ADS


Breaking News

มข. ดันธุรกิจ “จิ้งหรีด” เลี้ยงเป็น เปลี่ยนชีวิต

มข. ดันธุรกิจ “จิ้งหรีด” เลี้ยงเป็น เปลี่ยนชีวิต 

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) 

อย่างที่หลายคนทราบดีว่า “จิ้งหรีด” เป็นแมลงที่ได้รับความสนใจในหลายมิติ เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง จนเกิดกระแสนิยมการบริโภคโปรตีนจากมข. ดันธุรกิจ “จิ้งหรีด” เลี้ยงเป็น เปลี่ยนชีวิตในทวีปยุโรปและอเมริกา ยกให้เป็นอาหารใหม่ หรือ Novel Food อาหารแห่งอนาคต ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมโปรตีนจากแมลงจะขยายตัว 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดนี้คือ บริษัทอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตนมทางเลือก และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นต้น  

ในด้านเศรษฐกิจไทย จิ้งหรีดสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะในชนบทที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในไทยมีมากกว่า 20,000 ราย และมากกว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่เกษตรกรกลุ่มแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและส่งออกต่างประเทศได้ กลับเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ภาคกลาง และอื่น ๆ

ดร.อนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการผ่านกระบวนการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับทุนสนับสนุนของหน่วยบริการและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยผลจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าตลาดจิ้งหรีดมีมูลค่ารวมถึง 23 ล้านบาท แต่เม็ดเงินเหล่านั้นกลับไปถึงมือกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่เพียง 7 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรต้องซื้ออาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูปจากนอกพื้นที่  ดังนั้นในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value Chain) ของการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ สิ่งที่ดำเนินการในส่วนต้นน้ำคือ “การพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด” เพื่อทำให้เกิด “ผู้ผลิตอาหารจิ้งหรีดในพื้นที่” ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบจากอาหารสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่ เพื่อปิดช่องว่าง ลดการพึ่งพิงห่วงโซ่ (Chain) จากนอกพื้นที่ และออกแบบการจัดการธุรกิจที่จะทำให้รายได้กระจายสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างทั่วถึงและเหมาะสม 

ที่ผ่านมาทีมวิจัย ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร 11 กลุ่ม จำนวน 124 คน ได้ทำงานร่วมกันโดยยึดหลักการ “พาทำ และทำกัน” เพราะการเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ใช่เพียงการทำโรงเรือนที่ได้มาตรฐานฟาร์ม GAP (Good Agricultural Practices) แต่ต้องช่วยให้เกษตรกรมีศักยภาพในการ “ผลิตอาหารจิ้งหรีดต้นทุนต่ำโดยใช้ทรัพยากรพื้นถิ่น” โดยการใช้สูตรอาหารสำเร็จรูปสูตรใหม่นี้สามารถลดต้นทุนการผลิตจิ้งหรีดจาก 71.99 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด เหลือเพียง 61.06 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด

แต่ที่สำคัญกว่าการลดต้นทุนก็คือ การทำให้เกษตรกรสามารถ “เลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาดได้” โดยในส่วนนี้เป็นการถอดความรู้ประสบการณ์ เทคนิค และภูมิปัญญาในการเลี้ยงจิ้งหรีดของพี่น้องเกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม เพื่อนำจุดเด่นของแต่ละกลุ่มมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน เพื่อสร้างเป็น “องค์ความรู้ร่วม” ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้  พร้อมกันนั้นทีมวิจัยยังเข้าให้ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจ และเป็นทั้งพี่เลี้ยงและโค้ชให้กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง มีทักษะในบริหารจัดการเชิงธุรกิจในแบบ Local Enterprise หรือรูปแบบธุรกิจปันกัน วิถีแห่งการเกื้อกูล รวมถึงความพยายามในการสร้างหรือพัฒนา “ผู้รวบรวมในพื้นที่” ที่จะทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางที่สำคัญของห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่จะสามารถทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม

ทางด้าน นายภูดิส หาญสวัสดิ์ ตัวแทนผู้ประกอบการจากภูดิศ บั๊กฟาร์ม และวิสาหกิจชุมชนจิ้งหรีดอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หากผู้ผลิตสามารถควบคุมปัจจัยการผลิตด้านความสะอาด อาหาร และอุณหภูมิได้  ด้วยเทคนิคและวิธีการที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ก็จะลดเวลาการผลิตจิ้งหรีดจาก 45 วัน เหลือเพียง 34-36 วันเท่านั้น

ดร.อนุวรรตน์ กล่าวเสริมว่า เดิมทีชาวบ้านไม่ได้มองว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นการทำธุรกิจ แต่มองว่าเป็นวิถีชีวิตที่คล้าย ๆ กับการทำนา เราจึงต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ เสริมมุมมองเรื่องการทำธุรกิจให้เขารู้ว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดก็คือการลงทุนทำธุรกิจ เมื่อได้เงินมาก็ต้องจัดการแบ่งส่วนไว้สำหรับการเลี้ยงรอบต่อไป เพื่อไม่ให้ต้องเป็นหนี้เพิ่ม ดังนั้นเป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้นอกจากต้องการให้เกษตรกรมีศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้คุณภาพแล้ว เขายังต้องสามารถจัดการธุรกิจของตนเองได้ด้วย สามารถวิเคราะห์ทิศทางหรือเป้าหมายต่อไปโดยเฉพาะในเรื่องของตลาด และศึกษามาตรฐานของผลผลิตจิ้งหรีดที่เข้าเกณฑ์การส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงความสนใจหรือ “คุณค่า” ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในปัจจุบันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ยิ่งขึ้น 

ล่าสุด เกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายความร่วมมือหน่วยธุรกิจในพื้นที่” ที่นอกจากจะสร้างอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางแล้ว ยังรวมถึงช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งเรื่องอาหาร รวมถึงการจัดหาจิ้งหรีดให้ได้ตามออร์เดอร์ที่รับมา   ส่วนในระยะต่อไปทีมวิจัยได้ตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับเป็นเครือข่ายธุรกิจกันร่วมกับภาคีเครือข่ายอีกหลายแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เกิดผลลัพธ์ใน 3 ระดับ โดยมีทั้งกลุ่มที่ “ตั้งไข่ได้” “เติบโตได้” และ “ปล่อยมือได้  ซึ่งในกลุ่มที่ปล่อยมือได้คือเขาสามารถหล่อเลี้ยงตนเอง วางแผนธุรกิจ วางแผนตลาด และยังเป็นผู้รวบรวมสินค้าจากชุมชนไปจำหน่ายได้ด้วย  

นางอรวรรณ วอทอง หนึ่งในนักวิจัยชุมชน และหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับรางวัล “เลิศรัฐ” ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ ในด้านจิ้งหรีดปลดหนี้แก้จน ในประเภทรางวัลดีเด่น เมื่อปี 2567 กล่าวว่า เดิมกลุ่มของเราเลี้ยงจิ้งหรีดขายตามฤดูกาล และขายพ่อค้าคนกลาง แต่ก็โดนกดราคา เพราะการเลี้ยงยังไม่ได้มาตรฐาน จึงตัดสินใจกู้เงินจาก ธกส. โดยได้รับการหนุนเสริมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดทำแผนธุรกิจ มาทำโรงเรือนจิ้งหรีด และเป็นพี่เลี้ยงพาเราเรียนรู้และลงมือทำไปด้วยกัน พัฒนาจนได้มาตรฐานฟาร์ม GAP ปรับกระบวนการเลี้ยง ทำให้เราสามารถผลิตจิ้งหรีดคุณภาพและมีเงินมาชำระหนี้จากการสร้างโรงเรือน จนกระทั่งปลดหนี้ได้ในปีนี้ และสามารถจัดการเงินหมุนเวียนเพื่อการลงทุนต่อไปได้ 

อย่างไรก็ตาม นางอรวรรณ ย้ำว่า แม้โครงการนี้จะหนุนเสริมให้กลุ่มสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดและนวัตกรรมการผลิตที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นได้แล้ว ทั้งยังสามารถวางแผนธุรกิจ บันทึกรายรับ-รายจ่าย และวางแผนการผลิตได้แล้ว แต่ยังมีปัญหาที่กลุ่มของตนและเครือข่ายเผชิญคือ “ราคา” และ “ตลาด” ที่ไม่คงที่  สิ่งที่กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดอยากเห็น คือตลาดกลางหรือจุดรวมจิ้งหรีดในตลาดระดับภูมิภาค ที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดได้เดินตามเส้นทางของธุรกิจที่เป็นธรรม โดยไม่ถูกตัดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป 

  สจ“การเลี้ยงจิ้งหรีด ไม่มีการแข่งขัน หากเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันได้ หากแบ่งปันกันได้ ทั้งความรู้ นวัตกรรม และตลาด ก็จะเกิดความยั่งยืนในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและผู้ประกอบการที่เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ทั้งตัวเกษตรกร คนตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง ก็สามารถกลับมาเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นทั้งอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมอยู่ในชุมชนได้อย่างมั่นคง  ซึ่งสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี ที่ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เป็นจี้งหรีดตัว แต่เราก็มองถึงการก้าวไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการส่งออกอย่างมีมาตรฐานด้วยเช่นกัน