นักวิจัยดาวรุ่ง มจธ.กับงานพัฒนาหุ่นยนต์ “BLISS” เพื่อเด็กออทิสติก-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
ผศ.ดร.บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คือ 1 ใน 3 นักวิจัยดาวรุ่ง มจธ. ตามที่ คณะทำงานส่งเสริมชื่อเสียงด้านวิชาการได้จัดทำโครงการรางวัลนักวิจัยดาวรุ่ง มจธ. ครั้งที่ 4 ประจำปี 2558 เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและยกย่องอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ โดย ดร.บุญเสริม ได้รับ “รางวัลด้านวิชาการ เน้นคุณค่าทางด้านสังคมและชุมชน” โดยมีผลงานชื่อ “การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสำหรับเด็กออทิสติก” โดยสร้างหุ่นยนต์ “BLISS” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มช่วยผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดเด็กออทิสติกผ่านเกมส่งเสริมพัฒนาการที่สามารถออกแบบได้หลากหลาย หุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเด็กกับผู้เชี่ยวชาญ โดยสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กผ่านหน้าตาที่เป็นมิตร ให้เขาเรียนรู้เรื่องการแสดงสีหน้าและอารมณ์ นอกจากนี้ยังสามารถเคลื่อนที่ได้ มีแสงและเสียง สำหรับดึงความสนใจเด็กให้อยู่กับการทำกิจกรรมได้อีกด้วย เด็กจะได้เรียนรู้เนื้อหาความรู้ภายในเกมและเรียนรู้การควบคุมตนเองในสังคมผ่านทางกฎกติกาของเกม ผู้เชี่ยวชาญสามารถปรับเปลี่ยนเกมได้เองตามความเหมาะสมได้ ในเกมที่ออกแบบให้เล่นร่วมกันได้หลายคน เด็กจะได้ฝึกทักษะการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ระหว่างการเล่นเกม หุ่นยนต์ก็ช่วยเก็บข้อมูลไว้ให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะสมต่อไปได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กออทิสติกมีพัฒนาการด้านสติปัญญาควบคู่กับทักษะการปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่ดีขึ้นได้
“ตอนนี้เรามีหุ่นยนต์ที่สามารถรองรับเกมส่งเสริมพัฒนาการได้หลากหลาย เรากำลังออกแบบเกมให้มีเกมส่งเสริมพัฒนาการมากขึ้น ให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยต่าง ๆ ปัจจุบันทีมวิจัยได้สร้าง “BLISS” ขึ้นมาอีกหลายตัว เพื่อดำเนินงานวิจัยร่วมกับสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข”
ผศ.ดร.บุญเสริม ระบุว่า ท้ายที่สุดอยากพัฒนาต่อไปให้หุ่นยนต์ BLISS สามารถช่วยให้ผู้ปกครองบำบัดและส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติกได้เองที่บ้านด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญสามารถออกแบบกิจกรรมให้ไปฝึกที่บ้าน เข้าถึงข้อมูลการฝึกจากระยะทางไกล และวิเคราะห์พัฒนาการของเด็กเพื่อปรับกิจกรรมให้เหมาะสมในการเข้ารับการบำบัดครั้งต่อไปได้ ก็จะทำให้การบำบัดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.บุญเสริม ระบุว่า ท้ายที่สุดอยากพัฒนาต่อไปให้หุ่นยนต์ BLISS สามารถช่วยให้ผู้ปกครองบำบัดและส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติกได้เองที่บ้านด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญสามารถออกแบบกิจกรรมให้ไปฝึกที่บ้าน เข้าถึงข้อมูลการฝึกจากระยะทางไกล และวิเคราะห์พัฒนาการของเด็กเพื่อปรับกิจกรรมให้เหมาะสมในการเข้ารับการบำบัดครั้งต่อไปได้ ก็จะทำให้การบำบัดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น