ADS


Breaking News

มะเร็งปอดในผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่: สาเหตุและการป้องกัน

มะเร็งปอดกับผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่

โดย ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย
ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ทรวงอก  
เฉพาะทางการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก
โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

มะเร็งปอดในผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่เกิดจากอะไร?

    หลายคนสงสัยว่าทำไมผู้หญิงที่ไม่เคยสูบบุหรี่จึงเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด จากข้อมูลของสมาคมปอดนานาชาติ (IASLC) พบว่า แม้ว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดโดยรวมจะลดลง เนื่องจากจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง แต่อัตราการเกิดมะเร็งปอดในผู้หญิงอายุ 35-54 ปีกลับเพิ่มขึ้น และเกิดบ่อยกว่าผู้ชายในช่วงอายุเดียวกัน 

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอดในผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่

     ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าทำไมผู้หญิงจึงเสี่ยงต่อมะเร็งปอดมากกว่า อย่างไรก็ตาม มีทฤษฎีว่าอาจเกิดจากการเผาผลาญสารก่อมะเร็งในควันบุหรี่ที่แตกต่างจากผู้ชาย หรือจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศ ก๊าซเรดอน และสารพิษอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อม

การกลายพันธุ์ของยีน EGFR และมะเร็งปอดในผู้หญิง

     งานวิจัยล่าสุดจากสมาคมปอดนานาชาติพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดในเอเชียมีการกลายพันธุ์ในยีน EGFR สูงกว่าผู้ป่วยในตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญ การกลายพันธุ์นี้พบได้บ่อยในผู้หญิงชาวเอเชียที่ไม่เคยสูบบุหรี่ โดยยีน EGFR เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งปอดโดยไม่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่

อาการของมะเร็งปอดที่ควรสังเกต

    อาการที่พบบ่อยของมะเร็งปอด ได้แก่ ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หากคุณเป็นผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่และมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องจากผู้ป่วยมักตรวจพบโรคเมื่ออยู่ในระยะลุกลามแล้ว ซึ่งทำให้การรักษายากขึ้น

การรักษามะเร็งปอดในปัจจุบัน

     การรักษามะเร็งปอดได้พัฒนามากขึ้นจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การใช้ยาพุ่งเป้า (Target Therapy) และยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) โดยเฉพาะในผู้ป่วยระยะที่ 4 ทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น การตรวจพบมะเร็งปอดในระยะแรกเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากยิ่งตรวจพบเร็ว การรักษาก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คำแนะนำในการดูแลสุขภาพปอด

     ควรสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากคุณสงสัยว่าอาจมีความเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย และสำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมะเร็งปอด สามารถปรึกษาได้ที่เพจเฟซบุ๊ก "ผ่าตัดปอดโดย ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย" หรือที่เว็บไซต์ siradoctorlung.com