สภท. ผนึกกำลังผู้เชี่ยวชาญพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาสื่อมวลชน มุ่งเน้นบทบาท “ไฟฟ้า” และ “การลดคาร์บอน” เพื่อพัฒนาพื้นที่ EEC
สภท. จับมือกูรูด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาสื่อมวลชน ชู “ไฟฟ้า” คู่ “การลดคาร์บอน” หัวใจสำคัญของการพัฒนาในพื้นที่ EEC
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.) ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน สำนักงาน EEC องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงานสัมมนาสื่อมวลชนระดับภูมิภาค หัวข้อ “พลังงานไฟฟ้า: ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน EEC และภาคกลาง” ชูแนวทางลดคาร์บอนในพื้นที่ โดยงานจัดขึ้น ณ โรงแรม ซีทู พูล วิลล่า รีสอร์ท พัทยา มีสื่อมวลชนจากจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ร่วมฟังการบรรยาย
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง มีศักยภาพสูงในด้านการขนส่งและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม การส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอและมีเสถียรภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศในระยะยาว
นายอนันต์ นิลมานนท์ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.) |
ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย EEC กล่าวในบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจว่า ปัจจุบัน EEC มีความสำคัญในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยเพื่อลดต้นทุนและเวลาในการขนส่ง พัฒนานวัตกรรมดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงมุ่งจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ โดยพื้นที่ EEC มีผู้ใช้ไฟฟ้าราว 1.3 ล้านราย คิดเป็นการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ หรือ 15% ของประเทศ ซึ่งเน้นการเชื่อมต่อพลังงานจากโรงไฟฟ้าในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี และโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต
น.ส.ชฎารัตน์ สุนทรเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 13 กล่าวถึงภาพรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และครัวเรือนหลังสถานการณ์ COVID-19 โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2567 - 2580 (PDP2024) ซึ่งเน้นลดคาร์บอนและส่งเสริมพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลก
นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ อบก. กล่าวเสริมว่า ในปีนี้การปล่อย CO2 ของประเทศไทยลดลง 3.3% จากนโยบายพลังงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมพลังงานสะอาด ส่งผลให้ระดับ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยมุ่งหวังบรรลุเป้าหมายการลดการปลดปล่อยคาร์บอนตามเป้าหมายแห่งชาติ
นายสมโชค พาหุบุตร ผู้อำนวยการโครงการเสริมความมั่นคงระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. กล่าวถึงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าพื้นที่ EEC ด้วยสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ โดยโครงการนี้มีการเชื่อมโยงพลังงานจากโรงไฟฟ้าหลักทั้งในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เพื่อให้มั่นคงต่อการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว
นายอนันต์ นิลมานนท์ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.) กล่าวถึงความสำคัญของสัมมนาครั้งนี้ที่เป็นช่องทางให้สื่อมวลชนได้รับความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม อัปสกิลและเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารบทบาทสำคัญของ EEC และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคกลางอย่างยั่งยืน