่าวมาใช้ในการทำงาน โดยยึดหลักเตรียมความพร้อมในพื้นที่นั้น ๆในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในเรื่องการธำรงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าเราให้ความสำคัญกับชุมชนและพื้นที่เป็นหลัก  โดยเฉพาะเรื่องของเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในจังหวัดน่าน  ทำอย่างไรที่เรายังคงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์และเสน่ห์ของความเป็นเมืองเก่าของเรา ไม่เปลี่ยนตัวเองเพียงเพื่อความต้องการของนักท่องเที่ยวเพียงชั่วขณะ  ซึ่งจะทำให้ในระยะยาวส่งผลกับการตัดสินใจมาเยือนเมืองน่านของนักท่องเที่ยว และหากเราไม่ช่วยกันรักษาเมืองให้สมกับความเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิตแล้ว มันก็จะไม่เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
"...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอดี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับภาวะของประเทศ และของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศ กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้..." (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ 18 กรกฎาคม 2517)
จากพระราชดำรัสนี้ อพท.ได้น้อมนำเอามาเป็นแนวปฏิบัติ   อาทิ  การลงพื้นที่ในเขตพื้นที่พิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน อู่ทอง พัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง หรือสุโขทัยศรีสัชนาลัยกำแพงเพชร  ก็ตาม อพท.จะมุ่งเน้นทำงานร่วมกับชุมชน  พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เขามีความเข้มแข็ง และรู้ว่าควรจะเตรียมความพร้อมในการจะรับมือกับนักท่องเที่ยวอย่างไร  อพท.ตระหนักดีว่าการทำความเข้าใจกับชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ  ตามหลักการทรงงานที่ทรงแนะแนวว่าถ้าระเบิดจากข้างใน เรานำองค์ความรู้ไปให้คนในชุมชนเข้าใจ และรับฟังความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง  อพท.เราใช้วิธีการที่เรียกว่า Co-Creation โดยเริ่มต้นกระบวนการจากการร่วมกันคิด ชวนชุมชนให้ร่วมกันคิดก่อนว่าอยากทำอะไร อยากเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างไร สมมติว่าชุมชนบอกว่าอยากเห็นชุมชนมีความเจริญขึ้น ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น  เราก็จะชวนให้เขาคิดในขั้นต่อไปกว่าแล้วจะทำอย่างไร จากนั้นเราก็มาร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน จากนั้นจะมาร่วมกันปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และสุดท้ายร่วมรับประโยชน์  
ปัจจุบันชุมชนมีความเข้าใจหลักการและการทำงานของอพท. จากตัวชี้วัดเชิงคุณภาพที่วัดจากระดับความอยู่ดีมีสุข ระดับความเชื่อมั่นต่อโครงการที่เราพัฒนาขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น เราทำแบรนด์น่านเน้อเจ้า ที่เริ่มจากการพัฒนาคุณภาพของสิ่งทอ ในชุมชนที่เราได้ไปช่วยจากเดิมที่คุณภาพของวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพ เช่น  มีการหดตัว หรือสีตกบ้าง เราก็ไปช่วยพัฒนาตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบ รูปแบบ หรือแม้แต่วิธีการทอ  จนสุดท้ายเราสร้างแบรนด์ๆ หนึ่งขึ้นมา ชื่อ “น่าน เน้อ เจ้า”  ซึ่งตรงนี้ก็สอดคล้องกับการทำงานที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสเข้ามาใช้ในการทำงาน กล่าวคือการที่ชุมชนมีส่วนร่วมการคิด พัฒนา และร่วมลงมือทำ  ย่อมหมายถึงความภาคภูมิใจของชุมชน ความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาและผลิตภัณฑ์ของเขา โดยผลิตภัณฑ์ “น่าน เน้อ เจ้า” นี้ได้ครอบคลุมถึงผ้าซิ่นและนำผ้าทอพื้นเมืองไปพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย โดยจะมีบรรจุภัณฑ์ในที่สวยงาม มีตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของภูมิปัญญาเมืองน่านที่ทรงคุณค่า ทั้งหมดนี้เป็นการระเบิดมาจากข้างใน จากรากทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่เขาช่วยกันธำรงรักษาอัตลักษณ์ของลวดลายและวิธีการทอผ้าดั้งเดิมของชุมชนเอาไว้ ผ่านการพัฒนา ยกระดับให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้   พร้อมกับช่วยกันขับเคลื่อนแบรนด์น่านเน้อเจ้านี้ไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเจ้าของภูมิปัญญา เพื่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นกับชุมชน เกิดความกินดีอยู่ดี และเพื่อให้วิถีวัฒนธรรมยังคงเดินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด นอกจากนี้ อพท.ยังให้ความสำคัญกับการให้คนในชุมชนรู้จักการพึ่งพาตนเอง โดยพยายามนำองค์ความรู้ และให้กระบวนการทางความคิดแก่คนในชุมชน เพื่อให้เขาสามารถคิด และพัฒนาตนเองและพึ่งพาตนเองและนำพาชุมชนของตนเองให้เข้มแข็งได้ในที่สุด  เพราะการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากชุมชนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้   

หลักการทรงงาน : การระเบิดจากข้างใน ซึ่งหมายถึง ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนที่จะเข้าไปพัฒนาให้พร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แสดงให้เห็นว่า พระองค์มุ่งเน้นที่ “การพัฒนาคน” เป็นสำคัญ เพราะะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นจุดเริ่มที่จะทำให้การพัฒนาประเทศมีประสิทธิภาพสูงสุด  
ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด อพท.ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นตัวตั้ง  และนำองค์ความรู้เข้าไปให้ อพท.ทำโครงการใดก็ตาม  เราจำเป็นที่จะพิจารณาให้เห็นถึงความจำเป็นและความต้องการโดยพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ว่าเขาอยากได้อะไร และควรจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เขาได้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยยึดหลักที่ว่าเราจะช่วยเหลือเขาโดยให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ต่อไป  คิดทบทวน วิเคราะห์ สังเคราะห์ ดูทุกสิ่งอย่าง ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ เพราะเมื่อชุมชนเข้มแข็ง สามารถยืนได้ด้วยตัวเองแล้ว อพท.ก็จะสามารถไปช่วยส่งเสริมในพื้นที่อื่นๆ ให้มีศักยภาพและยืนได้เช่นนี้อีกต่อ ๆ ไป
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงงานในเขตพื้นที่จังหวัดน่านถึง 22 ครั้ง  ยังความปราบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระองค์ทรงมีต่อชาวจังหวัดน่านจวบจนปัจจุบัน  องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวจังหวัดน่าน และจะขอยึดหลักการทรงงานและน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

*****  สำหรับรูปรัชกาล ที่ 9  นั้น ได้รับอนุญาตการใช้ จากโรงเรียน ราชานุบาล เจ้าของลิขสิทธิ์ เรียบร้อยแล้ว