วช. โชว์มิติใหม่แห่งนวัตกรรมไทย เปิดเวที “Innovation Talks 2025” ในงานวันนักประดิษฐ์ 2568
วช. เปิดมิติใหม่แห่งนวัตกรรมไทย จัดเวที “Innovation Talks 2025” ภายในงานวันนักประดิษฐ์ 2568

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรม “Inventors’ Connect: Innovation Talks 2025” ภายในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2568 ณ เวที Mini Stage ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 2 - 6 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเผยแพร่ผลงานนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. และสะท้อนศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยในการขับเคลื่อนประเทศผ่านผลงานวิจัยและนวัตกรรม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรม “Inventors’ Connect: Innovation Talks 2025” จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานของ วช. ในการสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมให้แก่ประชาชนทั่วไป และกระตุ้นให้เกิดการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยมีการนำเสนอผลงานที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ “สีเขียวเพื่อทุกสีสัน : หมึกพิมพ์และสารเคลือบชีวภาพ” โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เบสท์ทูซอร์บ: นวัตกรรมตัวดูดซับแบบย่อยสลายได้ เพื่อใช้ในผ้าอ้อมผู้ใหญ่ โดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พาราแมกซ์: ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติสำหรับควบคุมผักตบชวา โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน ห้องแสดงจักรวาลจำลองแบบโต้ตอบได้เพื่อการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ระบบและอุปกรณ์ประมวลผลเพื่อคัดกรองผู้มีภาวะเสี่ยงหยุดหายใจขณะนอนหลับชนิดอุดกลั้น (โรคนอนกรน) โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ โรงพยาบาล ราชวิถี มหาวิทยาลัยมหิดล นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เซรามิกสร้างสรรค์จากลักษณะเฉพาะของขยะเปลือกหอยแมลงภู่ โดย มหาวิทยาลัยบูรพา
รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณวิมล ปาสาณพันธ์ และ ดร.ธนัญชัย พิรุณพันธ์ สองนักวิจัย ผู้คิดค้น ผลงานชื่อ “เขียวเพื่อทุกสีสัน : หมึกพิมพ์และสารเคลือบชีวภาพ” เล่าถึงผลงานนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า จุดเริ่มต้นมาจากความสนใจในเนื้อหมึกพิมพ์ที่อยู่บนพื้นผิวของวัสดุต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งเล็กๆ ที่หลายคนมองข้ามไป เมื่อเริ่มศึกษาจึงพบว่าหมึกพิมพ์นั้น ผลิตมาจากวัสดุที่มาจากฐานปิโตรเลียมเป็นส่วนใหญ่และเมื่อหมึกพิมพ์หรือสารเคลือบเปลี่ยนเป็นฟิล์มพลาสติกบางบนวัสดุ เช่น บรรจุภัณฑ์กระดาษ ก็อาจจะไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จึงทำให้ยากต่อการนำกระดาษไปรีไซเคิลเพราะต้องแยกกระดาษออกจากพลาสติกเสียก่อน การใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่มีส่วนผสมของพลาสติกถือได้ว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งหมึกพิมพ์และสารเคลือบมีความเกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ทั้งสิ้น จึงนับเป็น “ส่วนเล็กๆ ที่ไม่น้อย” ที่เราไม่ควรมองข้าม การพัฒนาผลงานนี้เริ่มจากการเลือกใช้วัสดุหรือสารเคมีฐานชีวภาพที่ทำจาก น้ำตาลและน้ำมันธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบเคมีชีวภาพที่มาจากรากฐานของอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีจากฐานปิโตรเลียม และพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้วัสดุบรรจุภัณฑ์มีองค์ประกอบของวัสดุฐานชีวภาพและสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพได้โดยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า มีการนำเข้าวัสดุที่เป็นหมึกพิมพ์สูงถึง 160 ล้านตันต่อปี รวมเป็นมูลค่า 50,000 ล้านบาท ผลงานนี้นอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้วยัง ลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ แต่ยังคงคำนึงถึงศักยภาพการใช้งานได้จริงในอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมและรองรับอุตสาหกรรมการพิมพ์แบบสะอาดในอนาคต
ตลอดระยะเวลาการจัดงาน มีนักประดิษฐ์ นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงานเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ และศักยภาพของนักวิจัยไทยในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม
วช. มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมในทุกระดับ เพื่อให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป