ADS


Breaking News

กสิกรไทยตั้งเป้าปี 59 สินเชื่อโต 6-7% ชูยุทธศาสตร์ดิจิทัลล้ำหน้า สู่ธนาคารแห่งเออีซี +3

     นายปรีดี ดาวฉาย(คนซ้าย) และนายธีรนันท์ ศรีหงส์(คนขวา) กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมแถลงข่าวแผนธุรกิจธนาคารกสิกรไทยปี 2559 “ดิจิทัลล้ำหน้า สู่ธนาคารแห่งเออีซี +3” ตั้งเป้าหมายปี 2559 สินเชื่อรวมขยายตัว 6-7% บนพื้นฐานจีดีพีโต 3% ชูยุทธศาสตร์มุ่งเป็นผู้นำพร้อมกวาดลูกค้าดิจิทัล แบงกิ้งใหม่ 3 ล้านบัญชี พร้อมตอกย้ำการเป็นธนาคารแห่งเออีซีบวกสาม เร่งขยายเครือข่ายและบริการข้ามชาติรองรับโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาค ตั้งเป้าหมายสินเชื่อต่างประเทศขยายตัวจากปี 2558 กว่า 80% ณ ธนาคารกสิกรไทย อาคารพหลโยธิน เมื่อเร็ว ๆ นี้ (19 พ.ย. 2558)

ธนาคารกสิกรไทย ตั้งเป้าปี 59 สินเชื่อรวมโต 6-7% บนพื้นฐานจีดีพีโต 3% ชูยุทธศาสตร์มุ่งเป็นผู้นำพร้อมกวาดลูกค้าดิจิทัล แบงกิ้งใหม่ 3 ล้านบัญชี พร้อมตอกย้ำการเป็นธนาคารแห่งเออีซีบวกสาม เร่งขยายเครือข่ายและบริการข้ามชาติรองรับโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาค ตั้งเป้าสินเชื่อต่างประเทศขยายตัวจากปี 2558 กว่า 80% หวังปัจจัยบวกจากการผลักดันโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐ และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2559 คาดการณ์ว่า จีดีพีจะขยายตัวราว 3.0% โดยการลงทุนของภาครัฐยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 20 โครงการ มูลค่ารวม 1.77 ล้านล้านบาท ขณะที่ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุนทั้งสิ้น 5.44 แสนล้านบาท สูงกว่าปี 2558 ถึง 20.7% รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่เอสเอ็มอี นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมที่สำคัญของไทยด้วย
ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวในกรอบจำกัด โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ยังเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในปีหน้า อย่างไรก็ตาม หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านพ้นจุดต่ำสุดและเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2559 จะกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยที่ประมาณ 2% ด้านการค้าชายแดนยังมีศักยภาพที่ดี ประกอบกับการที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่การค้าชายแดน และซุปเปอร์คลัสเตอร์ (Border Special Economic Zones & Cluster Based Special Economic Zones) ซึ่งจะสนับสนุนให้ธุรกิจการค้าในพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีการขยายตัว นอกจากนี้กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) ยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงเป็นตลาดที่มีศักยภาพเพื่อการค้าการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาคนี้
ธนาคารกสิกรไทย จึงกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานของธนาคารในปี 2559 ให้สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศและแนวโน้มของภูมิภาค ประกอบด้วย สินเชื่อโดยรวมเติบโตที่ 6-7% อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ที่ 45-47% และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL) ที่ระดับ 3.5-3.6% พร้อมตอกย้ำเป้าหมายการเป็นธนาคารหลักของลูกค้า (Customer’s Main Bank) ในทุกกลุ่มลูกค้า ยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และเดินหน้ายุทธศาสตร์การเป็นธนาคารแห่งเออีซีบวกสามเพื่อตอบรับศักยภาพของตลาดในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลและทันต่อภาวการณ์เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคงในระยะยาว

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2559 ธนาคารกสิกรไทยได้มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ 4 ด้านหลัก เพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้ ดังนี้
1.การเป็นธนาคารหลักของลูกค้า (Customer’s Main Bank) ในทุกกลุ่มลูกค้า และมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง โดยธนาคาร ครองความเป็นผู้นำการเป็นธนาคารหลักของลูกค้าในเกือบทุกเซกเมนท์ และมีสัดส่วนสูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
2. การเป็น “AEC+3 Bank” เพื่อตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจจากการเกิด AEC และโอกาสทางธุรกิจกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ธนาคารฯ มีกลยุทธ์ในด้านธุรกิจข้ามประเทศที่มุ่งเน้นขยายการให้บริการ เพื่อรองรับลูกค้าที่ขยายธุรกิจและการลงทุนในกลุ่มประเทศ AEC+3 ด้วยบริการทางการเงินระหว่างประเทศแบบครบวงจร (Seamless Cross Border Solution) 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ บริการ Regional Value Chain Solution ที่เชื่อมโยงธุรกิจของลูกค้า เพื่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการสูงสุดภายในเครือข่ายธุรกิจ มุ่งเน้นในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก คือ กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริการ  และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ บริการ Investment Solution ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจไทยที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ผ่านการจับคู่ธุรกิจและการควบรวมกิจการ และบริการ Trade and Payment Solution   ให้บริการการโอนและชำระเงิน ผ่านการสร้าง Border Trade Solution เช่น การจัดตั้งศูนย์ธุรกิจการค้าชายแดนที่แม่สอดเพื่อตอบรับกับนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการสร้าง Digital Cross Border Payment Solution ด้วยการจับมือกับพันธมิตรพัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านระบบดิจิทัล แบงกิ้ง เพื่อรองรับการชำระเงินและโอนเงินข้ามประเทศ
นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าขยายช่องทางการให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการยกระดับสาขาในประเทศจีนให้เป็นธนาคารท้องถิ่น การเปิดสาขาในประเทศกัมพูชา การขยายสาขาในประเทศลาว การวางแผนการเปิดสาขาในประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ รวมทั้งการเชื่อมต่อกับธนาคารพันธมิตร (Partner Bank) ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายบริการ ประกอบด้วย สาขาในต่างประเทศ 6 สาขา ได้แก่ สาขาเซินเจิ้น สาขาย่อยหลงกั่ง เซินเจิ้น สาขาเฉิงตู สาขาฮ่องกง สาขาลอสแองเจิลลิส สาขาหมู่เกาะเคย์แมน ธนาคารท้องถิ่น 1 แห่ง คือที่ สปป.ลาว สำนักผู้แทน 9 แห่ง ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง โตเกียว ย่างกุ้ง ฮานอย โฮจิมินห์ จาการ์ตา และ พนมเปญ ธนาคารพันธมิตร 72 แห่ง ใน 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน อิตาลี ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ จีน
สำหรับปี 2559  ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมาย สินเชื่อต่างประเทศเติบโต 80% และตั้งเป้าหมายรายได้สุทธิจากต่างประเทศ เติบโต 40%
3. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อครองความเป็นผู้นำการให้บริการดิจิทัล แบงกิ้ง (Digital Banking) และยกระดับความสามารถของธนาคาร (Digital Transformation) ในปี 2558 ธนาคารยังคงสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในโลกดิจิทัล ด้วยส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ที่ 38% ในด้านจำนวนผู้ใช้งานดิจิทัล แบงกิ้ง จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 โดยมีการเติบโตของจำนวนธุรกรรมที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2558 ธนาคารมีปริมาณธุรกรรมผ่านระบบบริการดิจิทัล แบงกิ้ง จำนวน 770 ล้านธุรกรรม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 50 %

นอกจากนี้ ในด้าน Digital Brand Perception ธนาคารยังสามารถรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยผลสำรวจด้าน Digital Banking Top of Mind Brand perception rating เป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องจากปี 2556 (AC Nielson)
ในส่วนของการยกระดับความสามารถของธนาคารด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ธนาคารได้มีการจัดตั้งโครงการพิเศษเพื่อดูแลยุทธศาสตร์ด้านนี้อย่างเจาะจง โดยโครงการนี้จะดูแลทั้งในส่วนของการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า (Customer Experience) การยกระดับกระบวนการทำงานภายใน (Operational Processess) และการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Business Model)
นอกเหนือจากบริการดิจิทัลแบงกิ้ง สำหรับลูกค้าบุคคลที่มีความเข้มข้นแล้ว ในปี 2559 ธนาคารกสิกรไทยจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับการให้บริการลูกค้าในกลุ่มธุรกิจมากยิ่งขึ้น ทั้งการพัฒนานวัตกรรมบริการและการออกแคมเปญทางการตลาดที่ตรงจุด อาทิ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการธุรกิจของทั้งลูกค้าและคู่ค้าแบบบูรณาการ (Value Chain Management) การนำดิจิทัลเทคโนโลยีและเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจมาสนับสนุนลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร รวมถึงการขยายโอกาสทางการตลาดให้แก่ลูกค้า รวมทั้งการพัฒนาระบบโอนเงินระหว่างประเทศผ่านดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจและลูกค้ารายย่อยที่มีความต้องการบริการทางการเงินระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ธนาคารประมาณการยอดผู้ใช้งานดิจิทัลแบงกิ้งรวมของธนาคาร ณ สิ้นปี 2558 จะอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านบัญชี สำหรับปี 2559 ธนาคารตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานดิจิทัลแบงกิ้ง รายใหม่อีกกว่า 3 ล้านบัญชี หรือขยายตัวจากปี 2558 ประมาณ 30%
4. การตอกย้ำเรื่องบริการที่เป็นเลิศตามแนวคิดบริการทุกระดับประทับใจและการเสริมสร้างตำแหน่งทางการตลาดนี้ให้แข็งแกร่ง จากผลการสำรวจ Brand Equity Index ธนาคารมีคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในปี 2557 ทั้งในลูกค้ากลุ่มบรรษัท ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และลูกค้าบุคคล สำหรับปี 2559 ธนาคารมุ่งเน้นการเสริมสร้าง  แบรนด์ เพื่อเน้นย้ำการให้บริการที่เป็นเลิศ ตามแนวคิดบริการทุกระดับประทับใจ
นายธีรนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยบวก ในปี 2559 จากการที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดการประมูลและเริ่มลงทุนโครงการต่าง ๆ รวมเป็นเม็ดเงินราว 3 แสนล้านบาท จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งภายในประเทศและที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน (ASEAN Connectivity) ซึ่งจะสนับสนุนการขยายตัวของกิจกรรมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังการเปิด AEC สมบูรณ์ ส่งผลให้ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ในปี 2559 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ขนส่ง ขณะที่ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคมจะมีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน จากการขยายการลงทุนของผู้ได้รับใบอนุญาต 4G รวมทั้งความต้องการบริการด้านข้อมูล (Non-Voice) ที่เพิ่มขึ้น ตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคดิจิทัลและความต้องการใช้งานเพื่อสนับสนุนธุรกิจออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ธุรกิจการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนจะมีแนวโน้มที่ดี จากการจัดสรรกำลังการผลิตไปสู่ตลาดศักยภาพในต่างประเทศ เพื่อทดแทนยอดขายในประเทศที่อาจยังได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนแรง ซึ่งในปี 2559 ธนาคารกสิกรไทยมีความพร้อมทั้งการให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อ คำปรึกษา นวัตกรรมบริการ และเครือข่ายการให้บริการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มอย่างทรงประสิทธิภาพ