ซินโครตรอน กระทรวง อว. ประชุมใหญ่ เครือข่ายนักวิจัยนานาชาติ นำทางปั้นแผนที่สามมิติของสมอง
ซินโครตรอน กระทรวง อว. จัดประชุมเครือข่ายนักวิจัยนานาชาติปูทางสร้างแผนที่สามมิติของสมอง

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมเครือข่ายนักวิจัยไทยและเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ SYNAPSE เพื่อศึกษาและวิจัยแผนที่สามมิติของสมอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจและการรักษาโรคทางด้านสมองและประสาทวิทยาที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและประสาทวิทยาจากจีนและไต้หวัน ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับนักวิจัยไทยในหลากหลายสาขา ตั้งแต่นักฟิสิกส์คอมพิวเตอร์คำนวณ แพทย์ศัลยกรรมประสาท แพทย์พยาธิวิทยา สัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาและสรีรวิทยา นับเป็นการประชุมหารือร่วมกันเป็นครั้งแรกเพื่อสนับสนุนการทำวิจัยด้านสมอง
กรุงเทพมหานคร – สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จัดการประชุมเครือข่ายนักวิจัยไทยและเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ SYNAPSE เพื่อศึกษาและวิจัยแผนที่สามมิติของสมอง ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร โดยเป็นการประชุมเพื่อหารือความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนักวิจัยไทยกับกลุ่มเครือข่าย SYNAPSE ซึ่งเป็นเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ในการพัฒนาระบบถ่ายภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูงด้วยเทคนิคการถ่ายภาพโทโมกราฟีจากแสงซินโครตรอน เพื่อศึกษาและวิจัยแผนที่สามมิติของสมอง
การประชุมครั้งนี้ได้เชิญ ศ.เจียง อันซื่อ (Prof.Ann-Shyn Chiang) นักวิจัยด้านสมองระดับแนวหน้าของโลก จากศูนย์วิจัยสมอง มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหวา (National Tsing Hau University) ไต้หวัน ผู้เป็นกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติหลายแห่งและเป็นศาสตราจารย์พิเศษในหลายสถาบัน มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ให้แก่เครือข่าย เพื่อนำมุมมองระดับโลกมาสู่งานสัมมนาครั้งนี้ โดยเป็นงานสัมมนาที่เป็นการพบปะ หารือและทำความรู้จักกันเป็นครั้งแรก ระหว่างนักวิจัยไทยและผู้เชี่ยวชายในหลากหลายสาขา ตั้งแต่นักฟิสิกส์คอมพิวเตอร์คำนวณ แพทย์ศัลยกรรมประสาท พยาธิแพทย์ สัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาและสรีรวิทยา เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยด้านสมอง
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก ศ.ผู่ มู่หมิง (Prof.Mu-Ming Poo) จากสถาบันประสาทวิทยา สภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสมองและประสาทวิทยาที่นำลิงไพรเมทมาเป็นต้นแบบในการศึกษาการทำงานของสมองและโรคทางสมองของมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นกรรมการวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติหลายฉบับ ได้เข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์และถ่ายถอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม การประชุมนี้จึงเป็นเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยไทยและเครือข่าย SYNAPSE ซึ่งจะยกระดับการนำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาใช้สร้างแผนที่สามมิติของสมอง โดยความร่วมมือนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจและนวัตกรรมการรักษาโรคทางสมองในอนาคต
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และยังมีการถ่ายทอดความรู้ทางด้านเทคนิคแสงซินโครตรอนในงานวิจัยทางการแพทย์ เพื่อการนำไปต่อยอดยกระดับงานวิจัยทางการแพทย์และด้านอื่นๆ ต่อไป