ADS


Breaking News

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดประกวด Print Ads สะท้อนผลกระทบอุตสาหกรรมข้าวโพดอาหารสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อม

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ปลุกใจชาวอาร์ต เปิดประลองไอเดียครีเอทีฟ "Print Ads Contest" สะท้อนวิกฤต “ผลกระทบอุตสาหกรรมข้าวโพดอาหารสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อม” ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 6 หมื่นบาท
     องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เดินหน้ารณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมข้าวโพดอาหารสัตว์ อันเกิดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ ประเทศไทย จัดกิจกรรม "Print Ads Contest" ชวนชาวอาร์ตสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อร่วมเป็นพลังสำคัญต่อการขับเคลื่อนการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านงานออกแบบโฆษณาสิ่งพิมพ์ ในหัวข้อ “ผลกระทบอุตสาหกรรมข้าวโพดอาหารสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อม” เปิดกว้างทุกแนวคิด ไม่จำกัดเทคนิค รวมถึง AI ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 6 หมื่นบาท ส่งผลงานได้ 2-18 ตุลาคม 2567 นี้
     คุณรู้หรือไม่ว่า… ภัยเงียบที่กำลังคุกคามโลกคือ ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 58 ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง
     วิกฤตที่ซ่อนอยู่ในทุ่งข้าวโพด ประเทศไทยใช้พื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ในการปลูกข้าวโพด โดยร้อยละ 95 ของข้าวโพดเหล่านี้ถูกใช้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะในพื้นที่เชิงเขาและลาดชัน การเผาเศษวัชพืชหลังการเก็บเกี่ยวกลายเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างรุนแรง
     โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ปัญหาจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในทุกปี จากการเผาหลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว อุตสาหกรรมนี้ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมในมิติอื่นๆ อีกมากมาย เช่นการตัดไม้ทำลายป่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเสียพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า รวมถึงส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน การสร้างความเข้าใจปัญหานี้อย่างรอบด้านจึงเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็น 
     การจัดประกวดสื่อรณรงค์ในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีความสามารถในด้านความคิดสร้างสรรค์ร่วมกระตุ้นจิตสำนึก ผ่านการออกแบบสื่อที่จะช่วยสร้างความตระหนักต่อปัญหานี้ และร่วมตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่กำลังคุกคามสมดุลของธรรมชาติอย่างน่าวิตก 
     การประกวดนี้ไม่เพียงกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังเป็นเวทีแห่งการแสดงพลังของศิลปะในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลากสาขาร่วมคัดเลือกผลงานเพื่อชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 6 หมื่นบาท และผลงานที่ผ่านรอบสุดท้ายจะได้รับการจัดแสดงที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจและชักชวนให้ผู้ชมร่วมเข้าชื่อรณรงค์"”
     เกณฑ์การให้คะแนนในครั้งนี้ จะพิจารณาถึงความคิดสร้างสรรค์ ความชัดเจนในการสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์กับเนื้อหาในการณรงค์ ผลกระทบต่อความรู้สึกและการตัดสินใจ รวมถึงการออกแบบและจัดวาง  โดยผู้เข้าประกวดสามารถส่งผลงานได้ 2 ขนาดคือ ขนาด Print และ Mobile Screen Display และไม่จำกัดวิธีการในการสร้างสรรค์ผลงาน สามารถใช้เทคนิคผสมได้ ทั้งภาพวาด ภาพถ่าย กราฟฟิค ภาพที่สร้างและดัดแปลงจาก Generative AI ฯลฯ 
     ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 2 – 18 ตุลาคม 2567 ผ่านทางเว็บไซต์ขององค์กรที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/behind-the-feed  โดยจะประกาศผลผู้ชนะเลิศพร้อมจัดแสดงผลงาน 30 ชิ้นสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือกในรูปแบบนิทรรศการ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: World Animal Protection Thailand องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือทางเว็บไซต์

# PrintAdsContest2024
# BehindTheFeed
#WorldAnimalProtectionThailand

**
เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
     องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข, สัตว์ป่า - สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th