"ศุภมาส" นำทีมผู้เชี่ยวชาญเสวนาเรื่องแผ่นดินไหว หลังเหตุการณ์เมียนมา 8.2 ริกเตอร์ ลดตระหนก สร้างตระหนัก สู่ทางรอด
"ศุภมาส" นำทีมเสวนา วิจัยไขคำตอบ ลดตระหนก สร้างตระหนัก สู่ทางรอดภัยแผ่นดินไหว
วันที่ 30 มีนาคม 2568 - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH) จัดเสวนาสำคัญ "วิจัยมีคำตอบ ลดตระหนก สร้างตระหนัก สู่ทางรอดภัยแผ่นดินไหว" โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ
เหตุแผ่นดินไหวเมียนมา 8.2 ริกเตอร์ ส่งผลกระทบถึงไทย
นางสาวศุภมาส กล่าวถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ บริเวณรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างบริเวณถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เกิดถล่มลงมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและสูญหายจำนวนมาก
นางสาวศุภมาสเปิดเผยว่า กระทรวง อว. ได้นำทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) แชมป์โลก 10 สมัย เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมส่งทีมวิศวกรอาสาจากเครือข่าย อว. ร่วมตรวจสอบอาคารต่างๆ อย่างเร่งด่วน และประเมินความเสียหายอาคารเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ และสร้างความวิตกกังวลกับประชาชน วช. ภายใต้กระทรวง อว. จึงร่วมกับ EARTH จัดกิจกรรมเสวนา “วิจัยมีคำตอบ ลดตระหนก สร้างตระหนัก สู่ทางรอดภัยแผ่นดินไหว” ในครั้งนี้ จากข้อมูลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้การสนับสนุนของ วช. ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ผ่านมา วช. มีการดำเนินการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว อาทิ เรื่องของรูปแบบการเกิดและผลกระทบจากแผ่นดินไหว การรับมือและการเตรียมความพร้อมในด้านวิศวกรรม เป็นต้น ซึ่งการเตรียมพร้อมการรับมือหากเกิดภัยพิบัติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง พร้อมผลักดันการศึกษาวิจัยที่ครอบคลุมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหว และภัยธรรมชาติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากแผ่นดินไหว ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์สำหรับการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว อีกทั้งได้ทำงานร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาสำหรับระบบตรวจวัดแผ่นดินไหว โดยทำงานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองในการจัดทำคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้น และทำงานร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในการให้ความรู้และบริการวิชาการแก่ประชาชนอีกด้วย
กรุงเทพฯ เสี่ยงสั่นสะเทือนรุนแรง 3 เท่า เนื่องจากตั้งอยู่บนดินอ่อน
ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนที่มีพลังมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก โดยชี้ว่า กรุงเทพมหานครมีความอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนสูงเนื่องจากตั้งอยู่บนแอ่งดินอ่อน ซึ่งสามารถเพิ่มระดับความรุนแรงของการสั่นสะเทือนได้มากกว่าพื้นที่ที่มีชั้นดินแข็งถึงประมาณ 3 เท่า
นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังมีความเสี่ยงจาก "ปรากฏการณ์กำทอน" (resonance effect) ในอาคารสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดการโยกไหวที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงแผ่นดินไหว
3 สถานการณ์แผ่นดินไหวที่อาจสร้างความเสียหายต่อกรุงเทพฯ
ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติได้ประเมินรูปแบบความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่:
- แผ่นดินไหวระดับ 7-7.5 ริกเตอร์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี
- แผ่นดินไหว 7.5-8 ริกเตอร์ ที่รอยเลื่อนสะกาย ประเทศเมียนมา
- แผ่นดินไหว 8.5-9 ริกเตอร์ ที่แนวมุดอาระกัน (Arakan) ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของประเทศเมียนมาและบางส่วนอยู่ในทะเล
โดยหนึ่งในสามรูปแบบนี้จะส่งผลให้กรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้เชี่ยวชาญร่วมให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยแผ่นดินไหว
ภายในงานมีการเสวนาในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับแผ่นดินไหว โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมให้ความรู้ ได้แก่:
- รองศาสตราจารย์ ดร.ภาสกร ปนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ในหัวข้อ "ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้"
- ศาสตราจารย์ ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "การออกแบบอาคารในไทยต้านทานแผ่นดินไหว"
- ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ในหัวข้อ "ระบบตรวจวัดอาคารขณะเกิดแผ่นดินไหว"
การเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแผ่นดินไหวแก่ประชาชน ลดความตระหนก เพิ่มความตระหนัก และนำเสนอแนวทางการรับมือและการป้องกันที่เหมาะสมผ่านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับภัยแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ