ADS


Breaking News

ปลัด อว. นำทีมลงพื้นที่ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ รพ.สนาม จ.สมุทรปราการ มั่นใจเตรียมพร้อม

ปลัด อว. นำทีมผู้บริหารเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ และเยี่ยมชมโรงพยาบาลสนาม ณ จังหวัดสมุทรปราการ
     บ่ายวันนี้ (15 เมษายน 2564) ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้บริหาร อว. ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการด้านการแพทย์และการสาธารณสุข รับฟังปัญหาการดำเนินงาน และความต้องการการสนับสนุน ตลอดจนให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ ณ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และโรงพยาบาลสนามของ อว.ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจัดตั้งขึ้น ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ

    ภายหลังการตรวจเยี่ยม ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เปิดสถานที่เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลสนามได้ทั่วประเทศ 30 กว่าแห่งรวม 13,000 เตียง เพียงพอที่จะให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความสามารถในการดูแลผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้ สำหรับที่มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี สมุทรปราการ ที่เดินทางตรวจเยี่ยมวันนี้จัดเตรียมไว้เป็นโรงพยาบาลสนามหลักของจังหวัดสมุทรปราการ โดยทางมหาวิทยาลัยฯ ได้จัดเตรียมในช่วงวันหยุดสงกรานต์เป็นที่เรียบร้อยมีขีดความสามารถในการรับผู้ติดเชื้อที่อยู่ในโรงพยาบาล ประกอบด้วยอาคารหอพัก 2 หลัง เพียงพอจะรับผู้ติดเชื้อได้ 1,000 คน
   ปลัด อว. กล่าวว่า การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยไม่ให้เกิดสถานการณ์ล้นโรงพยาบาล โดย อว.ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและพื้นที่ เพื่อให้การดูแลในภาพรวมเป็นเอกภาพมีการบริหารไปในทิศทางเดียวกัน พี่น้องประชาชนที่ติดเชื้อและมีความประสงค์จะใช้บริการโรงพยาบาลสนามจะต้องประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งจะดูแลในเบื้องต้นก่อนหลังจากผ่านการคัดกรองที่โรงพยาบาลในแต่ละจุดแล้วแพทย์ประเมินว่าสามารถเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลสนามได้ แพทย์จะเป็นผู้ส่งต่อและเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนามเอง ยืนยันว่าขีดความสามารถรองรับของโรงพยาบาลสนามตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดคือ ผู้ติดเชื้อต้องอยู่ในโรงพยาบาลสนาม 14 วัน ขณะนี้จากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั้งพื้นที่และจำนวนเตียงที่ อว. ดูแล สามารถครอบคลุมผู้ติดเชื้อได้หมดทุกคน
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์พรชัย มูลพฤกษ์
รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.นพ.ธเนศ ปิติธรรมภรณ์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อํานวยการสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ

     ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะผู้บริหาร อว.ประกอบด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวง นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สป.อว. ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามของ อว.ในจังหวัดสมุทรปราการ ณ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์พรชัย มูลพฤกษ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.นพ.ธเนศ ปิติธรรมภรณ์ ดร.นพ.พงศกร อธิกเสวตพฤกษ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ นพ.สิทธาคม ผู้สันติ รองผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี อาจารย์สุทธิชัย ฉายเพชรากร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ นายแพทย์นนท์ จินดาเวช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งนายสมศักดิ์ แก้วเสนา นายอำเภอบางพลี ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม พร้อมสรุปการเตรียมการรองรับผู้ป่วยในอนาคต
  ด้าน ผศ.ดร.ยุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (ซ้าย) กล่าวว่า มรภ.ธนบุรี ยินดีและเป็นเกียรติที่ปลัด อว.มาตรวจเยี่ยมและมาให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำงานในการป้องกันโควิดในรอบนี้ซึ่งค่อนข้างรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยยินดีดำเนินการตามนโยบายของ อว.ในการช่วยสนับสนุนงานแก่จังหวัดในการรับผู้ป่วยโควิด ถ้าหากจำเป็นยังมีพื้นที่ที่ขยับขยายได้แต่ไม่อยากให้ต้องขยายเพราะจะเป็นอันตรายหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก
   ทั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบนวัตกรรมที่นอนยางพารา จำนวน 1,000 ชุด เพื่อมอบให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลสนามและพื้นที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดยที่นอนยางพาราดังกล่าวสามารถระบายอากาศได้ดี มีความยืดหยุ่นสูง ไม่สะสมฝุ่น แบคทีเรียและเชื้อโรค  สะดวกต่อการทำความสะอาด เป็นงานต่อยอดจากงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหมอนยางพารา และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน