วช. จับมือ DIPROM ติดปีกเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Kick Off “เซรามิกลำปาง” ยกระดับวัสดุขั้นสูง เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
วช. MOU กับ DIPROM เสริมแกร่งเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Kick Off “เซรามิกลำปาง” พัฒนาวัสดุขั้นสูง เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
10 เมษายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผนึกกำลัง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ DIPROM (ดีพร้อม) ลงนามความร่วมมือส่งเสริมการใช้งานวิจัยเพื่อสนับสนุนและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยนำร่องอุตสาหกรรมเซรามิก จังหวัดลำปาง ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิกดั้งเดิมเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิกขั้นสูง ในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ลงนามความร่วมมือกับ นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมี นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 เป็นสักขีพยานในการลงนาม พร้อมนี้ นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้เกียรติเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER) จังหวัดลำปาง
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศอย่างก้าวกระโดด อันจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางและลดความเหลื่อมล้ำได้ อย่างไรก็ตาม การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมให้สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องอาศัยงานวิจัยที่มีคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนมาบูรณาการความร่วมกันในการ ริเริ่ม - ส่งเสริม – วิจัยและพัฒนา เพื่อก่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมและเป็นรากฐานในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ดังนั้น การถ่ายทอดผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมในการพัฒนาชิ้นส่วนเซรามิกขั้นสูง จะทำให้อุตสาหกรรมเซรามิกสร้างรายได้และเกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 125.9 ล้านบาท
นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. เร่งขยายผลการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม “การวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง แต่นำไปสู่การขึ้นห้าง” โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีโดยนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญให้กับผู้ประกอบการเซรามิก ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโครงการกิจกรรมบริหารโครงการและผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ประเด็นการวิจัยและพัฒนาวัสดุขั้นสูงเพื่อ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมไปสู่ผลิตภัณฑ์ขั้นสูง ตลอดจนการสนับสนุนจากดีพร้อมในด้านโครงสร้าง หรือระบบพื้นฐาน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ สนับสนุนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมการตลาด รวมทั้งการสนับสนุนการออกมาตรการของภาครัฐ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสสำหรับนักวิจัย ในการยกระดับงานวิจัยที่สามารถสร้างขับเคลื่อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน วช. มีงานวิจัยที่พร้อมส่งเสริมในเชิงพาณิชย์ จำนวน 260 โครงการ และสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต นายสมปรารถนา สุขทวี กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมผ่านการนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยได้นำร่องความร่วมมือการปฏิรูปอุตสาหกรรมเซรามิกในจังหวัดลำปาง ซึ่งมีผู้ประกอบการจำนวนกว่า 200 กิจการ ด้วยการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเซรามิกไทยนำไปใช้ประโยชน์ผ่านการสนับสนุนการนำแนวคิดด้านนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการด้านเซรามิก การพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและมีศักยภาพสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจน การสร้างแนวความคิดเพื่อให้เกิดการต่อยอดผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดการใช้งานได้จริงสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมและเชื่อมโยงช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ให้ผู้ประกอบการและมองหาทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตร่วมกัน