วช.มอบนวัตกรรมสูบน้ำนาข้าวพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนเพาะปลูก จ.พระนครศรีอยุธยา
วช. มอบนวัตกรรม "ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับนาข้าว" เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกร ต.รางจรเข้ จ.พระนครศรีอยุธยา
วันที่ 26 ตุลาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง มอบหมายให้ นายชาญณรงค์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ วช. ลงพื้นที่ตำบลรางจรเข้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งมอบนวัตกรรม "ระบบสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับนาข้าว" ให้แก่ชุมชน โดยมี ศาสตราจารย์.ดร.ทศวรรษ สีตะวัน รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นผู้รายงานวัตถุประสงค์ของโครงการ และได้รับการต้อนรับจาก นายพงศกร มงคลหมู่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้
นวัตกรรมสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์นี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง วช., มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้แก่ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ โดยนอกจากจะลดต้นทุนการใช้น้ำมันในการสูบน้ำแล้ว ยังเป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้อย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ ระบบนี้ยังช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นการเกษตรแบบยั่งยืน
นายชาญณรงค์ มณีรัตน์ กล่าวว่า วช. ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ในการพัฒนาระบบสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์นี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชนและสนับสนุนการเกษตรที่ยั่งยืน นับเป็นโครงการต้นแบบที่สามารถขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ โดยชาวบ้านจะได้รับการอบรมในการใช้งานและบำรุงรักษาระบบอย่างเหมาะสม
ศาสตราจารย์.ดร.ทศวรรษ สีตะวัน กล่าวเพิ่มเติมว่า นวัตกรรมนี้เป็นการบูรณาการเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน โดยเป็นการต่อยอดความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในงานนี้ได้มีการส่งมอบระบบสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์จำนวน 10 ชุด ให้แก่ชุมชนเกษตรกร พร้อมคู่มือและการสอนวิธีการใช้งาน
การส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการพัฒนาที่จะช่วยสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มเกษตรกรในการเพาะปลูก เพิ่มโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่สูงขึ้นและลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น