วช.ผนึก สอศ. ชู TVET Smart Idea2Innovation ภาคกลางและภาคตะวันออก เป็นต้นแบบการบ่มเพาะ เพื่อความเข้มแข็งของบุคลากรอาชีวศึกษา
วช.และ สอศ. นำ TVET Smart Idea2Innovation ภาคกลางและภาคตะวันออก เป็นต้นแบบการบ่มเพาะ เพื่อความเข้มแข็งของบุคลากรอาชีวศึกษา

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดกิจกรรม “TVET Smart Idea2Innovation : สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมและนวัตกรรมอาชีวศึกษาสู่นวัตกรรมพร้อมใช้” ครั้งที่ 1 (ภาคกลางและภาคตะวันออก) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิด พร้อมมอบรางวัลกิจกรรมติดดาว และมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึง กิจกรรมนี้เป็นเวทีนำเสนอผลงาน และเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ จุดประกายความคิด และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาในการพัฒนาตนเอง โดยกิจกรรม “TVET Smart Idea2Innovation : สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมและนวัตกรรมอาชีวศึกษาสู่นวัตกรรมพร้อมใช้” มีสถาบันการอาชีวศึกษาเข้าร่วมถึง 56 ทีม ซึ่ง วช. และ สอศ. เชื่อมั่นว่าผลงานที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การใช้งานช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งได้เห็นพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นที่ร่วมกันพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม พร้อมขอชื่นชมความตั้งใจของผู้บริหาร คณาจารย์ นักเรียน และนักศึกษาอาชีวศึกษา ที่ร่วมกันผลักดันให้เวทีนี้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์อีกด้วย
นอกจากนี้ มีการมอบรางวัลกิจกรรมติดดาว แก่นักเรียนอาชีวศึกษาใน 5 กลุ่มเรื่อง ดังนี้
- ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
ระดับ 5 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง เครื่องผลิตด้ามไม้กวาดทางมะพร้าวเพื่อวิสาหกิจชุมชน จากวิทยาลัยสารพัดช่างนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ระดับ 4 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง ไอศกรีมหวานเย็นส้มฉุน จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา กรุงเทพมหานคร
ระดับ 3 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง อุปกรณ์หยอดเมล็ดเพาะพันธุ์ต้นกล้า จากวิทยาลัยการอาชีพบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
- ด้านสาธารณสุข สุขภาพ อาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
ระดับ 4 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง รถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียง รุ่น 4 จากวิทยาลัยสารพัดช่างบรรหาร-แจ่มใส จังหวัดสุพรรณบุรี
ระดับ 3 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง เครื่องยืดเส้นเอ็นร้อยหวาย จากวิทยาลัยการอาชีพปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี
ระดับ 3 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง แผ่นแปะบรรเทาปวดจากสารสกัดไพลและเสลดพังพอน จากวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
- ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ
ระดับ 5 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง ชุดฝึกเรียนรู้การคัดแยกชิ้นงานบนสายพานสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AIIIoT จากวิทยาลัยการอาชีพบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ระดับ 4 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง เครื่องคัดแยกขยะอัตโนมัติ จากวิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ระดับ 4 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง เครื่องตรวจสอบแนวโน้มคุณภาพดินด้วยเซนเซอร์และระบบปัญญาประดิษฐ์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี จังหวัดชลบุรี
- ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีวัสดุ และ BCG Economy Model
ระดับ 4 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง เครื่องคิดค่าไฟฟ้าแรงดันไฟฟ้าต่ำแบบต่อเนื่อง จากวิทยาลัยการอาชีพพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
ระดับ 4 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง สถานีบริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์(ชลบุรี) จังหวัดชลบุรี
ระดับ 3 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง เครื่องเก็บสารทำความเย็น จากวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ จังหวัดนนทบุรี
- ด้านคุณภาพชีวิตและ Soft power
ระดับ 5 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว "อรุณอะไลฟ์" จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี กรุงเทพมหานคร
ระดับ 4 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง หอมรสเลิศ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ จังหวัดนนทบุรี
ระดับ 3 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง “พบเพชร (Pob-Phet)” ผลิตภัณฑ์ชุดแฟชั่นผ้าพิมพ์ลาย จากอัตลักษณ์จิตรกรรมฝาผนังโบราณสถาน วัดเกาะ จังหวัดเพชรบุรี จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
ระดับ 3 ดาว ได้แก่ผลงานเรื่อง ประทัดดิจิทัลรักษ์โลก จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ กิจกรรมนี้ไม่เพียงเป็นเวทีสำหรับการนำเสนอผลงานเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ จุดประกายไอเดีย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาในการพัฒนาตนเองและสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม วช. และ สอศ. มั่นใจว่าผลงานที่เกิดขึ้นในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่การใช้งานจริง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และพร้อมสนับสนุนบุคลากรสายอาชีวศึกษาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม