ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ และคณะแพทย์ จุฬาฯ เปิดตัวนวัตกรรมการเรียนรู้สุดล้ำเพื่อยกระดับการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ
วันนี้ (25 กันยายน 2567) ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, สาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, MDCU MedUMore คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันสนับสนุนการเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์และถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศนำเสนอนวัตกรรมการเรียนรู้ออนไลน์ MedUMore หลักสูตรนวัตกรรมการรักษา TAVI (Transcatheter Aortic Valve Implantation) หรือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด หลักสูตรแรกของประเทศไทย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6 ของประชากรไทย ถือเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากสิงคโปร์ นอกจากนี้โรคหัวใจยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจุบันผู้สูงอายุชาวไทยกว่า 400,000 คน อาจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
สำหรับการแถลงข่าวในวันนี้ เป็นช่วงเวลาของ "วันหัวใจโลก" ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เปิดตัวโครงการ "นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคต เปิดทางสู่ความเป็นเลิศในการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่จะมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับการบริการทางการแพทย์และการศึกษา เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ป่วยและสังคม
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า การพัฒนาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสนับสนุนทีมงานที่มีความหลากหลายเป็นส่วนสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้การรักษามีความแม่นยำ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะในกรณีการรักษาโรคที่ซับซ้อน อย่างการรักษาภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ
ในส่วนของแพลตฟอร์ม MedUMore TAVI ที่เรานำเสนอในวันนี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด เสริมสร้างความเชี่ยวชาญและการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นอีกช่องทางการสื่อสารที่มีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ประชาชนโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและดูแลสุขภาพหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาการแพทย์ของประเทศไทย ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายของโรคหัวใจในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเราไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่ความสำเร็จในด้านการแพทย์เท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างสังคมที่แข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“เพราะการดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม และเรามุ่งมั่นที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เป้าหมายนี้เป็นจริง” รศ.นพ.ฉันชายกล่าว
ด้าน รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ หัวหน้าหน่วยอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าอุบัติการณ์ของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Stenosis) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ซึ่งทำให้โรคนี้เป็นปัญหาสำคัญที่เราทุกคนอาจต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบมักเกิดขึ้นจากการสึกหรอของลิ้นหัวใจตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอุบัติการณ์สูงถึง 12.4% และ 3.4% ของกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเกิดขั้นรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตได้ในระยะเวลา 2-5 ปี
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีเพียง 47% ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เราต้องร่วมกันแก้ไข ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงทีผ่านการสร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยการศึกษาและการเรียนรู้ที่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว นวัตกรรมการรักษาโรคหัวใจ อย่าง TAVI เป็นตัวอย่างของการรักษาที่ซับซ้อนและต้องการความร่วมมือจากทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายสาขา การพัฒนาบทเรียนออนไลน์ TAVI หลักสูตรแรกของประเทศไทย ร่วมกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ MedUMore คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการแพทย์ เพื่อให้เราสามารถนำเสนอการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย เพราะความสำเร็จของการรักษาโรคลิ้นหัวใจตีบไม่ได้ขึ้นอยู่กับนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับการสร้างระบบการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและครอบคลุม นำพาเราไปสู่การรักษาที่มีคุณภาพและยั่งยืนในระยะยาว
ด้านผศ.(พิเศษ) นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้แทนฝ่ายบริการวิชาการ ผู้ดูแลแพลตฟอร์ม MedUMore กล่าวว่า ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปีของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ “MDCU MedUMORE” ซึ่งปัจจุบันเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้อันดับ 1 ของประเทศไทยด้านการแพทย์ ที่มีการรับชมไปมากกว่า 2,000,000 views แล้ว โดยแพลตฟอร์ม MedUMore ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยและครอบคลุมทั้งสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป จุดเด่นของ MedUMore คือการนำเสนอหลักสูตรที่หลากหลายและเน้นการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาการแพทย์ที่มีความซับซ้อนและต้องการการฝึกฝนเป็นพิเศษอย่างหลักสูตรการรักษาลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบด้วยวิธี TAVI ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคลิ้นหัวใจตีบ นอกจากนี้ยังมีการสร้างพันธมิตรกับองค์กรภายในและภายนอก อย่างศูนย์โรคหัวใจ และบริษัท เมดโทรนิค ช่วยให้เราสามารถนำเสนอเนื้อหาบทเรียนการทำหัตถการที่มีความซับซ้อน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้แก่นิสิตและบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน อ.ดร.นพ.วศิน พุทธารี ผู้ริเริ่มโครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบโดยไม่ต้องผ่าตัด และผู้รับผิดชอบหลักสูตร TAVI สำหรับ MedUMore คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการฝึกอบรมทีมแพทย์ในการทำหัตถการ TAVI คือความซับซ้อนของการทำหัตถการนี้เอง TAVI เป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางที่หลากหลาย ซึ่งหมายความว่าทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมกันทำหัตถการนี้ต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งและมีประสบการณ์เพียงพอ การฝึกอบรมไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้ทฤษฎี แต่ยังต้องมีการฝึกปฏิบัติจริงและทบทวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจุดนี้ การที่เราร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับการทำหัตถการ TAVI และนำเสนอภายใต้ แพลตฟอร์ม MedUMore เข้ามามีบทบาทอย่างมาก เพราะไม่เพียงแค่ให้ความรู้ที่ครอบคลุมในทุกด้านของการทำ TAVI ผ่านผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว ที่สำคัญหลักสูตร TAVI ในแพลตฟอร์ม MedUMore ยังเป็นหลักสูตรออนไลน์ TAVI หลักสูตรแรกของประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการฝึกอบรม เพื่อให้แพทย์จากทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงความรู้และการฝึกฝนที่ทันสมัยได้ เปิดโอกาสให้แพทย์ได้เห็นและเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง 3D simulation ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้แพทย์สามารถทบทวนการฝึกปฏิบัติเสมือนจริง ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจในการทำหัตถการให้กับผู้เข้าเรียน
นอกจากความท้าทายด้านการฝึกอบรมทีมแพทย์แล้ว การเข้าถึงการรักษาด้วยวิธี TAVI สำหรับประชาชนก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการสังเกตอาการของตนเอง และยังไม่ค่อยรู้จักการรักษาด้วยวิธี TAVI ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมได้ทันท่วงที แพลตฟอร์ม MedUMore TAVI จึงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ เพราะเป็นอีกช่องทางสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนผ่านการเสวนาด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อประชาชนมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ TAVI จะทำให้สามารถสังเกตอาการและตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ภญ. สุชาดา ธนาวิบูลเศรษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอย่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ของประเทศในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราเชื่อว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการแพทย์ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหลายฝ่าย ทั้งจากภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม
สำหรับการทำหัตถการ TAVI นวัตกรรมการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ช่วยลดความเสี่ยง ฟื้นตัวเร็ว และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัดแบบดั้งเดิม เนื่องจากเป็นหัตถการที่ซับซ้อนและต้องการการทำงานเป็นทีมของหลายฝ่าย จึงเป็นความ
ท้าทายสำคัญที่บริษัท เมดโทรนิคได้ให้ความสำคัญตลอดมา บริษัท เมดโทรนิคร่วมกับสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำของประเทศ เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนาโรงพยาบาล ในทุกภูมิภาคของไทย และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย ทั้งด้านการพัฒนาความรู้ของบุคลากรทางการแพทย์และการให้ความรู้แก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนไข้สามารถเข้าถึงการรักษาผ่านโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการให้บริการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานระดับเดียวกับสากล สำหรับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน MedUMore TAVI นี้เราได้ทำงานร่วมกับศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่เราได้ลงนามร่วมกันเพื่อสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ MedUMore ไม่เพียงแค่ในแง่ของการสนับสนุนการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังรวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทั่วไป ด้วยการร่วมมือกันในครังนี้ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญที่สำคัญระหว่างกัน ทำให้การพัฒนาหลักสูตรมีความครบถ้วนและทันสมัย ช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการทำหัตถการ TAVI ซึ่งส่งผลดีต่อการยกระดับมาตรฐานการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาวอย่างแท้จริง"
ด้านคุณนิรุตติ์ ศิริจรรยา นักแสดงอาวุโส ผู้แทนในส่วนของภาคประชาชน ในฐานะที่ผมเป็นประชาชนที่ได้เสวนากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกท่านแล้ว ผมมองว่าโรคลิ้นหัวใจเออร์ติกตีบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและอาจมีผลกระทบที่ร้ายแรงต่อชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้นการที่ประชาชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้และเข้าใจวิธีการรักษาอย่างถูกต้อง จะช่วยให้พวกเราสามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสามารถตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการรักษาด้วยวิธี TAVI ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ มีประสิทธิภาพสูง ให้ผลการรักษาที่ดีในระยะยาว ถือเป็นนวัตกรรมการรักษาสำหรับผู้สูงอายุ คืนชีวิตที่มีคุณภาพ ลูกหลานมีความสุข
ในช่วงสุดท้ายของงานแถลงข่าว ทีมศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.นพ. สุพจน์ ศรีมหาโชตะ หัวหน้าหน่วยอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์,พญ. ศิริพร อธิสกุล หัวหน้าห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด, นพ. ชนาพงษ์ กิตยารักษ์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดหัวใจและทรวงอกและนพ. วรฤทธิ์ เลิศสุวรรณเสรี แพทย์ผู้ชำนาญการสวนหัวใจและหลอดเลือด ได้นำเสนอศักยภาพของการให้บริการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบอย่างรุนแรง ในฐานะศูนย์กลางการรักษาโรคหัวใจที่มีศักยภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในประเทศ ศูนย์โรคหัวใจของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้พัฒนาความพร้อมในรักษาคนไข้โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความหลากหลายและครบถ้วนทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคหัวใจขั้นสูง อย่างการรักษาเปลี่ยนลิ้นหัวใจเออร์ติกตีบผ่านสายสวน หรือ TAVI ที่ให้บริการมาแล้วเกือบ 15 ปี โดยมีผู้ป่วยกว่า 300 รายที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ ที่ไม่เพียงแค่ลดความเสี่ยงและระยะเวลาการพักฟื้น แต่ยังช่วยคืนชีวิตที่มีคุณภาพให้กับผู้ป่วย ให้พวกเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข
นอกจากนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ดำเนินโครงการเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นและยังขาดทุนทรัพย์ ให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงและได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ผ่านโครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI) ภายใต้โครงการนี้ศูนย์โรคหัวใจสามารถช่วยให้ผู้ป่วยจำนวน 30-40 รายต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 60% ของผู้ป่วยที่ต้องการการสนับสนุนทางด้านทุนทรัพย์ ที่สามารถได้รับการรักษาที่ดีที่สุด
ท่านสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลให้ผู้ป่วยลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบให้สามารถเข้าถึงบริการการรักษาได้ โดยการร่วมสมทบทุนผ่าน E-Donation บัญชี ฬ. จุฬา สะพานบุญ หรือผ่านบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (ฬ. จุฬา สะพานบุญ) เลขที่บัญชี 059-1-93894-0 โทรสอบถามเพิ่มเติมโทร 02-251-7804
“เพราะทุกๆ การให้ คือความงดงาม”