ADS


Breaking News

สจล. ชูเทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2025 ตอบโจทย์สังคมและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

สจล. ย้ำเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงที่ส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์

ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมไทยปี 2025

    กรุงเทพมหานคร 2 ธันวาคม 2567 – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ย้ำบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “5 Innovation and Technology Trends 2025” ที่เน้นการปรับตัวต่อเทรนด์เทคโนโลยีระดับโลกปี 2025 จากมุมมองของนักวิชาการชั้นนำ พร้อมชี้ให้เห็นถึงความท้าทายใหม่ในอุตสาหกรรมและโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

5 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2025 ที่ต้องจับตามอง  

     1. Quantum Computing – พลิกโฉมอุตสาหกรรมด้วยศักยภาพการประมวลผลที่เหนือกว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน  

     2. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) – เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย AI ที่มีบทบาทหลากหลาย ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการพัฒนาสุขภาพ  

     3. เซมิคอนดัคเตอร์ – หัวใจสำคัญของเทคโนโลยีอนาคต เช่น IoT และรถยนต์ไฟฟ้า  

     4. นวัตกรรมสุขภาพอัจฉริยะ – ระบบดิจิทัลและสมาร์ทแก็ดเจ็ตช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพ  

     5. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – ใช้เทคโนโลยีลดผลกระทบและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน  

การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมที่ยั่งยืน  

      รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. ระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ เช่น  

     - KMITL Academy of Innovative Semiconductor (KISEM): ศูนย์วิจัยเซมิคอนดัคเตอร์แห่งแรกในไทย  

     - ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์: ส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างปลอดภัยและสะดวกสำหรับทุกคน  

     - โครงการ Learning City: รองรับสังคมสูงวัยในเขตลาดกระบังและจังหวัดชุมพร  

     - KMITL Smart Wellness Institute: ศูนย์ดูแลสุขภาพอัจฉริยะที่ตอบโจทย์อนาคต 

     รศ. ดร.ฉัตรพล ภคศิริ รักษาการคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง กล่าวว่า ปี 2025 เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เซมิคอนดัคเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและชีวิตประจำวัน เซมิคอนดัคเตอร์ถือเป็นหัวใจของเทคโนโลยีอนาคต โดยการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงเข้มข้น ชิปรุ่นใหม่จะเล็กลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ AI ถูกใช้งานในสมาร์ทโฟน รถยนต์ และ IoT มากขึ้น ขณะเดียวกัน การลงทุนในอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ในเอเชีย รวมถึงไทย กำลังเติบโตสูง ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนาทักษะแรงงานและผลิตวิศวกรเพื่อตอบโจทย์ตลาดโลก.

การออกแบบและเทคโนโลยีเพื่ออนาคต

     ผศ. ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมฯ ชี้ว่า ปี 2025 จะเป็นปีแห่ง “การรวมร่าง” ของเทคโนโลยีและการออกแบบ เพื่อสร้างเมืองและสังคมที่ปลอดภัย พร้อมตอบโจทย์ความหลากหลายทางสังคม เช่น การลดความเหลื่อมล้ำและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  

Quantum Computing: ก้าวกระโดดของเทคโนโลยี

     รศ. ดร.อาภาภรณ์ สกุลการะเวก รองคณบดีฝ่ายวิจัยฯ ระบุว่า Quantum Computing จะช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในหลายอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาชีวโมเลกุล ตัวยา และระบบความปลอดภัยไซเบอร์ AI และ Climate Change: ความท้าทายแห่งอนาคต

     ผศ. ดร.บุหงา ตโนภาส รักษาการแทนคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ในปี 2025 เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเปลี่ยนโฉมระบบสุขภาพ ช่วยลดความซับซ้อนและเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการ ตั้งแต่การรักษาไปจนถึงการดูแลเชิงป้องกัน เช่น ระบบดิจิทัลสำหรับนัดหมายและรับยา รวมถึงสมาร์ทแก็ดเจ็ตที่ช่วยผู้สูงอายุติดตามสุขภาพผ่านเซนเซอร์แบบเรียลไทม์ พร้อมทั้ง AI ที่วิเคราะห์และวินิจฉัยโรคได้แม่นยำ การผสานเทคโนโลยี นวัตกรรม และจริยธรรมนี้จะเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพครอบคลุมทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้าย

     คุณปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมฯ กล่าวถึงบทบาทของ AI ในการตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจและ Climate Change ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

     ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:  

     - เว็บไซต์: www.kmitl.ac.th

     - เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/kmitlofficial

- โทร: 02-329-8000