ADS


Breaking News

“เครือข่ายพลเมืองเสวนา” เปิดตัว “Citizen Forum” สร้างกลไกการปฏิรูปภาคประชาชนเข้าใจร่าง รธน.

กรุงเทพฯ - “เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” จับมือภาคีภาคพลเมือง สร้างกลไกการปฏิรูปภาคประชาชน ในนาม “เครือข่ายพลเมืองเสวนา” หรือ “ Citizen Forum” เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ในประเด็น ร่างเนื้อหารัฐธรรมนูญและสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ทั้ง “ออนไลน์” และ “ออฟไลน์” หวังปูทางสร้างความเข้าใจ ในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและลดความเหลื่อมล้ำ ตั้งเป้าใช้งานต่อเนื่อง อีกอย่างน้อย 1 ปี หลังรัฐธรรมนูญผ่าน เพื่อเป็นเครื่องมือติดตามผล
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงร่างเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า  จะทำให้ประชาชนพอใจ โดยไม่ต้องทำประชามติหรือไม่  และเมื่อเร็วๆ นี้ มีมติร่วมกันจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เห็นชอบให้ขยายเวลาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญออกไปเป็น 90 วันนับจากวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 นั้น
เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” (Reform Now Network : RNN) และองค์กร, เครือข่าย, พลเมือง ที่มีแนวคิดในการผลักดัน การปฏิรูปประเทศให้เกิดความก้าวหน้า ประกอบด้วย สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา, โครงการเทคโนโลยีเพื่อนวัตกรรม​สุขภาวะ สถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน,เครือข่ายลงขันความคิดปฏิรูปประเทศไทย, มูลนิธิเอเชีย, มูลนิธิฟรีดริชเนามัน, สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ อีกหลายภาคี ต่างเห็นร่วมกันว่า ก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องให้ประชาชน ได้เข้าใจสาระเนื้อหา ของร่างรัฐธรรมนูญ ในระดับที่เพียงพอ ต่อการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ จึงได้เตรียมการจัดกิจกรรม “เครือข่ายพลเมืองเสวนา” หรือ “Citizen Forum” มาก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้าใจ การสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น มุมมองต่อรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่ายในสังคม และสอดรับกับการขยายเวลาแก้ไขร่างฯออกไปอีก 90 วันอย่างบังเอิญ
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดเผยว่า กลไกของเครือข่ายพลเมืองเสวนา ประกอบด้วย สื่อออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ citizenforum.in.th และ www.facebook.com/พลเมืองเสวนา และสื่อออฟไลน์ ได้แก่ การจัดพื้นที่ให้พลเมืองได้แลกเปลี่ยนความเห็น ข้อเสนอแนะ นับเป็นการสร้างเครือข่ายพลเมืองที่ให้ประโยชน์ ทั้งทางตรง ในแง่การพัฒนาประชาธิปไตย เชิงเนื้อหา และทางอ้อมในแง่การเสริมสร้าง ความเข้มแข็งภาคพลเมืองให้เรียนรู้ ทำความเข้าใจเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปเชิงลึก
“เป้าหมายระยะยาวของพลเมืองเสวนา คือ การปฏิรูป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความปรองดอง เพื่อนำสังคมสู่สันติสุข ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความจำเป็น ของประเทศไทย เพื่อไม่ให้สังคม ติดหล่มอยู่ในวงจรของความขัดแย้ง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง ขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น จึงมีความจำเป็น ต้องขยายความร่วมมือ ไปยังภาคีภาคพลเมืองกลุ่มต่างๆ ให้มีเป้าหมายร่วม ในเรื่องนี้” นายบัณฑูร กล่าวและเสริมว่า นับจากวันนี้ เป็นต้นไป เป็นห้วงเวลาที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะต้องส่ง “คำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ” จังหวะนี้เอง จึงนับเป็นก้าวที่สำคัญ ของพลเมืองจัดทำคำขอแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพลเมือง โดยสามารถใช้ประโยชน์ จากพลเมืองเสวนา  ร่วมออกเสียงและความเห็นสนับสนุน ต่อการจัดทำข้อเสนอภาคพลเมือง เพื่อยื่นเสนอต่อกรรมาธิการร่างภายใน 90 วัน
ปลายทางการออกเสียงสนับสนุน คำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชน จะส่งไม้ต่อไปยัง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายผลพลเมืองที่เป็นใหญ่ ในการมีส่วนร่วมต่อการปรับปรุง แก้ไขรัฐธรรมนูญ  ในส่วนระยะยาวการแสดงความคิดเห็น ของประเด็นปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูประบบสอบสวนของตำรวจ ปฎิรูประบบ EIA จะนำไปสู่แรงหนุนเสริม การขับเคลื่อนของเครือข่ายภาคพลเมือง และสู่กลไกอย่างเป็นทางการ ของผู้กำหนดนโยบายต่างๆ  
นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้พัฒนาเว็บไซต์การมีส่วนร่วมพลเมืองเสวนา www.citizenforum.in.th ได้อธิบายวิธีการใช้เว็บไซต์ ซึ่งนำเสนอสาระสำคัญ ทั้งในส่วนรัฐธรรมนูญ และประเด็น การขับเคลื่อนงานปฏิรูป ซึ่งนับเป็นโอกาสในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ ที่พลเมืองจะได้ร่วมกันออกเสียง พร้อมทั้งออกความเห็น ต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เสียงที่ท่านลงไป เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำข้อเสนอ ภาคประชาชนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ทางฝั่งข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมเวที "เสียงพลเมืองกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ช่วงเวลาขอแก้ไขร่างรัฐธรรมในอีก 90 วัน"
คุณสฤณี อาชวานันทกุลและ รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง เห็นพ้องกันว่าควรมีการสร้างบรรยากาศใหม่เพื่อเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอย่างมีความหมาย ซึ่งสามารถทำได้ด้วย 3 วิธี ดังนี้
1)สปช. และกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีการยกเลิกกฎระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ประชาชนบางกลุ่ม เกิดความกังวล หวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ
2)ให้มีการสื่อสาร ชี้แจงขั้นตอนในทางสาธารณะ ว่าภายใน 90 วัน ที่จะมีการปรับแก้ไข เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ว่าหากประชาชนต้องการเสนอคำขอแก้ไข ทำได้ผ่านช่องทางใด ข้อเสนอจะถูกนำไปพิจารณาอย่างไร และจะติดตามผลความคืบหน้า ได้อย่างไร
3)ให้มีการเปิดเวทีถกแถลง เกี่ยวกับประเด็นในรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายต่างๆ ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ให้กว้างขวาง ขยายเวทีให้ทั่วถึงและมีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้เกิดการทำประชามติที่มีคุณภาพ
นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือต้องการให้พลเมืองเป็นใหญ่ ดังนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้ รัฐธรรมนูญเขียนเสร็จแล้ว ควรจะเอื้อให้พลเมืองเป็นใหญ่ได้ ในขั้นตอนขณะนี้เลย อยากจะให้น้ำหนักกับ กระบวนการมากกว่าเนื้อหา ช่วงเวลา 90 วันที่ กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณาคำขอแก้ไข ร่างรัฐธรรมนูญก่อนนำไปสู่การลงมติว่า จะรับหรือไม่โดย สปช. จึงเป็นช่วงสำคัญ ให้ผู้รู้มาช่วยกัน กลั่นกรอง ชี้ประเด็นว่าเรื่องใดมีความสำคัญอย่างไร และเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาแสดงความเห็น เช่นเดียวกับเว็บไซต์พลเมืองเสวนา เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 40 ล้านคนได้ตื่นตัว แล้วการทำประชามติ จะได้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ
สำหรับผู้ร่วมเสวนาคนอื่นๆ ก็มีความเห็น ต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้แตกต่างกันออกไป
เกี่ยวกับกิจกรรมเปิดตัว “เครือข่ายพลเมืองเสวนา” เมื่อ 26 พฤษภาคม ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นั้น ภาคเช้า เป็นเวทีความคิดการมีส่วนร่วมต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนภาคบ่ายเป็นวงประชุมรับฟังความเห็นกลุ่มย่อยต่อการจัดทำสมัชชาพลเมือง  โดยช่วงเช้า เป็นเวทีความคิดหัวข้อ “Citizen Forum : พลังประชาชนกับการมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญ”  วิทยากร ได้แก่ นายปรเมศวร์ มินศิริ และนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตามด้วยเวทีความคิดหัวข้อ “เสียงพลเมือง กับการมีส่วนร่วมในกระบวนการ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยนายวิเชียร พงศธร ,นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล, นายประภาส ปิ่นตบแต่ง, นางสารี อ๋องสมหวัง, นายเดโช ไชยทัพ, นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ,นายพงศ์พรหม ยามะรัต ดำเนินรายการโดย นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์
ส่วนช่วงบ่าย เป็นการจัดกระบวนการหัวข้อ “ออกแบบสมัชชาพลเมือง(กทม.) อย่างที่เราอยากเป็น” ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนชุมชนคลองโอ่งอ่าง, ผู้แทนชุมชนตลาดน้อย, นักวิชาการผังเมือง, โดยมีนายอภิษฎา ทองสะอาด เป็นกระบวนกร, ตามด้วยหัวข้อ “พูด คิด ทำ กับเครือข่ายพลเมือง” ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายประภาส ปิ่นตบแต่ง, ผู้แทนสวนผักคนเมือง, ผู้แทนกลุ่มรณรงค์มักกะสัน,ผู้แทนกลุ่มจักรยาน, ผู้แทนคนชายขอบ เป็นต้น