วช. ผนึก สวก. สกสว. ภาคประชาสังคม และเครือข่ายนักวิจัย ดันงานวิจัยเชิงพื้นที่ ‘ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5’ มุ่งลดฝุ่นพิษภาคเหนืออย่างยั่งยืน
วช. ร่วมกับ สวก. สกสว. ภาคประชาสังคม และเครือข่ายนักวิจัย ขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพื้นที่ ‘ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5’ มุ่งลดฝุ่นพิษภาคเหนืออย่างยั่งยืน

27 เมษายน 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการประชุมแลกเปลี่ยนและติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัย ภายใต้แผนงาน “งานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนฝุ่นละออง PM 2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ”และแผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเด็น ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 (เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสภาลมหายใจในพื้นที่ภาคเหนือ โดย ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมแผนงานเป้าหมายสำคัญ ของเป้าหมายตามยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 (เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) เป็นประธานฯ พร้อมด้วย ดร.เจน ชาญณรงค์ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และนายประลอง ดำรงค์ไทย กรรมการส่งเสริมแผนงานเป้าหมายสำคัญดังกล่าว และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของ วช. และ สวก. ซึ่งมีผู้แทนจาก วช. ได้แก่ ดร.ยุพิน เลิศบุรุษ ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนแผนงานวิจัยตามเป้าหมาย น.ส.กรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมฯ ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่
ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมครั้งนี้เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ได้จัดทำแผนงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้หัวข้อ “ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5” โดยมีเป้าหมายในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ และน่าน ผ่านโมเดล 8-3-1 หรือกรอบการทำงานเพื่อจัดการฝุ่นอย่างเป็นระบบ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่พัฒนาขึ้นเพื่อจัดการปัญหาฝุ่นอย่างเป็นระบบครบวงจร ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน แบ่งกระบวนการแก้ปัญหาออกเป็น 3 ระยะสำคัญ
1. ระยะป้องกัน: 8 เดือน ในช่วงเวลานี้ ซึ่งสภาพอากาศเอื้ออำนวย การดำเนินการมุ่งเน้นไปที่การลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 โดยใช้มาตรการเชิงป้องกัน เพื่อทดแทนแหล่งพลังงานที่ก่อมลพิษ ลดการปล่อยฝุ่นจากอุตสาหกรรมและคมนาคม
2. ระยะเผชิญเหตุ: 3 เดือน ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งปัญหาฝุ่น PM 2.5 มักพุ่งสูงขึ้น มาตรการในระยะนี้เน้นการตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อประสานงานและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แจกจ่ายหน้ากากอนามัย และแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นและวิธีป้องกันตัวเอง
3. ระยะฟื้นฟูและทบทวน: 1 เดือน หลังจากสถานการณ์ฝุ่นเริ่มคลี่คลาย การดำเนินการในระยะนี้มุ่งเน้นไปที่การประเมินผลและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต การประเมินผลกระทบและถอดบทเรียน จากการดำเนินงานที่ผ่านมา การปรับปรุงแผนปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาฝุ่นในปีถัดไป รวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจ โมเดล 8-3-1 ไม่เพียงช่วยให้การจัดการปัญหาฝุ่นเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ แต่ยังเน้นการบูรณาการข้อมูลและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ เอกชน และชุมชน การใช้ข้อมูลจากการดำเนินงาน ในแต่ละช่วงเวลาเป็นฐานในการกำหนดนโยบายและปรับปรุงมาตรการในระยะยาว
นายประลอง ดำรงค์ไทย กล่าวถึงการตั้งเป้าลดจำนวนวันที่ค่า PM2.5 เกินมาตรฐานไม่ให้เกิน 50 วันต่อปี และลดจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) จากสาเหตุฝุ่นไม่ให้เกิน 1,000 คนต่อปี นอกจากนี้ยังต้องลดจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) จากการเผาในที่โล่งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ไม่เกิน 5,000 จุดต่อปี จากข้อมูลพบว่าพื้นที่เป้าหมายส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ซึ่งการเผาไหม้มักเกิดจากการเตรียมพื้นที่การเกษตรและการบุกรุกป่า โดยจังหวัดที่พบการเผาไหม้สูงสุด ได้แก่ ตาก ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน โดย วช. ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัย ซึ่งประสานกับหน่วยงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผ่านแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม เพื่อลดฝุ่น PM2.5 แบ่งเป็น แผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดแม่ฮ่องสอน) และแผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน) การดำเนินงานตลอดปีมีการกำหนดหมุดหมายที่ชัดเจน โดยเริ่มจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อทำแผนบูรณาการ การลงพื้นที่เพื่อติดตามและประเมินตัวชี้วัดสำคัญในแต่ละจังหวัด และการจัดทำรายงานความก้าวหน้าเป็นประจำทุกเดือนผ่านระบบติดตามผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว
นอกจากนี้ ภายในงานมีการนำเสนอภาพรวมของแผนงาน “งานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนฝุ่นละออง PM2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ” และ แผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. ประเด็น “ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 (เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) โดย รศ. ดร.สมพร จันทระ ผู้อำนวยการแผนงาน การนำเสนอภาพรวม การนำระบบข้อมูลขนาดใหญ่ไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจ โดย รศ. ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต หัวหน้าแผนงานมิติการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ การนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานโครงการการจัดการมลพิษ PM2.5 ของสภาลมหายใจภาคเหนือ โดย สภาลมหายใจภาคเหนือ และสภาลมหายใจจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ ในช่วงบ่ายมีการนำเสนอภาพรวม แนวทางการลดการเผาและจัดการไฟในพื้นที่ป่าไม้ แนวนโยบายและการสื่อสารเชิงรุกในการแก้ปัญหา PM2.5 แนวทางการลดการเผาพื้นที่เกษตร และแนวทางความร่วมมือเพื่อลดมลพิษทางอากาศข้ามแดน โดยคณะผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม โดยมีแนวทางดำเนินการ อาทิ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางป้องกันไฟป่า การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางเลือกให้แก่ประชาชนที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร เพื่อป้องกันการพึ่งพิงทรัพยากรจากป่าโดยตรง การส่งเสริมบทบาทของชุมชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นระบบ และยังมุ่งเน้นการบูรณาการข้อมูล การประเมินผล และการปรับปรุงแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนานโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน