ศุลกากรเข้มต่อเนื่อง ยึดไอซ์และเคตามีนซ่อนในกล่องพัสดุ มูลค่ากว่า 14.74 ล้านบาท
จับอีก!!! ศุลกากรยึดไอซ์และเคตามีนซ่อนในกล่องพัสดุ มูลค่ากว่า 14.74 ล้านบาท
วันนี้ (28 สิงหาคม 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่ายโดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการอย่างเคร่งครัด นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากรได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังการลักลอบขนส่งยาเสพติดในทุกช่องทาง และบูรณาการด้านการข่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยานนานาชาติ (Airport Interdiction Task Force: AITF) ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบขนส่งยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดำเนินการตรวจสอบใบขนสินค้าเร่งด่วนขาออกที่มีความเสี่ยงมีสิ่งผิดกฎหมาย ระบุปลายทางประเทศออสเตรเลีย สำแดงชนิดสินค้าเป็น ENCLOSURE น้ำหนัก 21 กิโลกรัม จากการตรวจสอบพบเป็น จากการตรวจสอบพบ DIGITAL ULTRASONIC CLEANER ซึ่งจากภาพ X-ray และการตรวจสอบทางกายภาพของสินค้า ต้องสงสัยว่ามีสิ่งของซุกซ่อนอยู่ภายใน จึงได้ประสานกองสืบสวนและปราบปราม และชุดปฏิบัติการ AITF เพื่อดำเนินการตรวจสอบร่วมกันโดยละเอียด พบห่อฟอยล์ซึ่งห่อทับถุงชาเขียวจำนวน 6 ห่อ ซุกซ่อนอยู่ภายใน โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเปิดตรวจ พบก้อนเกล็ดใสบรรจุอยู่ภายใน จึงทำการตรวจสอบกับเครื่องทดสอบสารเสพติด (เครื่องรามัน) และชุดทดสอบสารเสพติด ผลปรากฎว่าเป็น เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม ประมาณ 5.6 กิโลกรัม มูลค่า 13.44 ล้านบาท เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงสืบสวนขยายผลเพื่อดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามลักลอบส่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 244 และ 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ได้ทำการวิเคราะห์พัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงลักลอบนำเข้ายาเสพติด ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพ
พบพัสดุต้องสงสัย 1 หีบห่อ ระบุต้นทางจากประเทศเยอรมนี จึงทำการ X-ray และพบความผิดปกติ จึงร่วมกับ กองสืบสวนและปราบปราม พร้อมชุดปฏิบัติการ AITF และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ทำการตรวจสอบโดยละเอียด เมื่อเปิดกล่องพบอาหารเสริม จำนวน 3 กระปุก ภายในมีผงสีขาวซุกซ่อนอยู่ภายในบรรจุภัณฑ์ หลังจากทดสอบด้วยน้ำยา พบว่า เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เคตามีน (KETAMINE) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 1.307 กิโลกรัม มูลค่า 1.30 ล้านบาท จึงได้ร่วมกันยึดพัสดุดังกล่าวเพื่อส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานนำของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า กรมศุลกากรได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งการนำเข้าส่งออก การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่ายในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 ถึง 27 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 130 คดี มูลค่ารวม 1,018.47 ล้านบาท