รพ.อุตรดิตถ์ รักษาผู้ป่วยโรคอ้วนครบวงจร โดยการผ่าตัดกระเพาะอาหารด้วยการส่องกล้อง
รพ.อุตรดิตถ์ เปิดให้บริการผ่าตัดกระเพาะอาหารด้วยการส่องกล้อง
รักษาผู้ป่วยโรคอ้วนครบวงจร
โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ได้ให้การดูแลผู้ป่วยโรคอ้วนทุพพลภาพเขตจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดข้างเคียง เริ่มตั้งแต่ ให้ความรู้ทางด้านโภชนาการการใช้ยาไปจนถึงการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก
นพ.นรนนท์ บุญยืน ศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องและโรคอ้วน โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่าหลังจากที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ได้เปิดให้บริการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนทุพพลภาพด้วยการส่องกล้อง มีผู้สนใจเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก โดยผู้ป่วยกลุ่มแรกๆที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดไปแล้วนั้น สามารถลดน้ำหนักได้ตามเกณฑ์เป็นที่น่าพอใจ และช่วยทุเลาโรคแทรกซ้อนจากความอ้วนได้ ผู้ป่วยโรคอ้วนทุพพลภาพที่เหมาะสมแก่การผ่าตัด ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 37.5 kg/m2 หรือ ดัชนีมวลกาย มากกว่า 32.5 kg/m2 ร่วมกับมีภาวะเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงหรือความดันโลหิตสูงหรือโรคร่วมจากความอ้วนอื่น ๆ หรือ ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน ที่อยากทราบแนวทางการรักษา สามารถเข้ามารับคำแนะนำพร้อมปรึกษาปัญหาได้ที่ คลินิกโรคอ้วน รพ.อุตรดิตถ์ โดยผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำ ทั้งด้านการคำนวณโภชนาการ และแนวทางการรักษาเป็นรายบุคคล
นพ.นรนนท์ กล่าวว่าทีมแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดผู้ป่วยโรคอ้วนทุลพลภาพ กลุ่มผู้ป่วยมีตั้งแต่ 90 กิโลกรัมจนถึงมากกว่า 200 กิโลกรัม โดยผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากที่สุดอยู่ที่ 220 กิโลกรัม โดยเป็นผู้ป่วยชาย อายุ 23 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์โดยกำเนิด น้ำหนักสูงสุดก่อนทำการผ่าตัดอยู่ที่ 220 กิโลกรัม สูง 186 ซม. มีโรคร่วมเป็นภาวะทางเดินหายใจอุดกลั้นขณะหลับ ความดันโลหิตสูง การเคลื่อนไหวลำบาก ส่งผลต่อการทำงานประจำวัน ซึ่งการเตรียมตัวผู้ป่วยและการผ่าตัดจะซับซ้อนกว่าผู้ป่วยโรคอ้วนทั่วไป ทั้งนี้การผ่าตัดประสบความสำเร็จตามแผนไป โดยหลังการผ่าตัด 1 วันผู้ป่วยสามารถลุกเดินช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนปกติ เริ่มปรับการรับประทานอาหารหลังการผ่าตัดตามโปรแกรมอาหารโดยเฉพาะ และสามารถกลับบ้านได้โดยไม่มีผลแทรกซ้อนขณะนอนโรงพยาบาล หลังผ่าตัดไป 8 เดือน ผู้ป่วยรายนี้ลดไปได้มากถึง 60 กิโลกรัม โดยจะรอให้น้ำหนักลดลงไปเรื่อย ๆ ให้มากที่สุดก่อนเพื่อพิจารณาการผ่าตัดรอบที่ 2 ที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อช่วยลดน้ำหนักให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
นพ.นรนนท์ กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ป่วยภาวะโรคอ้วนมากขึ้นถึง 1 ใน 3 ของประชากรไทย โดยร้อยละ 7 ของประชากร เป็นผู้ป่วยโรคอ้วนทุพพลภาพ หรืออ้วนรุนแรง นำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนจากความอ้วนต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เป็นโรคอ้วนนอกจากสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความเครียดเร่งด่วน รวมถึงการบริโภคอาหารที่รีบเร่ง อาหารที่ให้พลังงานสูง เครื่องดื่ม ขนมรสหวานต่าง ๆ ที่วางขายอยู่มากมาย การละเลยการออกกำลังกายหรือออกกำลังกายที่น้อยลงแล้ว ปัจจัยที่ส่งผลต่อความอ้วนยังมีทั้งเรื่องของพันธุกรรม ความเครียด พักผ่อนน้อย รวมถึงโรคประจำตัวบางโรค ดังนั้นการรักษาโรคอ้วนจึงมีความซับซ้อน ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีแนวทางการรักษาแตกต่างกัน