ADS


Breaking News

NRCT Open House 2024 วช. เปิดบ้านประกาศกรอบวิจัยและนวัตกรรมปี 2568 วันที่ห้า ย้ำจุดยืนพัฒนานักวิจัย ยกระดับขีดความสามารถประเทศ

NRCT Open House 2024 วช. เปิดบ้านชี้แจงกรอบวิจัยและนวัตกรรมปี 2568 วันที่ห้า มุ่งเน้นพัฒนานักวิจัย เสริมขีดความสามารถประเทศ

     วันที่ 5 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมเปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม และกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1

     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนงานระดับการยกระดับพัฒนาบุคลากร มุ่งเน้นพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อประเทศ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในปี 2568 วช. ได้พัฒนานักวิจัยทุกระดับ ตั้งแต่นักวิจัยรุ่นเยาว์ โดยการสร้างแรงบันดาลใจ และสนับสนุนให้สนใจในการวิจัยและนวัตกรรม นักวิจัยรุ่นใหม่ ได้สนับสนุนการพัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการวิจัยและนวัตกรรม นักวิจัยรุ่นกลาง ได้สนับสนุนให้เป็นผู้นำในการวิจัยและนวัตกรรม ไปจนถึงนักวิจัยรุ่นอาวุโส ที่มีหน้าที่ถ่ายทอด องค์ความรู้ และประสบการณ์ให้กับนักวิจัยรุ่นหลัง โดยใช้ตัวชี้วัดตามกรอบการวิจัย ที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของนักวิจัยและบุคลากรวิจัย ที่พัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ วช. มุ่งเน้นการสร้าง Impact Pathway ผ่านนักวิจัย เพื่อเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสถานการณ์ปัจจุบัน ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวมตามการจัดอันดับของ IMD ประจำปี 2566 ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ การศึกษา วช. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย เพื่อพัฒนาบุคลากรวิจัย และนักวิทยาศาสตร์

     ทั้งนี้ สถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย พบว่า มีการลงทุนวิจัยและพัฒนา โดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ่งบอกถึงโอกาสในการเติบโต ที่ภาคเอกชนได้นำการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

    ส่วนด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ ได้มีความเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ ววน. คือ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่ง วช. ได้มุ่งเน้นพัฒนากำลังคนให้มีทักษะสูง ตรงความต้องการของประเทศ และผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนการเข้าสู่เส้นทางอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม และส่งเสริมการสร้างคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะ 

    สำหรับกิจกรรมเปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 ในวันนี้จัดขึ้นเป็นวันที่ 5 ซึ่งเป็นด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ โดยกรอบการทำงานในปี 2568 วช.มุ่งเน้นไปที่การสร้าง การยกระดับ และ การเน้น กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ ร่วมกันในยุทธศาสตร์ และตอบโจทย์ในเรื่องการร่วมมือของภาคเอกชน โดยเน้นเรื่องการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่านการฟูมฟักด้วยนักวิจัยอาวุโส ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอน ด้าน ววน. ที่ สอดคล้องกับ ความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงการฝึกอบรมด้านทักษะเฉพาะทางด้าน ววน. ด้วย

     โดย กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการเสวนา เรื่อง “เปิดเส้นทาง สร้างกำลังคนคุณภาพผ่านกลไกการพัฒนานักวิจัยและนวัตกรรม” ดังนี้ 

     -กลุ่มเรื่องที่ 1 กลุ่มเรื่อง “กลไกการพัฒนานักวิจัยและนวัตกรรม : กองทุน ววน.” โดย ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กำกับดูแล กลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ 

     -กลุ่มที่ 2 กลุ่มเรื่อง “กลไกการพัฒนานักวิจัยและนวัตกรรม : นักวิจัยรุ่นใหม่รุ่นกลาง และรุ่นอาวุโส” โดย ศ. ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย วช. 

     -กลุ่มเรื่องที่ 3 กลุ่มเรื่อง “กลไกการพัฒนานักวิจัยและนวัตกรรม : นักวิจัยรุ่นเยาว์” โดย ดร.ไพศาล กิตติศุภกร ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย วช. 

    ซึ่งการเสวนาครั้งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ระบุเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ กลุ่มผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเขียนข้อเสนอ อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเข้าร่วมเสวนาและตอบข้อซักถามถึงหัวข้อเสวนาในวันนี้ 

    นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมแนะนำการใช้งานระบบ “NRIIS” โดย คุณศยามน ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในการติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยได้อย่างทันท่วงที 

     ในช่วงบ่าย มีการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ โดย คุณธรรมภรณ์  ประภาสะวัต ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 3 และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ 

โดย 

     - ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) -ศ. ดร.เมตตา เจริญพาณิช และ ศ. ดร.ธงไทย วิฑูรย์ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

     - รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

     - ดร.สุรนิต เวชโช จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างแนวคิดหรือแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้แก่นักวิจัยในอนาคต

     การจัดกิจกรรมเปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 ยังเหลือเวลาการจัดอีก 4 วัน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละวัน ดังนี้ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม (วันที่ 6 มิถุนายน 2567) ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร (วันที่ 7 มิถุนายน 2567) ด้านสัตว์เศรษฐกิจ (วันที่ 8 มิถุนายน 2567) และด้านการจัดการความรู้การวิจัย และถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (วันที่ 9 มิถุนายน 2567) ซึ่งจัดในรูปแบบ Onsite ณ ห้องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 และออนไลน์ผ่าน (Video conference) ด้วยระบบ zoom meeting และการถ่ายทอดสด (Live streaming) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ