สยามอินเตอร์เนชั่นแนล จับมือนักธุรกิจ สปป.ลาว ก่อตั้ง “บริษัท บีเอ็ม กรุ๊ป”
ทุ่มงบกว่า 3,500 ล้านบาท
เปิดศูนย์การค้า “LAO DUTY FREE MALL”
ศูนย์กลางช็อปปิ้งปลอดภาษีระดับไฮเอนด์ รองรับ AEC
(กรุงเทพฯ : 15 กรกฎาคม 2558) - กลุ่มทุนไทย “สยามอินเตอร์เนชั่นแนล” เดินหน้ารับ AEC จับมือนักธุรกิจจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ก่อตั้ง “บริษัท บีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด” (BM Group) ทุ่มงบกว่า 3,500 ล้านบาท ปักธงธุรกิจค้าปลีกปลอดภาษีใน สปป.ลาว สร้างศูนย์การค้า “LAO DUTY FREE MALL” (LDF) ศูนย์กลางการค้ารูปแบบปลอดภาษี บนพื้นที่กว่า 37,000 ตารางเมตร หวังปั้นเป็นแหล่งช็อปปิ้งระดับไฮเอนด์ รองรับ AEC และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้คอนเซปต์ศูนย์กลางการค้าใหม่ของอาเซียน ที่รวบรวมแบรนด์ดังและบริการแบบครบวงจร ตั้งเป้ารายได้ปีละกว่า 3,500 ล้านบาท คาดคุ้มทุนภายใน 5 ปี
นายสยาม รามสูต ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หนึ่งใน ผู้ถือหุ้น บริษัท บีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า “บริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ AEC มาแล้ว ตั้งแต่ปี 1996 และนับเป็นนักลงทุนกลุ่มแรกๆ ที่ได้เข้าไปบุกเบิกการลงทุนในประเทศลาว ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ปี ได้เห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจด้านต่างๆ ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากแผนกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการเปิดเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (Specific Economic Zone) ที่มีนโยบายให้ ผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจเฉพาะ ได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน รวมถึงการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว ทำให้บริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการลงทุนด้านธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะในรูปแบบของการเป็นศูนย์กลางการค้ารูปแบบปลอดภาษี จึงร่วมกับบริษัท บีเอ็มเอ็ม กรุ๊ป (BMM Group) ก่อตั้ง บริษัท บีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด ใช้งบประมาณกว่า 3,500 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่กว่า 200 ไร่ ในเขตเศรษฐกิจเฉพาะสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (จังหวัดหนองคาย) ให้เป็นศูนย์การค้า LAO DUTY FREE MALL ศูนย์กลางการค้ารูปแบบปลอดภาษี บนพื้นที่กว่า 37,000 ตารางเมตร ที่พร้อมจะเป็นแหล่งช็อปปิ้งระดับไฮเอนด์ รองรับ AEC และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้ คอนเซปต์ ศูนย์กลางการค้าใหม่ของอาเซียน ที่รวบรวมแบรนด์ดังและบริการแบบครบวงจร”
“สาเหตุที่บริษัทฯ เลือกลงทุนในเขตเศรษฐกิจเฉพาะ เพราะมีข้อได้เปรียบที่อยู่ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (จังหวัดหนองคาย) ซึ่งมีมูลค่าตลาดการค้าชายแดนมากกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท และยังใกล้จุดเชื่อมต่อของรถไฟความเร็วสูง ส่งผลให้นักลงทุนได้รับความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้นักลงทุนยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ อาทิ ชาวต่างชาติสามารถเปิดธุรกิจในเขตเศรษฐกิจเฉพาะสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 (จังหวัดหนองคาย) โดยมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติได้เต็มที่ 100 % อีกทั้งการอำนวยความสะดวกด้านการจัดบริการจดทะเบียนการค้า, การขออนุญาตทำธุรกิจ ฯลฯ แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว หรือ One Stop Service รวมถึงภาคการค้าได้รับการยกเว้นภาษีการค้า ภาษีการนำเข้าสินค้า และการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำเงินเข้า-ออก และด้วยศักยภาพของโครงการ LAO DUTY FREE MALL ทั้งด้านทำเลที่ตั้ง ที่เป็นเขตเศรษฐกิจเฉพาะ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ นักธุรกิจ สามารถขยายกิจการไปสู่กลุ่มประเทศ AEC ได้ง่าย ช่วยเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาส ในการเริ่มต้นทำธุรกิจในต่างประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ที่สนับสนุนด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว คาดว่าศูนย์การค้าปลอดภาษีแห่งนี้ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาซื้อสินค้าและรับบริการด้านต่างๆ ปีละกว่า 4 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้กว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี และจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 5 ปี โดยในขณะนี้ก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 70% และมีกำหนดเปิดให้บริการในไตรมาสแรกของปี 2016”
นายพิสิฐ บัญญาดิษฐ์ ประธาน บริษัท บีเอ็มเอ็ม กรุ๊ป (BMM Group) ผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจของสปป.ลาว หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท บีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด และโครงการ LAO DUTY FREE MALL กล่าวว่า “การร่วมทุนในครั้งนี้กับกลุ่มทุนไทย จึงถือเป็นการนำเอาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศที่สยามอินเตอร์เนชั่นแนล ทำธุรกิจมาแล้วทั่วทุกภูมิภาค AEC มาผนวกร่วมกับความเชี่ยวชาญ ในการทำธุรกิจค้าปลีกปลอดภาษีของเรา ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในกับผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี”
นายสมคิด ตันทัดวาณิชย์กุล ผู้ก่อตั้ง บริษัท ธิงค์เวิร์ค จำกัด ผู้บริหารงานขายโครงการ LAO DUTY FREE MALL กล่าวว่า “โครงการมีพื้นที่ขายกว่า 20,000 ตารางเมตร มุ่งมั่นสู่การเป็น The New Shopping Capital of ASEAN ภายใต้คอนเซปต์ Uniqueness, Luxury, Simplicity โดยใช้งบประมาณตกแต่งพื้นที่กว่า 800 ล้านบาท ภายในโครงการจัดสรรให้มีพื้นที่ร้านค้า และบริการกว่า 200 ร้านค้า เฉลี่ยพื้นที่ร้านค้าประมาณ 20-200 ตารางเมตรต่อร้าน สำหรับกลุ่มสินค้า Fashion & Accessories และ Luxury Brand ร้านอาหารและคาเฟ่ ร้านสินค้าไลฟ์สไตล์ บริการด้านสุขภาพและความงาม สินค้า Packaged Food และของที่ระลึกที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ รวมไปถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยมีสิ่งอำนวย ความสะดวกอย่างครบครัน อาทิ ลาดจอดรถขนาดใหญ่สำหรับรถบัสนักท่องเที่ยว และพื้นที่จอดรถยนต์ส่วนบุคคลกว่า 300 คัน ระบบรักษาความปลอดภัย และบริการต่างๆ รองรับกำลังซื้อมหาศาลจากลูกค้า และนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ทั้งจากสปป.ลาว คนไทย ชาวจีน เวียดนาม และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังได้วางแผนงานทางการตลาด เพื่อสร้างการรับรู้แก่นักท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ สื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ในไทย และต่างประเทศ รวมทั้งสื่อออนไลน์ต่าง ๆ และจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ประสานงานกับกลุ่มบริษัททัวร์ ทุกภูมิภาค และประเทศต่างๆในอาเซียน ประกอบกับจัดกิจกรรมในช่วงการเปิดตัว และกิจกรรมส่งเสริมการขายต่อเนื่องตลอดทั้งปี"
ข้อมูลเพิ่มเติม :
⚫ บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ AEC ตั้งแต่ปี 1996 ในกลุ่มธุรกิจ Trading Business, Logistic Business และธุรกิจด้าน Food & Beverage, IT and Electronic, Insurance, Personal Care, Cosmetic, Beauty and Clinic ในประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย
⚫ รัฐบาลของสปป.ลาว มีแผนกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง ผ่านการปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมการลงทุน และนโยบายดึงดูดการท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ
⚫ ผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (Specific Economic Zone) จะได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นบริการ One-stop Service จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจดทะเบียนการลงทุน และการจัดการด้านแรงงาน การได้รับ สิทธิพิเศษต่างๆ เช่น ภาษีกำไรและภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประเภทของการลงทุน เป็นต้น
⚫ จากข้อมูล พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายัง สปป.ลาวมากกว่า 4 ล้านคน โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 2 ล้านคน นักท่องเที่ยวเวียดนามเป็นอันดับ 2 มากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับสปป.ลาวกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี
⚫ โครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน-สปป.ลาว-ไทย ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปีหลังจากนี้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของลาว ทั้งด้านโลจิสติกส์และด้านการท่องเที่ยว เพราะคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศไทย ให้มายัง สปป.ลาว ได้มากกว่า 10 ล้านคนต่อปี และเส้นทางรถไฟสายนี้ ยังเป็นเส้นทางสำคัญในด้านการขนส่งสินค้าจากประเทศลาว ไปยังท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งจะช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจของสปป.ลาวได้เป็นอย่างดี