TCMA นำจุดแข็งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ หนุน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ปั้นสระบุรีสู่ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ ด้านการจัดการของเสีย
TCMA นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ร่วมขับเคลื่อน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ พลิกโฉมสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ด้านการจัดการของเสีย
จังหวัดสระบุรี รวมพลัง 18 หน่วยงาน ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ด้านการจัดการของเสีย “PPP-Saraburi Sandbox : Waste to Value” นำร่อง 10 ต้นแบบธนาคารขยะ จุดพลุทุกฝ่ายคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี สร้างคุณค่าจากวัสดุเหลือใช้ คว้าโอกาส 3 ต่อ ชุมชนมีรายได้ ลดปริมาณขยะ ลดวิกฤตโลกร้อน ดัน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ บรรลุผลด้านการจัดการของเสีย
นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างภาครัฐ องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย จำนวน 18 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 7 (สระบุรี) สำนักงานเกษตรจังหวัด สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ด้านการจัดการของเสีย “PPP-Saraburi Sandbox : Waste to Value” นับเป็นก้าวที่สำคัญของการดำเนินโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” และเป็น 1 ใน 5 ด้านหลักในการพลิกโฉมจังหวัดสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำ
ธนาคารขยะจะทำหน้าที่สนับสนุนให้ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้จัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ภายใต้หลักการ 3R คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Re-use) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมทั้งรณรงค์สร้างความรู้และความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมกันลดปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่ และคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่นำไปขายสร้างรายได้เข้าชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นการลดภาระงบประมาณการจัดเก็บและขนย้ายขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“จังหวัดสระบุรีมั่นใจว่า ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ไม่มีอะไรที่ไม่สําเร็จ โดยกลไกสําคัญหลักมาจากภาคเอกชน ส่วนภาครัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้ทุกอย่างสามารถดําเนินการต่อไปได้ โดย PPP-Saraburi Sandbox ในวันนี้ นับว่าประสบความสำเร็จด้านสร้างการรับรู้ จากความสนใจที่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาติดต่อขอเข้ามาดูงานอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้โมเดลนี้ขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป” นายบัญชา กล่าว
ความร่วมมือ “PPP-Saraburi Sandbox : Waste to Value” เป็นแนวทางที่ TCMA ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนงานการสร้างระบบนิเวศน์สำหรับการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ที่เน้นการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
“การจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ด้วยการนำมาเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน เป็นการจัดการขยะที่ผ่านการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง นำมาเพิ่มมูลค่าใหม่ในรูปของผลิตภัณฑ์ หรือของใช้ ยกตัวอย่าง เช่น ฟางข้าว แกลบขี้เลื่อย ตอซังข้าวโพด สามารถนํามาใช้เป็นพลังงานได้หมด เรียกว่า Waste to Wealth หากมองในแง่บวก ของรอบๆ ตัวก็มีคุณค่าและสามารถแปรเป็นมูลค่าได้ เรียกว่า Turning Waste to Value ทั้งช่วยลดปัญหาขยะ และยังเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศ” ดร.ชนะ กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อการร่วมเปลี่ยน “สระบุรี” ให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ TCMA ก็ได้ทำงานในอีกหลายโครงการควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสะอาดเพื่อทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าแบบเดิมจากเชื้อเพลิงฟอสซิล “โครงการปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นพืชพลังงาน” เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดให้อุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นการสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น “โครงการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นพลังงานทางเลือก (Alternative Fuels: AF) และเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF)” และ “โครงการศึกษาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน” โดยนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ (Carbon Capture Utilization: CCU) หรือกักเก็บอย่างถาวรใต้พื้นดิน (Carbon Capture Storage: CCS) เป็นต้น