ADS


Breaking News

นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย ชูนโยบาย “ Network Marketing ”

ผลักดันการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เน้นพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงชุมชน เรียนรู้วัฒนธรรม การสร้างเครือข่ายธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
นางสุทัศษา เหล่าหงษ์เกียรติ  นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย (ATTM) คนใหม่และผู้บริหารเดอะเวเนเซีย ชะอำ-หัวหิน  โรงแรม เมอร์ริท รีสอร์ท แอนด์ สปา สมุย   และเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์เนม Zien (ซีน) Hass (แฮส)  และ Onboard (ออน บอร์ด)   เปิดเผยถึงนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสมาคม ATTM ปี 2559 ว่า ทางสมาคม ATTM ซึ่งมีสมาชิกของสมาคมที่ประกอบธุรกิจด้านท่องเที่ยว  ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและเป็นเครือข่ายกว่า 1,000 ราย ทั้งนี้ในการร่วมมือกับสมาคมต่างๆ เช่นสมาคมภัตตาคารไทย รวมไปถึงชุมชนและหน่วยงานอื่นๆ เช่น เกษตรพื้นที่ บริษัทประชารัฐสามัคคี ก็จะมีบทบาทในการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาสินค้าเกษตร สินค้าพื้นเมืองรวมไปถึงอาหารและอาหารแปรรูป รวมถึงการพัฒนาชุมชนนั้นๆ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงเน้นวิถีชุมชนเดิมในด้านวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่
สิ่งสำคัญคือ เราใช้การตลาดเข้าไปช่วยส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่มทั้งในเรื่องเส้นทางการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นความต่างและยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทยในพื้นที่นั้นๆ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของประเทศในมุมที่น่าสนใจและโดดเด่นอยู่แล้วที่เรียกว่า “Story Telling” อันก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อแหล่งท่องเที่ยวและสินค้าในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการใช้จ่ายต่อคน ต่อวัน ของนักท่องเที่ยวสูงขึ้นกว่า 100% เพราะนักท่องเที่ยวพร้อมที่จะจับจ่ายอยู่แล้ว ท่ามกลางบรรยากาศ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่นั้นๆ และไม่สามารถไปหาซื้อที่อื่นได้

ดังนั้น เราจึงควรเป็นนักการตลาด เพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาที่เน้นเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการส่งเสริมการขาย รวมไปถึงการบริการที่จะกระตุ้น ให้นักท่องเที่ยวมีการจับจ่ายในพื้นที่ต่างๆได้มากขึ้นและจะยิ่งได้ผลเร็วยิ่งขึ้น หากมีหน่วยงานหรือภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องการอำนวยความสะดวก เกี่ยวกับเรื่องภาษา การเดินทางและงบประมาณการพัฒนา ทางด้านการตลาด เพื่อให้โครงการเชื่อมต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวดังกล่าว สามารถจัดทำได้อย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว
ทั้งหมดนี้เรียกว่า “Act Local Go Global” คือเน้นพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอยู่แล้ว ให้มีความน่าสนใจ และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ผ่านทุกรูปแบบ โดยเน้นด้านโซเซียล เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวด้วยตัวเองซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ได้รู้จักแหล่งท่องเที่ยว และเอกลักษณ์ของประเทศไทย ในด้านวัฒนาธรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆได้มากยิ่งขึ้น
ในส่วนของธุรกิจนำเที่ยว ก็สามารถพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยว ในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ทั้ง Eco Tourism และ Culture Tourism ซึ่งจะได้นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเข้ามาใช้บริการและไม่ต้องแข่งขันกันด้านราคา จนทำให้ไม่มีกำไรอย่างเช่นทุกวันนี้ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูงอยู่แล้ว ในเรื่องวัฒนธรรม สินค้าพื้นเมือง แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาหารสุขภาพ การท่องเที่ยวในด้านการพัฒนาด้านจิตใจ เช่น Meditation
สรุปคือ ถ้าหากเราพัฒนาจุดแข็งของการท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว จะทำให้ทุกภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจอาหารและชุมชน ต่างได้ประโยชน์และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างแท้จริง  อันเป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ