ศุลกากรกวาดล้างยาเสพติดและบุหรี่ไฟฟ้าครั้งใหญ่ ยึดของกลางมูลค่ากว่า 49 ล้าน ตามนโยบายนายกฯ แพทองธาร
ศุลกากรปราบยาเสพติด บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า รวมมูลค่ากว่า 49 ล้านบาท
วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า - ส่งออก นำผ่าน และจำหน่ายยาเสพติด บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมาย เพี่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน กระทรวงการคลัง โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขันในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งปราบปรามการการลักลอบนำเข้ามาในและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าตามนโยบายของรัฐบาลในทุกช่องทาง รวมถึงสินค้าที่มีการลักลอบหนีศุลกากรอื่น ๆ
สำหรับในช่วง 10 วัน ก่อนสิ้นเดือนตุลาคม (วันที่ 22 – 31 ตุลาคม 2567) กรมศุลกากรได้ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย โดยมีผลงานการจับกุมที่โดดเด่น ดังนี้
1. ยาเสพติด
- พยายามลักลอบส่งออกยาเสพติดไปนอกราชอาณาจักร
1.1 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และกองสืบสวนและปราบปราม ได้ดำเนินการตรวจสอบใบขนสินค้าเร่งด่วนขาออก ปลายทางประเทศออสเตรเลีย
สำแดงสินค้าเป็น SAMPLE MICROSCOPE จำนวน 5 Carton จากการตรวจสอบ พบเครื่อง MICROSCOPE แต่จากภาพ X – RAY และการตรวจสอบทางกายภาพพบว่ามีสิ่งของซุกซ่อนอยู่ภายใน เมื่อทำการตรวจสอบโดยละเอียด พบห่อพลาสติกหุ้มด้วยเทปกาวสีน้ำเงิน จำนวน 9 ห่อ ภายในพบก้อนเกล็ดใส และเมื่อทำการทดสอบด้วยเครื่องทดสอบสารเสพติด (เครื่องรามัน) และชุดทดสอบสารเสพติด ให้ผลเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไอซ์ (Methamphetamine)
น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 9.07 กิโลกรัม มูลค่า 21.76 ล้านบาท
1.2 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ปลายทางประเทศเกาหลีใต้ สำแดงชนิดสินค้าเป็น “Lego Set” ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไอซ์ (Methamphetamine) ลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวใส บรรจุในถุงพลาสติก ซุกซ่อนภายในตัวต่อ Lego น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 750 กรัม มูลค่า 2.06 ล้านบาท
1.3 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการวิเคราะห์
ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ปลายทางประเทศอิสราเอล สำแดงชนิดสินค้าเป็น “SNACK” ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 ไอซ์ (Methamphetamine) ลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวใส ห่อหุ้มด้วยกระดาษฟลอยด์ ซุกซ่อนภายในซองเครื่องดื่มขิงผงสำเร็จรูป น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 950 กรัม มูลค่า 2.375 ล้านบาท
กรณีตามข้อ 1.1 - 1.3 เป็นความผิดฐานพยายามส่งออกยาเสพติดให้โทษออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 242 และ 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด - นำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร
1.4 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม และสำนักงานศุลกากร
ตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับหน่วยสกัดกั้นยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force: AITF) ได้ร่วมกันวิเคราะห์ สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับเครือข่ายลักลอบนำเข้ายาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน พบหญิงสัญชาติกิเนียน มีความเสี่ยงลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร เดินทางมาจากเมืองแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ประเทศไทย จึงทำการตรวจสอบ พบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน ซุกซ่อนอยู่บริเวณขอบกระเป๋าเดินทาง น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 2,000 กรัม มูลค่า 6 ล้านบาท
1.5 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรหนองคาย ได้ทำการตรวจรถยนต์และสิ่งของที่มากับรถยนต์ที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร บริเวณจุดตรวจด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 1 พบรถยนต์ที่มีชายสัญชาติลาวเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะ เดินทางมาพร้อมผู้โดยสารหญิงชาวไทย จำนวน 2 คน
เมื่อนำกระเป๋าสัมภาระไปตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ ปรากฎภาพต้องสงสัยในกระเป๋าสัมภาระ จึงนำสิ่งของดังกล่าว มาทดสอบด้วยน้ำยา (ONCB 051) MARQUIS REAGENT พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 6.9 กิโลกรัม มูลค่า 3 ล้านบาท
กรณีตามข้อ 1.4 - 1.5 เป็นความผิดฐานนำเข้ายาเสพติดให้โทษเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต และมียาเสพติดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 242 และ 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
2. บุหรี่ต่างประเทศ
2.1 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ลงพื้นที่ตรวจสอบพัสดุ ณ ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยตรวจพบบุหรี่ ที่มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จำนวน 397,000 มวน มูลค่า 1.58 ล้านบาท และบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 199 ชิ้น มูลค่า 20,750 บาท
2.2 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรจันทบุรี ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย สาขาโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ร่วมกันตรวจสอบพัสดุพบบุหรี่ มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จำนวน 246,400 มวน มูลค่า 1.3 ล้านบาท
2.3 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม และด่านศุลกากรมุกดาหาร ได้ขอหมายค้นเข้าตรวจสอบบริษัทขนส่งสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร เนื่องจากได้รับการข่าวว่ามีสินค้าลักลอบหนีภาษี โดยตรวจพบบุหรี่ มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ เบื้องต้นไม่มีเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 480,000 มวน มูลค่า 480,000 บาท
2.4 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม และด่านศุลกากรท่าอากาศยานหาดใหญ่ ได้ขอหมายค้นเข้าตรวจสอบพัสดุในบริษัทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อเข้าตรวจสอบ พบสินค้าประเภทบุหรี่ มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จำนวน 340,000 มวน มูลค่า 4 ล้านบาท
2.5 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร กองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย สาขาสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกันตรวจสอบพัสดุ พบบุหรี่ มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จำนวน 120,000 มวน มูลค่า 600,000 บาท
กรณีตามข้อ 2.1 - 2.5 เป็นความผิดตามมาตรา 242 245 246 247 ประกอบมาตรา 166 และ 167
แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
3. บุหรี่ไฟฟ้า
3.1 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้ตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้า ประเทศกำเนิด CHINA พบสินค้าที่ไม่ได้สำแดง เป็นบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้แล้วทิ้งคละกลิ่น จำนวน 10,000 ชิ้น มูลค่า 726,287 บาท
3.2 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม และด่านศุลกากรมุกดาหาร ตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้า เนื่องจากได้รับการข่าวว่ามีสินค้าที่พยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรและหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด ผลการตรวจสอบพบสินค้าที่ไม่ได้สำแดง เป็นบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 8,000 ชิ้น มูลค่า 2.4 ล้านบาท
3.3 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 และด่านศุลกากรมุกดาหาร ตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้า ณ โรงพักสินค้าเพื่อตรวจปล่อยของขาเข้าและบรรจุของขาออกที่ขนส่งโดยระบบคอนเทนเนอร์นอกเขตท่าเรือรับอนุญาต (รพท.) ในพื้นที่ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ตรวจสอบพบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 8,000 ชิ้น มูลค่า 2.4 ล้านบาท
กรณีตามข้อ 3.1 - 3.3 เป็นความผิดฐานแสดงข้อมูลไม่ถูกต้อง ครบถ้วน และหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตามมาตรา 202 244 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522